16 ม.ค. เวลา 06:11 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเพชรเวช

นิ่วในไต หากรู้ก่อนสามารถรักษาได้

นิ่วในไต (Kidney Stones) เป็นหนึ่งในนิ่วที่เกิดจากแร่ธาตุ หรือวัตถุที่เกิดการตกตะกอนของสาร แล้วมีการรวมกันเป็นก้อน มักเกิดขึ้นที่บริเวณไต สามารถพบได้ที่ทางเดินปัสสาวะ ถ้าหากปล่อยไว้อาจเกิดเป็นก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่ไปปิดกั้น และก่อให้เกิดบาดแผลภายในท่อไต จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดทรมานจากการปัสสาวะได้
นิ่วในไต เกิดจากสาเหตุใด?
เกิดจากการตกตะกอน และตกผลึกของหินปูนหรือเกลือแร่ในปัสสาวะ โดยมีปริมาณของก้อนแร่ธาตุ หรือสารมากเกินกว่าที่ของเหลวภายในปัสสาวะจะทำการละลายได้ จนเกิดการเกาะตัวกันและกลายเป็นนิ่ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการกินอาหารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมหรือโปรตีนสูง, การรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินบางชนิด รวมไปถึงการดื่มน้ำน้อยในแต่ละวัน และการติดเชื้อภายในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไต
- เพศชายจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตมากกว่าเพศหญิง
- ชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
 
- รับประทานอาหารเสริมและวิตามินบางชนิด, อาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง
 
- การดื่มน้ำน้อยในแต่ละวัน
 
- ความผิดปกติของโครงสร้างภายในไต
อาการของนิ่วในไต
- ปวดเป็นช่วง ๆ บริเวณข้างลำตัวหรือบริเวณหลัง
 
- ขณะปัสสาวะจะมีสีขุ่นหรือเลือดปนออกมา อาจมีสีน้ำตาลหรือชมพู
 
- คลื่นไส้, อาเจียน
 
- มีไข้, หนาวสั่น
 
- มีอาการปัสสาวะบ่อย และเจ็บปวดขณะปัสสาวะ
 
- ปัสสาวะแสบขัด และรู้สึกว่าน้อยกว่าปกติ
ชนิดของนิ่วในไต
นิ่วแคลเซียม (Calcium Stones)
นิ่วชนิดนี้จะพบได้บ่อยที่สุดของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดจากแคลเซียมที่รวมกับออกซาเลต และฟอสเฟต แล้วตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว
นิ่วสตรูไวท์ (Struvite Stones)
เกิดจากการรวมตัวของฟอสเฟต, แมกนีเซียม และแอมโมเนียม สามารถพบได้จากการเอกซเรย์ หากขนาดใหญ่จะมีลักษณะคล้ายเขากวาง ซึ่งมักพบได้กับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อภายในระบบทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
นิ่วกรดยูริก (Uric Acid Stones)
พบได้ในผู้ป่วยที่รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์, สัตว์ปีก เป็นต้น แต่มีอีกสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดนิ่วชนิดนี้ขึ้นได้ เช่น การดื่มน้ำหรือรับประทานผลไม้น้อย ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อาจส่งผลให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดสูง นิ่วชนิดนี้จะไม่สามารถพบได้จากการเอกซเรย์ภาพแบบธรรมดา
นิ่วซิสทีน (Cystine Stones)
เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมในการดูดซึมสารซิสทีน ทำให้มีสารนี้ภายในปัสสาวะเยอะ และก่อให้เกิดนิ่วขึ้น
นิ่วที่เกิดจากยา (Drug-induced stones)
เกิดจากการรับประทานยาที่ก่อให้เกิดนิ่ว เช่น ไกวเฟนิซิน, ไตรแอมเทอรีน, กลุ่มยาซัลฟา และอะทาซานาวีร์ เป็นต้น
กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไต
- ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นนิ่วซิสทีนมาก่อน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคไต, ภาวะอ้วน หรือภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น
 
- ผู้ที่มีภาวะยูริกภายในปัสสาวะสูง
 
- ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในทางเดินปัสสาวะ
 
- ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมแคลเซียม
 
- ผู้ที่รับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์, วิตามินซี หรือยาลดความดัน เป็นต้น
การวินิจฉัยนิ่วในไต
- การตรวจเลือด สามารถบ่งบอกได้ถึงสุขภาพไตของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้ อาจรวมไปถึงการตรวจวัดระดับของสารที่อาจก่อให้เกิดนิ่วขึ้น
 
- การส่งตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ภายในปัสสาวะหรือไม่
 
- อัลตราซาวด์ เป็นวิธีการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง แต่นิ่วในไตบางชนิดอาจใช้วิธีนี้ตรวจหาไม่พบ แพทย์อาจพิจารณาการใช้วิธีวินิจฉัยอื่นร่วมด้วย
- การเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
 
- การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี เป็นการฉีดสีผ่านทางเส้นเลือดดำ และจะถูกขับออกทางไตผ่านการปัสสาวะ วิธีนี้จะมีข้อจำกัด คือตรวจได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตหรือผู้สูงอายุ
นิ่วในไตมีวิธีการรักษาอย่างไร?
- การรักษาด้วยยา เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นนิ่วขนาดเล็ก
 
- การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกจากภายนอก คือ การใช้คลื่นกระแทกจากภายนอกเพื่อสลายนิ่วให้มีขนาดเล็กลง และหลุดออกมาได้เอง แต่วิธีการรักษาชนิดนี้จะมีอัตราความสำเร็จในการสลายนิ่วที่ต่ำ
 
- การส่องกล้องเพื่อสลายนิ่วผ่านแผลที่ทำการเจาะผิวหนัง เป็นการส่องกล้องเข้าไปภายในไตผ่านทางแผลขนาดเล็กที่ผิวหนัง เพื่อนำอุปกรณ์ที่สลายนิ่วเข้าไปภายในไตได้โดยตรง
- การส่องกล้องขนาดเล็กผ่านท่อไต เป็นการใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าผ่านท่อไต เพื่อสลายนิ่วด้วยเลเซอร์โดยตรง เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเพราะมีอัตราความสำเร็จที่สูง และไม่มีแผลนอกร่างกายกับใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน
 
- การผ่าตัด เป็นการเปิดไตและนำนิ่วออกมา เหมาะกับนิ่วขนาดใหญ่ ซึ่งวิธีการรักษานี้จะใช้เวลาในการพักฟื้นนาน และมีแผลผ่าตัดที่ใหญ่
การป้องกันนิ่วในไต
- รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดให้ครบถ้วน
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน โดยควรดื่มอย่างน้อยวันละ 2.5 ลิตร หรือตามที่แพทย์แนะนำ
 
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตและกรดยูริกสูง เช่น ช็อกโกแลต, น้ำชา, หน่อไม้, เครื่องในสัตว์, ปลาซาร์ดีน, กะปิ เป็นต้น
 
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน
 
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
 
- สังเกตอาการผิดปกติหรือสีของปัสสาวะเสมอ หากมีสีขุ่น, สีแดง หรือนิ่วปนออกมา ควรรีบเข้ามาพบแพทย์โดยด่วน
 
- การรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ
นิ่วในไต เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มีความน่ากลัวอย่างมาก เพราะหากเป็นนิ่วในไตแล้ว ผู้ป่วยอาจได้รับประสบการณ์การปัสสาวะที่ทรมานได้ ควรป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากท่านใดมีอาการเข้าข่ายเสี่ยงเป็นนิ่วในไต ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยด่วน หากเกิดอะไรขึ้นจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะจะทำให้มีโอกาสหายจากโรคสูง
โฆษณา