16 ม.ค. เวลา 07:41 • ธุรกิจ

EP 19: Autonomation เครื่องจักรอัตโนมัติที่หยุดเองได้

ในการผลิตแบบลีน มีคำศัพท์คำหนึ่งที่ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมโดยตรง แต่ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อการผลิตแบบลีนโดยเฉพาะนั่นคือ Autonomation
ออโตโนเมชัน (Autonomation) เป็นคำที่มาจากการรวมคำว่า "ออโตโนมัติ" (Autonomous) กับ "แมน" (man) ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า "เครื่องจักรอัตโนมัติที่ใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย" ออโตโนเมชันคือเครื่องจักรที่หยุดเองได้เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบหรือแทรกแซงจากมนุษย์ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากออโตเมชันทั่วไปที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบหรือควบคุมจากมนุษย์อยู่บ้าง
หากเทียบกับยุคปัจจุบัน “เครื่องจักรอัตโนมัติที่ใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย” เราอาจจะคิดถึง AI (Artificial Intelligence) ซึ่ง Autonomation ยังไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ว่าจะมีการตรวจสอบตัวเครื่องจักรเอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกมา หากเกิดความผิดพลาดขึ้นเครื่องจักรจะมีสัญญาณเตือน และหยุดการทำงาน เพื่อให้ผู้ควบคุมเครื่องจักรเข้ามาตรวจสอบ การตรวจสอบความผิดพลาดเราเรียกว่า “โปกะโยเกะ” หรือ Mistake Proof ซึ่งอาจจะเป็น ช่องลอด หรืออินฟราเรตเซ็นเซอร์ หรือการถ่ายภาพเทียบกับ Master Piece
ข้อดีของการมี Autonomation ก็คือ ผู้ควบคุมเครื่องหนึ่งคนจะสามารถดูแลเครื่องจักรที่ทำงานอยู่ได้พร้อมกัน หลายเครื่อง ไม่จำเป็นต้องยืนเฝ้าดูเครื่องจักรทำงานตลอดเวลาเพื่อที่จะหยุดเครื่องเมื่อเกิดความผิดพลาด ซึ่งเมื่อเครื่องจักรต้องการความช่วยเหลือก็จะส่งสัญญาณบอกเอง เช่น วัตถุดิบกำลังจะหมด มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในบริเวณพื้นที่อันตรายของเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาติดขัดอยู่ภายในไหลออกมาภายนอกไม่ได้ เครื่องจักรร้อนเกินไป เป็นต้น
ในทางปฏิบัติหากเราต้องการเครื่องจักรที่มีความเป็นอัตโนมัติอย่างมาก ผู้ผลิตเครื่องจักรอาจจะนำเสนอออพชั่น (Option) พิเศษ เพื่อให้เครื่องจักรทำงานอัตโนมัติได้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนราคาของเครื่องจักรก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย และหากมีการเปลี่ยนแบบของผลิตภัณฑ์ก็ต้องมีการซื้อออพชั่นใหม่เข้ามาเติมอีก โรงงานหลายแห่งจึงนิยมที่จะทำ “โปกะโยเกะ” ขึ้นเองเพื่อให้เหมาะกับแบบของผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่ และเมื่อเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ก็เพียงแก้ไขโปกะโยะเกะเท่านั้น ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำงาน
โฆษณา