17 ม.ค. เวลา 04:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ

⚠️ Breaking: จีนปั่นตัวเลขสำเร็จ GDP โต 5% เป๊ะ แต่ไส้ในยังอ่อนแอ 🤔

🇨🇳 ภาพรวม GDP จีนโตตามเป้าหมายรัฐบาล (5%)
ในปี 2024 เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวได้ 5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตรงตามเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้ และยังสูงกว่าที่หลายสำนักวิจัยคาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 4.9% ความสำเร็จนี้เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2024 รวมถึงการที่ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งสั่งซื้อสินค้าจากจีนก่อนการกลับมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงถึง 60%
📌 อัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 4 ขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (เร็วที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส)
ขณะที่ GDP แบบ Nominal (ไม่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) ขยายตัว 4.2% ในปี 2024 สะท้อนผลกระทบจากภาวะเงินฝืด (Deflation) ที่ทำให้ราคาสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง
⚠️ ความท้าทายหลักในปี 2025
1️⃣ มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบการส่งออก
2️⃣ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแรง
3️⃣ อัตราว่างงานที่เริ่มขยับขึ้น
โดยรวม รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และเสริมมาตรการทางการคลังควบคู่ไปกับมาตรการทางการเงิน เพื่อประคองการเติบโตที่ยังเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ
🏚️ สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์: ราคาดีขึ้นแต่ก่อสร้างยังไม่ฟื้น
แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนจะอยู่ในภาวะซบเซามานาน แต่ราคาบ้านใหม่ใน 70 เมือง (ไม่รวมบ้านอุดหนุนโดยรัฐ) เดือนธันวาคม 2024 ลดลงเพียง 0.08% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงที่น้อยลงติดต่อกันถึง 4 เดือน สะท้อนว่าความเชื่อมั่นผู้ซื้อเริ่มกลับมาเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล
ขณะที่ราคาบ้านมือสองเดือนธันวาคม ลดลง 0.31% (ขณะที่เดือนพฤศจิกายนลดลง 0.35%)
‼️ ด้าน การลงทุนก่อสร้าง ยังเป็นจุดที่อ่อนแรงต่อเนื่อว
โครงการก่อสร้างใหม่ (New Housing Starts) ลดลง 23% ตลอดปี 2024
โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ (Completions) ลดลงเกือบ 28%
ยอดขายบ้านทั้งปี 2024 ลดลง 17% แม้ช่วงท้ายปีจะมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย
สรุปคือ มาตรการกระตุ้นได้ช่วย “พยุง” ราคาบ้านไม่ให้ตกหนัก แต่การก่อสร้างและการลงทุนของผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ นักลงทุนจึงควรจับตานโยบายของรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด เพราะการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีผลต่อทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนค่ะ
🚢 ภาคการผลิตและการบริโภค: ส่งออกเร่งตัว – ค้าปลีกฟื้นเล็กน้อย
การผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนธันวาคม 2024 ขยายตัวที่ 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.4% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทส่งออกพยายามเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศก่อนที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้า (เดี๋ยวเล่าให้ฟังอีกทีตอนความเห็นส่วนตัว)
ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนธันวาคม 2024 เติบโต 3.7% เกินคาดเล็กน้อย (3.6%) สะท้อนว่าการกระตุ้นของรัฐบาลช่วยดึงกำลังซื้อภายในประเทศได้บางส่วน
อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานในเขตเมือง เดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% จาก 5% ในเดือนพฤศจิกายน แสดงว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังไม่มั่นคงนัก และสะท้อนปัญหาบางส่วนในภาคบริการและธุรกิจขนาดเล็กค่ะ
📊 ดุลการค้าทำสถิติสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
ปี 2024 จีนมีดุลการค้าเกินดุล (Trade Surplus) สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.2% ของจีดีพี ซึ่งสูงสุดในรอบหลายปี โดยปัจจัยหลักมาจาก
1. การส่งออก ที่เร่งตัวขึ้นในช่วงท้ายปี เพราะประเทศผู้นำเข้าต้องการกักตุนสินค้าจีนก่อนภาษีของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น
2. การนำเข้าซบเซา จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หลายชนิดยังอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้มูลค่านำเข้าลดลง
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายภาษีนำเข้าที่เข้มงวดขึ้นจริงในปี 2025 การส่งออกจีนอาจชะลอตัวลงได้ จึงเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนควรระวัง เพราะตลาดหุ้นยังไม่ได้รับข่าวในส่วนนี้
🇨🇳 ภาวะเงินฝืด (Deflation) และผลกระทบต่อกำไรบริษัท
เศรษฐกิจจีนเผชิญ ภาวะเงินฝืด มาตั้งแต่กลางปี 2022 โดยราคาสินค้าภายในประเทศและราคาโรงงาน (PPI) ปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรของผู้ผลิตถูกบีบให้ต่ำลง เพราะสินค้าขายได้ในราคาไม่สูงขึ้น หรือบางครั้งต้องขายในราคาลดลงเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ภาครัฐยังเก็บรายได้จากภาษีได้น้อยลง จึงส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐบางส่วน
นอกจากนี้ การที่ Nominal GDP เติบโตเพียง 4.2% ในปี 2024 (ต่ำกว่าอัตรา GDP ที่ปรับเงินเฟ้อแล้วที่ 5%) เป็นสัญญาณว่าภาวะเงินฝืดกำลังกดดันระบบเศรษฐกิจโดยรวม
📌 มาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลและทิศทางนโยบาย
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ รัฐบาลจีนวางแนวทางใช้นโยบายการคลังเชิงรุก เช่น เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการทางภาษีสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงอาจลดข้อจำกัดการกู้ยืมในภาคอสังหาริมทรัพย์บางส่วน
อย่างไรก็ตาม คาดว่านโยบายการเงิน (Monetary Policy) ยังมีข้อจำกัดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราส่วนเงินสำรอง (RRR) มากเกินไป เพราะอาจกระทบอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนและเสี่ยงต่อเงินทุนไหลออก
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ในปี 2025 จีนต้องใช้นโยบายกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนภายในที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการบริโภคและการลงทุนในประเทศ
👶🏻 ประชากรลดลงต่อเนื่องแม้จำนวนทารกเกิดใหม่เพิ่มเล็กน้อย
ในปี 2024 จีนยังเผชิญกับอัตราประชากรลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยจำนวนประชากรลดลงกว่า 1.39 ล้านคน เหลือประมาณ 1.408 พันล้านคน แม้ว่าจำนวนทารกเกิดใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.54 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 520,000 คนจากปีก่อน) โดยสาเหตุหลักมาจากโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ สังคมสูงวัย และความเปลี่ยนแปลงในค่านิยมเรื่องการมีบุตร
หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลต่อ กำลังแรงงาน และ ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของจีนในระยะยาว
ส่วนสาเหตุที่ทารกเพิ่มขึ้นในปี 2024 หลักๆมาจาก เป็นปีมังกรทอง มากกว่านโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ
🎯 สรุป
1. จีดีพีจีนปี 2024 ขยายตัวได้ตามเป้า แต่ยังคงมีความเสี่ยงทั้งจาก ปัจจัยภายนอก (เช่น สงครามการค้ากับสหรัฐฯ) และ ปัจจัยภายใน (เช่น ปัญหาอสังหาริมทรัพย์และภาวะเงินฝืด)
2. ภาคอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีสัญญาณทรงตัวในแง่ราคา แต่การก่อสร้างยังหดตัวมาก นักลงทุนที่สนใจธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอสังหาฯ ควรประเมินความเสี่ยงและติดตามนโยบายรัฐอย่างใกล้ชิด
3. ส่งออก จีนยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญ แต่ต้องจับตาการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะมีผลในปี 2025 (แถมตัวเลขที่ดีมากในไตรมาส 4 เป็นผลมาจากสหรัฐฯเร่งนำเข้าเพื่อหลบภาษีทรัมป์อีกต่างหาก)
4. การบริโภคภายในประเทศ เริ่มกระเตื้อง แต่ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราว่างงานขยับขึ้นเล็กน้อย
5. ภาวะเงินฝืด ส่งผลลบต่อกำไรของบริษัทและการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อเนื่อง
6. ประชากรลดลง เป็นประเด็นระยะยาวที่อาจกัดกร่อนการเติบโต หากไม่มีมาตรการส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีลูกมากขึ้น หรือกระตุ้นแรงงานคุณภาพสูงจากต่างประเทศ
👉🏻 ความเห็นส่วนตัวของนิคกี้
จริงๆแล้วตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาไม่ได้ดีอะไรมากมายค่ะ และเป็นการปั่นตัวเลข + โชคช่วยมากกว่า เพราะถ้าเราแยกออกมาเป็นส่วนๆแล้ว เราจะพบว่า สาเหตุหลักที่ GDP ไตรมาส 4/24 โตสูงกว่าคาดเยอะ มาจากเร่งการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลักค่ะ ประจวบเหมาะกับบริษัทในสหรัฐฯเองก็เร่งนำเข้าสินค้าเพื่อหลบภาษีทรัมป์ และหยวนที่อ่อนค่าไม่หยุด ทำให้ตัวเลขในส่วนนี้มันถึงดีผิดปกติ (หรือเรียกได้ว่ารัฐบาลปั่นตัวเลขได้สำเร็จแบบเป๊ะๆ)
แต่ตัวเลขการผลิตไม่ได้มีคุณภาพนะคะ เพราะ industrial profit ก็หดตัวหนักขึ้นๆ หรือพูดง่ายๆคือ ผลิตแล้วขายทุกราคา ไม่สนใจว่าจะกำไรหรือขาดทุนค่ะ
แต่หากเราไปดูหมวดอื่นๆ ก็ทรงๆ กับชะลอตัวลงค่ะ ไม่ว่าจะการบริโภค อสังหาฯ หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ในปีนี้ ส่งออก ของจีนคงไม่ได้แบกแบบนี้แล้ว เพราะทรัมป์เอาแน่ๆ ส่วนเครื่องยนต์ในประเทศก็อย่างที่เห็นว่ายังพึ่งพาไม่ได้ซักเท่าไหร่ ทำให้ปีนี้จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับตลาดหุ้นจีนต่อไปค่ะ
ปล. ที่ถึง 5% ได้คือ ฟลุ๊ค มากกว่าค่ะ 😆
โฆษณา