17 ม.ค. เวลา 05:59 • ปรัชญา

⏳การพึ่งพาตนเอง⏳

วันนี้อยากเขียนถึงเรื่อง"การพึ่งพาตนเอง"
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม แน่นอนว่าการพึ่งพาอาศัยกันนั้นเป็นเรื่องปกติของการอยู่กันเป็นสังคม
แต่
จะดีกว่าไหม หากเราสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และลดการพึ่งพาคนอื่นลง
เหตุผลของการพึ่งพาของแต่ละคนคงจะแตกต่างกัน แน่นอนว่าเด็กแรกเกิดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยังสื่อสารไม่ได้ ก็คงต้องอาศัยพึ่งพิงการช่วยเหลือจากพ่อแม่ จากคนรอบข้าง แต่มนุษย์เรามีความสามารถอย่างหนึ่งคือเรามีพัฒนาการ ที่จะเพิ่มความสามารถของการที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง
เด็กวัย2-3 ขวบ เป็นวัยที่ตัวตนของเค้าจะเป็นใหญ่ เค้าจะเห็นถึงศักยภาพของตัวเองในการที่จะพูด การที่จะเดินไปหยิบจับอะไรก็ได้ตามใจตัวเอง เริ่มที่จะเลือกตามความต้องการของตนเองได้ เลือกจะใส่เสื้อผ้าแบบไหน เลือกที่จะกินอะไร เลือกที่จะเล่นอะไร
หากพ่อแม่ส่งเสริมพัฒนาการในช่วงนี้ให้เค้าเกิดความมั่นใจในตัวเองในการที่จะเลือก เห็นสิทธิ์ของตนเอง พ่อแม่ก็มีหน้าที่ในการช่วยระมัดระวังความปลอดภัย แต่ในทางกลับกันหากพ่อแม่ห้ามไปเสียทุกอย่าง อันนี้ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ห้ามทำ เด็กก็จะเกิดความวิตกกังวลไม่กล้าทำอะไร หรือแม้แต่การกินข้าวเอง หากพ่อแม่คนเลี้ยงกลัวเด็กจะทำเลอะ ป้อนให้ตลอด และป้อนยาวเลย ...ทีนี้อยากให้กินเอง เด็กก็จะไม่อยากทำเองแล้ว เพราะอะไร ....ก็เพราะสบายไงค่ะ มีคนทำให้ดีออก...
พอเข้าสู่วัยรุ่น เด็กเริ่มที่จะหาเอกลักษณ์ของตนเอง อาจจะมีไปเลียนแบบคนโน้นคนนี้ ดาราบ้าง นักร้อง นักกีฬาบ้าง สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อจะหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเค้าเอง เด็กวัยนี้อาจจะพึ่งพาพ่อแม้น้อยลงไปมาก ด้วยความที่เค้าจะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันเค้าก็ยังมีความเป็นเด็ก
ในวัยนี้พ่อแม่อาจจะมีความงงสับสนในชีวิตพอควรว่า จะเอายังไงกับเด็กเหล่านี้ดี เอาใจไม่ถูก หน้าที่ของพ่อแม่ในช่วงวัยนี้ ก็เพียงแค่คอยซัปพอร์ต หากเค้าต้องการความช่วยเหลืออะไรเราก็จะมีหน้าที่คอยประคับประคองช่วยเหลือ แต่หากเค้าไม่ได้ขอ ก็ลองให้โอกาสลูกของเราได้ลองเติบโต ลองช่วยตัวเอง ลองจัดการปัญหาเอง เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ต่อไป
แน่นอนว่าพอเป็นวัยผู้ใหญ่แล้ว การพึ่งพาคนอื่นจะลดลงไปมาก แต่อาจจะเป็นลักษณะการพึ่งพาของคู่ชีวิต ของเพื่อนฝูง ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
แต่บางคนไม่สามารถลดการพึ่งพาคนอื่นลงได้ เนื่องจากติดอยู่กับความสบาย หรือบางคน อาจจะติดกับความกลัว ไม่กล้าที่จะตัดสินใจเอง ไม่กล้าที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง เพียงเพราะกลัวความผิดพลาด กลัวความไม่สมบูรณ์แบบ กลัวคนอื่นจะตำหนิ
มาถึงจุดนี้ อยากให้ลองเผชิญกับความกลัวดูค่ะ ความกลัวไม่ใช่สิ่งผิด คำที่เราใช้บ่อยๆ ก็คงเป็นว่า "กลัวได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก และความผิดพลาดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก" เช่นกัน เมื่อไหร่ที่เกิดความผิดพลาด นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง หากเราสามารถยอมรับตัวตนของเราได้จริงๆ ให้อภัยกับสิ่งไม่สมบูรณ์แบบนั้น และค่อยๆ ก้าวออกจาก safe zone ไม่แน่คุณอาจจะเจอ safe zone ใหม่ ที่สบายตัว สบายใจกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้นะคะ
และที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นความรู้สึกมั่นใจในตัวเอง หรือความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เห็นในข้อดี และศักยภาพของตนเอง การเข้าใจและยอมรับตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของการคลายกังวล เมื่อยอมรับตัวเองได้ ก็จะสามารถจัดการกับความกลัวได้อย่างตรงไปตรงมา และเติบโตได้แบบที่มันควรจะเป็น ไม่บิดเบี้ยว เพราะมัวแต่หนีตัวตนของตัวเอง
#เป็นได้ไม่ใช่เรื่องแปลก
#ตัวหนังสือของวันศุกร์
โฆษณา