Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wealthy Thai
•
ติดตาม
17 ม.ค. เวลา 10:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“หุ้นไทย” ไร้เสน่ห์ หรือ “ผู้จัดการกองทุน” มือตก
7 ปี “LTF” ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย -2.18% ต่อปี มีกองทุน 88% แพ้ “ตลาดหุ้นไทย” ชนะแค่ 12% !!!
สาระ Fund วันละนิด: วันนี้ยังคงอยู่กับแนวคิดของ อดีตนายก “ทักษิณ ชิณวัตร” ในการฟื้น “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” (LTF) กลับมา เพื่อเน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทย
เนื่องจาก “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน” (ThaiESG) นั้น ไม่ตอบโจทย์ ออกมาแล้ว แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่ไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ ไม่ได้เข้าตราสารทุนเหมือนที่ควรจะเป็นนั่นเอง
แต่ลงทุนระยะยาวใน “หุ้นไทย” คุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือ? ยังจะ “คุ้มกับภาษีที่เซฟได้หรือไม่?”
ทั้งนี้ หากดูผลตอบแทนของกองทุน “LTF” เอง ต้องบอกว่า “แดงเดือด” จนนักลงทุนส่วนใหญ่ขาดทุนกันทั่วถึง ย้อนหลัง 7 ปี -2.18% ต่อปี, ย้อนหลัง 5 ปี -1.06% ต่อปี, ย้อนหลัง 3 ปี -4.37% ต่อปี และย้อนหลัง 1 ปี -2.18% (ที่มา: Morningstar, ณ วันที่ 31 ธ.ค. 24)
ที่น่าตกใจ “กองทุนส่วนใหญ่” เฉลี่ย 82.5% มีทำผลตอบแทน “แพ้ดัชนีหุ้นไทย” ย้อนหลัง 7 ปี มีกองทุนที่ชนะ “หุ้นไทย” เพียง 12% เท่านั้น !!!
จึงไม่น่าแปลกใจว่า...เสียงของนักลงทุนบางส่วนจึงออกแนว “ไม่เอาแล้ว-เข็ดแล้ว” แทนที่จะออกอาการดีใจซะงั้น
หลังสิ้นสุดกองทุน “LTF” ในปี2019 ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวใดที่น่าสนใจ วันนี้ ทีมงาน ‘Wealthy Thai’ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากทาง “Morningstar” มาฝากกัน
“LTF” ลุย “หุ้นไทย” ผลตอบแทนสุดแป๊ก “ติดลบ” ไม่คุ้มภาษีที่เซฟได้...ย้อนหลัง 5 ปี “เงินไหลออกสุทธิ” ต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 2.4 หมื่นล้านบาท
จากข้อมูลของ “บจ.มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)” ระบุในรายงานว่า ปี2025 เป็นปีที่หน่วยลงทุนล็อตสุดท้ายของกองทุน “LTF” ที่ลงทุนในปี2019 จะครบกำหนดถือครองตามเงื่อนไขการลงทุน 7 ปีปฏิทิน ดังนั้น นักลงทุนที่ยังมีหน่วยลงทุนในกองทุน “LTF” อยู่ ไม่ว่าจะเริ่มลงทุนในปีใดก็ตาม จะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่มีอยู่ได้ในปีนี้โดย “ไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน” ทำให้ตลาดบางส่วนอาจมีความกังวลว่าการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยได้
แต่ปัจจัยหนึ่งที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเงินกองทุน “LTF” ที่ครบกำหนดอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากอย่างที่นักลงทุนบางส่วนกังวลนั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนโดยเฉลี่ยยังคง “ติดลบ” อยู่ในทุกช่วงเวลา ย้อนหลัง 7 ปี -2.18% ต่อปี, ย้อนหลัง 5 ปี -1.06% ต่อปี, ย้อนหลัง 3 ปี -4.37% ต่อปี และย้อนหลัง 1 ปี -2.18% (ที่มา: Morningstar, ณ วันที่ 31 ธ.ค. 24)
“ช่วงหลังมานี้ ‘หุ้นไทย’ ดูไร้เสน่ห์ไปค่อนข้างมาก ผลตอบแทนก็ไม่ไปไหน นักลงทุนเองก็อยากลงทุน สะท้อนผ่านเม็ดเงินลงทุนในกองทุน ‘LTF’ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไหลออกสุทธิต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 25,381.80 ล้านบาท และหากนับในช่วง 5 วันทำการแรกของปี25 ยังมีเงินไหลออกสุทธิราว -6.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินลงทุนในกองทุน ‘LTF’ ยังจะถูกทยอยไถ่ถอนอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถิติแล้วก็อยู่ในระดับที่ไม่น่าจะกระทบกับตลาด หากเทียบกับมูลค่าซื้อขายตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน”
“LTF” ส่วนใหญ่กว่า 82.5% ผลงาน “แพ้ตลาดหุ้นไทย”...มีเพียง 17.5% เท่านั้น ที่ “ชนะตลาด” ได้
นอกจากนี้ทาง “Morningstar” ได้มีการจัดกลุ่มกองทุน “LTF” ออกเป็นประเภทย่อยๆ ตามสินทรัพย์ที่เน้นลงทุน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 1) “กองหุ้นใหญ่” (Equity Large-Cap), 2) “กองหุ้นขนาดกลาง-เล็ก” (Equity Small/Mid-Cap) และ 3) “Miscellaneous” โดยภาพผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าในแต่ละปีผลตอบแทนของกองทุนแต่ละประเภทก็จะปรับตัวแตกต่างกัน
โดยกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางขนาดเล็ก ค่อนข้างได้รับปัจจัยกดดันมากกว่ากองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่เกือบทุกประเภทกองทุนยังคงมีผลตอบแทน “ติดลบ” ทั้งใน “ระยะสั้น” และ “ระยะยาว”
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบผลตอบแทนรายกองทุนกับดัชนีหุ้นไทย “SET TR Index” จะพบว่าสัดส่วนกองทุนที่มีผลตอบแทนเหนือกว่าดัชนี SET TR Index นั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ “ต่ำกว่าดัชนี” จะมีสัดส่วนสูงกว่า โดยมีสัดส่วนประมาณ ¾ ของกองทุนทั้งหมด โดยหากพิจารณาผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมในระยะยาว จะพบว่ามีเพียง 12% ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเหนือดัชนีได้จากผลตอบแทนสะสมเฉลี่ยในรอบ 7 ปี
“ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีใดที่ตลาดหุ้นมีผลตอบแทนในระดับ +/- 10% ขึ้นไป กองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี2021 ที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 18% หรือในปี2023 ที่ตลาดปรับตัวลดลง -13% เป็นต้น”
ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่า ส่วนต่างผลตอบแทนของกองทุน “LTF” ที่ทำได้ “สูงสุด” และ “ต่ำสุด” โดยเฉลี่ยแต่ละปีสูงถึงเกือบ 30% ดังนั้น การคัดเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับสภาพตลาด และฝีมือการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุน มีส่วนอย่างมากในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในระยะยาว ดังนั้นนักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับ “การคัดเลือกกองทุน” เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้ในกองทุน “LTF” ที่ในอดีตเคยมี “ประโยชน์ทางภาษี” ให้มากก็ตาม
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
การลงทุน
เศรษฐกิจ
กองทุน
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย