20 ม.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปหลักการลงทุน หุ้นคุณภาพ แบบ Terry Smith ผู้ได้รับฉายา Warren Buffett ของอังกฤษ

“ซื้อแต่ธุรกิจที่มีคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผล แล้วจงอยู่เฉย ๆ”
นี่คือวลีอมตะของคุณ Terry Smith ผู้ก่อตั้งกองทุน Fundsmith Equity Fund กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีในระยะยาว
ปัจจุบันกองทุน Fundsmith มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการรวม 970,000 ล้านบาท ทำผลตอบแทนได้ทบต้นเฉลี่ยปีละ 14.8% นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อปี 2010 จนได้ฉายาว่าเป็น “Warren Buffett แห่งอังกฤษ”
แล้วคุณ Terry Smith มีเกณฑ์อะไรในการตรวจสอบคุณภาพธุรกิจ และประเมินมูลค่าหุ้นอย่างไร ถึงสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีแบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1. ซื้อแต่ธุรกิจที่มีคุณภาพ
หลายคนอาจจะมีภาพในหัวเกี่ยวกับธุรกิจที่มีคุณภาพดีไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคุณ Smith แล้ว เขามีเกณฑ์อยู่ 3 ข้อ ดังนี้
- เป็นธุรกิจที่ขายสินค้า หรือบริการ ที่คนส่วนใหญ่จะกลับมาซื้อซ้ำ ๆ หรือใช้บริการบ่อย ๆ
เช่น ธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต่อการทำงาน และธุรกิจยา เป็นต้น
คุณ Smith มองว่าธุรกิจแบบนี้ จะมีผลประกอบการที่ค่อนข้างมั่นคง ไม่ค่อยผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ
- เป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง และสามารถสร้างผลกำไรในรูปเงินสดได้ดี
ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการขยายธุรกิจมากเกินไป จะทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมากนัก
โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจประเภทนี้ ใช้เพียงแค่กระแสเงินสดที่หมุนเวียนในธุรกิจก็เพียงพอที่จะลงทุนขยายธุรกิจแล้ว
เมื่อไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาก บริษัทก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมต่ำ หรือไม่มีเลย ทำให้ฐานะทางการเงินมีความแข็งแกร่ง ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะล้มละลายก็ต่ำ
ส่วนการพิจารณาว่าบริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรในรูปเงินสดได้มากแค่ไหน คุณ Smith ใช้อัตราส่วนที่เรียกว่า Cash Conversion Ratio
คำนวณได้โดยนำ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน มาหารด้วยกำไรสุทธิ
หากได้ตัวเลขออกมามากกว่า 1 ก็หมายความว่า ทุก ๆ กำไรสุทธิ 1 บาทของบริษัท สามารถแปลงออกมาเป็นกระแสเงินสดไหลเข้าบริษัทมากกว่า 1 บาท
และแสดงให้เห็นว่า บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่ากำไรสุทธิ ที่บริษัททำได้นั่นเอง
โดยคุณ Smith มักจะชื่นชอบบริษัทที่มี Cash Conversion Ratio มากกว่า 1 และพยายามหลีกเลี่ยงบริษัทที่มี Cash Conversion Ratio น้อยกว่า 1
เพราะบริษัทเหล่านั้น อาจจะมีตัวเลขกำไรทางบัญชีเป็นจำนวนมากก็จริง แต่กลับไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้มากเท่ากับตัวเลขกำไรที่แสดงอยู่ในงบการเงินก็ได้
- เป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนได้สูง
ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน สามารถวัดได้จากหลากหลายตัวเลข เช่น ROI, ROIC หรือ ROCE
แต่สำหรับคุณ Smith แล้ว เขามักจะชอบวัดจาก ROCE แบบที่เขาคำนวณเองมากกว่า
โดย ROCE หรือ Return on Capital Employed แบบคุณ Smith นั้น คำนวณได้จาก
ROCE = (กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน / Capital Employed) x 100%
1
ซึ่ง Capital Employed ก็หาได้จาก ส่วนของผู้ถือหุ้น + (หนี้สินระยะสั้น + หนี้สินระยะยาว) - เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด
ยิ่งได้ตัวเลข ROCE ออกมาสูง ก็แปลว่าบริษัทนั้นมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนต่อเงินลงทุนได้ดี
การพิจารณาเลือกลงทุนเฉพาะบริษัทที่มีผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คุณ Smith ชอบธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง
เพราะเมื่อธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง ก็จะทำให้มีอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง ได้ง่ายกว่าธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนในการขยายธุรกิจมาก ๆ
แม้คุณ Smith จะไม่มีตัวเลขที่บอกเราได้แน่นอนว่า ROCE ควรมีค่าอยู่ที่เท่าไร
แต่หากดูจากพอร์ตการลงทุนของ Fundsmith เราจะพบว่า ธุรกิจที่คุณ Smith ลงทุน มักจะมี ROCE สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
และสิ่งสำคัญที่คุณ Smith คอยย้ำเตือนอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ให้หลีกเลี่ยงบริษัทที่มี ROCE ต่ำกว่า WACC หรือต้นทุนเงินทุนเฉลี่ยของบริษัท
เพราะหากเป็นแบบนั้นแล้ว ก็หมายความว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทนั้น ไม่คุ้มกับต้นทุนทางการเงิน และมูลค่าบริษัทก็จะลดลงในที่สุด
นอกจาก ROCE แล้ว คุณ Smith ยังแนะนำให้เราดูตัวเลข Retention Rate ควบคู่ไปด้วย
Retention Rate คือ อัตราส่วนกำไรที่บริษัทเก็บไว้ลงทุนเพิ่ม หาได้จาก
[(กำไรสุทธิ - เงินปันผลจ่าย) / กำไรสุทธิ] x 100%
ยิ่งบริษัทไหนมี Retention Rate และมี ROCE ที่สูง ก็แปลว่า บริษัทนั้นสามารถนำกำไรกลับไปลงทุนต่อ แล้วยังได้ผลตอบแทนที่สูงกลับมาอีกด้วย
ซึ่งบริษัทแบบนี้ จะมีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่าบริษัทเดียวกันที่มี ROCE พอ ๆ กัน แต่เก็บกำไรกลับมาลงทุนน้อยกว่า
2. ในราคาที่สมเหตุสมผล
คุณ Smith เป็นนักลงทุนที่ชื่นชอบดูอัตราส่วน Free Cash Flow Yield เป็นอย่างมาก
Free Cash Flow Yield คำนวณจาก
Free Cash Flow Yield = กระแสเงินสดอิสระ / มูลค่าบริษัทในปัจจุบัน
ซึ่งตัวเลข Free Cash Flow Yield นี้จะบอกเราว่า นักลงทุนที่ซื้อหุ้นตัวนี้ไป จะได้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดอิสระ มากน้อยแค่ไหน
โดยสำหรับคุณ Smith แล้ว เขามักจะมองหาหุ้นที่มี Free Cash Flow Yield มากกว่า 4% ขึ้นไป
3. แล้วจงอยู่เฉย ๆ
หลังจากเราได้ซื้อหุ้นของบริษัทคุณภาพดี ในราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือการอดทนถือหุ้นของบริษัทเหล่านี้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
แต่ในระหว่างทางที่เราถือหุ้น เราก็ต้องคอยตรวจสอบผลประกอบการของบริษัท และพิจารณาคุณภาพธุรกิจที่เราลงทุนอยู่เสมอ
เพราะจริงอยู่ที่คุณ Smith จะแนะนำให้เราอยู่เฉย ๆ แต่ตลอด 15 ปี ที่คุณ Smith บริหารกองทุน เขาก็คอยมองหาธุรกิจที่คุณภาพดีตัวใหม่ และทยอยขายหุ้นในธุรกิจที่คุณภาพลดลงอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเรามีความระมัดระวัง และเลือกเฉพาะธุรกิจที่มีคุณภาพสูงจริง ๆ ตั้งแต่แรก ก็จะทำให้เราไม่เหนื่อย คอยขายหุ้นที่เราคิดผิดทีหลัง
เช่นเดียวกับกองทุน Fundsmith ของคุณ Smith ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกองทุนบริหารจัดการเชิงรุก ที่มีการปรับพอร์ตน้อยมาก
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ มีกองทุนรวมจากประเทศไทย ที่ไปลงทุนในกองทุน Fundsmith ของคุณ Terry Smith อยู่
โดยกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุน Fundsmith คือ กองทุน PRINCIPAL GQE ที่บริหารจัดการโดย บลจ.พรินซิเพิล นั่นเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายกองทุนเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#WorldClassInvestors
โฆษณา