18 ม.ค. เวลา 11:00 • ธุรกิจ

สรุปโมเดล แอป Be My Eyes ให้อาสาสมัครทั่วโลก ช่วยเหลือ ผู้พิการทางสายตา

เคยลองนึกภาพไหมว่า ถ้าเราหลับตาแล้วไปเลือกเสื้อผ้าในตู้มาสักตัวหนึ่ง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเสื้อตัวที่เรากำลังหยิบนั้นเป็นเสื้อสีอะไร ลายอะไร ?
หรืออาหารที่เรากำลังจะทานนั้น มีสิ่งแปลกปลอมอะไรอยู่หรือไม่ ?
นี่คือความท้าทายที่ผู้พิการทางสายตาที่อยู่เพียงลำพังต้องเผชิญแทบทุกวัน
แต่ทุกวันนี้พวกเขาไม่ต้องเผชิญมันตามลำพังอีกต่อไปแล้ว
เพราะมีอาสาสมัครนับล้านคนพร้อมเป็น “ดวงตา” ให้พวกเขาผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Be My Eyes
แอปพลิเคชันที่เปลี่ยนให้สมาร์ตโฟนธรรมดา ๆ
กลายเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อน้ำใจจากคนแปลกหน้าทั่วโลก
แล้ว แอปพลิเคชัน Be My Eyes น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ
เรื่องราวทั้งหมดต้องย้อนกลับไปในปี 2012 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
คุณ Hans Jørgen Wiberg ชายพิการทางสายตาชาวเดนมาร์กได้บังเอิญค้นพบว่า
การวิดีโอคอลกับครอบครัวช่วยให้ชีวิตประจำวันของเขานั้นง่ายขึ้น
เพราะเขาสามารถสอบถามเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเรียลไทม์และตัดสินใจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
เขาจึงเกิดไอเดียและได้นำแนวคิดนี้ไปนำเสนอในงานสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัปของประเทศเดนมาร์ก จนมีนักพัฒนาสนใจนำไปต่อยอดเป็นแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อระหว่างผู้พิการทางสายตากับอาสาสมัครทั่วโลก
แอปพลิเคชัน Be My Eyes ได้เปิดให้ใช้บริการครั้งแรกในปี 2015
และสามารถระดมทุนในช่วงแรกได้ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 22 ล้านบาท
แอปพลิเคชันนี้จะเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้พิการทางสายตา และอาสาสมัครที่มีการมองเห็นปกติ ผ่านระบบวิดีโอคอล
โดยจะทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องง่ายและเป็นมิตรด้วยแนวคิดที่ว่า “เราสามารถช่วยเหลือกันได้ด้วยแค่การเป็นดวงตา ให้กับใครบางคน”
Be My Eyes จะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูเหมือนธรรมดาสำหรับคนทั่วไป แต่เป็นเรื่องที่ผู้พิการทางสายตาต้องการความช่วยเหลือ
ตัวอย่างเช่น
การจับคู่สีเสื้อผ้า, ตรวจสอบวันหมดอายุ, เตรียมอาหาร หรือแม้แต่การอ่านฉลากยา
หรือการช่วยเหลืออื่น ๆ ที่ต้องอาศัยการมองเห็น
โดยอาสาสมัครจะคอยเป็นดวงตา คอยให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา
ซึ่งวิธีการใช้งานก็ง่าย ๆ เมื่อผู้ใช้งานที่มีปัญหาทางสายตาต้องการความช่วยเหลือ ระบบจะส่งคำร้องขอไปยังอาสาสมัครหลาย ๆ คน
โดยจะคำนึงถึงความเหมาะสมด้านภาษาและเขตเวลา เพื่อให้การสื่อสารและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งอาสาสมัครที่ตอบรับจะได้เชื่อมต่อผ่านการวิดีโอคอล โดยอาสาสมัครจะสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านกล้องมือถือของผู้ขอความช่วยเหลือ
และเริ่มใช้เสียงพูดคุยเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยโมเดลธุรกิจของ Be My Eyes จะเน้นไปที่การให้บริการฟรี แก่ผู้ใช้และอาสาสมัคร
แต่ก็มีมุมให้ทำรายได้ ได้เหมือนกัน
โดยโมเดลการทำรายได้ หลัก ๆ มาจากการให้บริการแก่บริษัทและองค์กรที่ต้องการสนับสนุนการเข้าถึงของผู้พิการทางสายตา
ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะใช้แพลตฟอร์มของ Be My Eyes เพื่อให้บริการลูกค้าของตนเองผ่านฟีเชอร์ที่เรียกว่า Specialized Help ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดต่อกับตัวแทนฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการได้โดยตรง
ทำให้ Be My Eyes สามารถเก็บค่าบริการจากองค์กรที่ใช้บริการได้ ในขณะที่ยังคงให้บริการฟรีแก่ผู้ใช้และอาสาสมัครทั่วไป
โมเดลธุรกิจนี้จะสอดคล้องกับแนวคิด “Freemium Model” ซึ่งเป็นการให้บริการพื้นฐานฟรีแก่ผู้ใช้ทั่วไป และสร้างรายได้จากการให้บริการพิเศษหรือขั้นสูงแก่ลูกค้าธุรกิจ
ซึ่งโมเดลนี้ได้รับความนิยมในธุรกิจดิจิทัลหลายแห่ง เช่น Spotify และ LinkedIn
โดยปัจจุบัน Be My Eyes เปิดให้บริการฟรีทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ครอบคลุมกว่า 185 ภาษา
และมีอาสาสมัครมากกว่า 6 ล้านคน และมีผู้พิการทางสายตาในระบบมากกว่า 520,000 คน
โฆษณา