19 ม.ค. เวลา 13:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[รีวิว] ใครโกหกยกมือขึ้น - การตามหาคนโกหกในวงสนทนาสู่ความปวดร้าวของการดิ้นรนเพื่องานในฝัน

(1) หากมองที่ชื่อภาษาอังกฤษ Six Lying University Students หรือชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า 六人の嘘つきな大学生 ที่แปลได้ว่า “นักศึกษาจอมโกหกทั้งหกคน” ซึ่งต่างก็ให้ความหมายไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก นั่นทำให้ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่องนี้ก็ดูจะไม่ค่อยน่าสนใจ แต่สำหรับชื่อเรื่องภาษาไทย “ใครโกหกยกมือขึ้น” กลับมีพลังเชิญชวนอย่างน่าประหลาด ชอบตรงที่นอกจากวลีนี้จะเก็บความหมายของชื่อเรื่องต้นฉบับมาได้ครบถ้วนแล้ว มันยังไม่จำเป็นต้องใส่ “จำนวนคน” ในชื่อเรื่องซ้ำอีก...
...เพราะคำว่า “โกหก” ในภาษาไทยมีคำว่า “หก” เป็นคำพ้องเสียงที่แทนจำนวนคนได้พอดิบพอดี (แน่นอนว่าถ้าเป็น 5 คนหรือ 7 คนคงใช้ไม่ได้) เป็นความบังเอิญที่สวยงามดีนักแล
Six Lying University Students (2024)
(2) เป็นอะไรที่สร้างสรรค์อยู่แล้วสำหรับหนังญี่ปุ่นที่ชอบสรรหามุมมองแปลกๆ มาเป็นพล็อตเรื่องอยู่เสมอ (เรื่องนี้มีต้นทางมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน) หากไม่มีข้อมูลมาก่อนเชื่อได้ว่าภาพในหัวต่อหนังเรื่องนี้ คือ การเฟ้นหาคนร้ายอย่างเอาเป็นเอาตายโดยมีชีวิตของคนที่เหลือเป็นเดิมพัน ภายใต้สภาพแวดล้อมอันบีบคั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตามหนังแนวสืบสวนสอบสวนแบบ “Whodunit” หรือ “มีคนร้ายอยู่ในกลุ่มพวกเรา” ทั่วๆ ไป...
...แต่สำหรับ Six Lying University Students เป็นการนำพล็อตนี้มาผสมผสานกับการวิพากย์สังคมการแก่งแย่งงาน(การเอาตัวรอด)ได้อย่างน่าสนใจและที่สำคัญมัน “สนุก” ด้วย
Six Lying University Students (2024)
(3) การวิพากย์สังคมการเอาตัวรอดถูกนำเสนอออกมาอย่างเด่นชัดในช่วงแรก ผ่านการพยายามสมัครเข้าทำงานที่บริษัท IT ชื่อดังอย่าง “Spirallinks” ของตัวละครหลักทั้ง 6 คน ที่พวกเขากำลังอยู่ในการคัดเลือกรอบสุดท้ายและถูกมอบหมายให้ทำ Group Discussion (การอภิปรายกลุ่ม) ร่วมกันเพื่อทำความรู้จักและเตรียมร่วมงานกัน แน่นอนว่าหากทุกอย่างราบรื่นหนังเรื่องนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น
Six Lying University Students (2024)
(4) จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อทุกคนถูกแจ้งว่าจะมีเพียงแค่ “คนเดียว” เท่านั้นที่จะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมทำงานกับบริษัท ซึ่งนี่เปลี่ยนโทนเรื่องจาก ความน่ารักสดใสของวัยรุ่นที่กำลังจะได้งาน พูดคุยกันถึงอนาคตอย่างออกรสประหนึ่งหนังวัยรุ่นสตาร์ทอัพสร้างตัว กลายเป็นหนังทริลเลอร์บรรยากาศตรึงเครียดและอึมครึม จนตั้งตัวไม่ทันเลยทีเดียว
Six Lying University Students (2024)
(5) การคัดเลือกนั้นใช้วิธีที่เลือดเย็นสุดๆ คือ ให้สมาชิกในกลุ่มนั่นแหละเป็นผู้เลือกคนที่เหมาะสมที่สุด ผ่านการทำ Group Discussion จริงในวันสัมภาษณ์ ทำให้จากเพื่อนที่คิดว่าจะได้ร่วมงานกันทุกคน กลายเป็นว่าทุกคนต่างเป็นศัตรูกันเพื่อความอยู่รอดแบบน่าเจ็บปวดสุดๆ ปกติการทำ Group Discussion ผู้ตัดสินมักเป็นคนของทางบริษัทเองและทุกคนก็นำเสนอด้านดีออกมาแข่งกัน แต่ในมุมกลับเมื่อให้คนในกลุ่มเลือกผู้คัดเลือกตัวแทนของพวกเขา มันจึงกลายเป็นสถานการณ์เอาตัวรอดที่น่าหดหู่ใจมาก
(บริษัทเฮงซวยที่ไหนใช้ระบบนี้คัดเลือกพนักงานสมควรล่มจมและถูกประนาม ถ้ามีจริง!!!)
Six Lying University Students (2024)
(6) ถือว่าเป็นโจทย์ยากสำหรับผู้กำกับ “ซาโต้ ยูอิจิ” (Satou Yuuichi) ที่ต้องดัดแปลงตัวนิยายต้นฉบับ ที่ดูแล้วไม่ “หวือหวา” จากทั้งตัวละครมนุษย์ธรรมดาทั้ง 6 คน แถมฉากหลักของเรื่องในห้องประชุมสำหรับการทำ Group Discussion ก็ไม่ได้เป็นเมืองร้างที่มีฝูงซอมบี้ครองเมือง เป็นเขาวงกตหรือค่ายกลยักษ์พร้อมสัตว์ประหลาดไล่ล่าทุกวินาที กลับกันมันเป็นแค่ห้องประชุมธรรมดาๆ ที่มีกล้องถ่ายวิดีโอตั้งไว้เพื่อดูพฤติกรรมของผู้สมัคร...
...แต่ด้วยวิธีการเล่าเรื่องและกลเม็ดที่ชาญฉลาด กลิ่นอายการเอาตัวรอด(เพื่อได้งาน)จึงคละคลุ้งอยู่เต็มห้องไม่ต่างจากบรรดาหนังเอาตัวรอดเหนือจินตนาการทั้งหลายเลย
Six Lying University Students (2024)
(7) อย่างที่บอกไปว่าปกติการสัมภาษณ์แบบ Group Discussion ผู้คัดเลือกมักเป็นคนของทางบริษัทเอง และผู้สมัครต้องนำเสนอด้านดีของตนเองออกมาว่ามีความถนัดด้านไหน มีทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรเพื่อเข้าตากรรมการ แต่เมื่อทุกอย่างกลับตาลปัตรด้วย “ซองจดหมายลึกลับ” ที่มีการแฉเรื่องราวดำมืดของแต่ละคนในอดีต จึงกลายเป็นว่าจากต้องนำเสนอด้านดี พวกเขาต้องขุดคุ้ยด้านมืดของคนอื่นๆ เพื่อลดคะแนนความนิยมชมชอบและกำจัดคู่แข่งออกไป
Six Lying University Students (2024)
(8) จุดเด่นอีกอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การสืบหาคนโกหก(คนร้าย)ในกลุ่มที่เอาจดหมายมาแฉ โดยปกติ เราจะเคยชินกับแผนการอันแยบยลและสมบูรณ์แบบ ปั่นหัวตัวละครและผู้ชมจนหาทางกลับบ้านไม่ถูก ซึ่งส่วนใหญ่จะป่วยการที่จะคาดเดา แต่สำหรับเรื่องนี้มันมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ คือ เราสามารถใช้ตรรกะสามัญคิดและไตร่ตรองไปพร้อมๆ กับตัวละครได้ จึงทำให้แม้จะอยู่ในห้องกับโต๊ะกลมๆ และผู้สมัครทั้งหกคน ก็ทำให้การดำเนินเรื่องสนุก เข้มข้น และน่าติดตามได้อย่างน่าทึ่ง
Six Lying University Students (2024)
(9) ยิ่งไปกว่านั้นหนังยังสิ้นสุดการทำ Group Discussion ไว้ที่ประมาณกลางๆ เรื่อง ทิ้งให้เรารู้สึกว่า “แค่นี้หรอ” แต่เราก็รู้ได้แน่ๆ ว่ามันไม่จบแค่นี้หรอก ในครึ่งหลัง คือ บทของการไถ่บาปตัวละคร ชอบตรงที่ตัวหนังขยายประเด็นไปไกลกว่าแค่หาตัวคนร้ายแล้วจบ แต่ตัวหนังวิพากย์(สาปส่ง)การทำ Group Discussion ที่น่ารังเกียจนี้อย่างชัดเจน และบอกว่าสุดท้ายแล้วคนร้ายที่แท้จริงคงไม่ใช่คนที่เอาซองจดหมายมาแฉ แต่เป็นระบบที่บีบให้คนตัวเล็กๆ ต้องเอาดิ้นรนตัวรอดอย่างไร้ความปราณีมากกว่า
Six Lying University Students (2024)
(10) การแสดงแบบ “ญี่ปุ่นๆ” ที่ดูเล่นใหญ่โวยวาย แต่มีระเบียบ? ยังคงมีอยู่เป็นปกติ ซึ่งอาจจะทำให้ใครที่ไม่คุ้นเคย รู้สึกว่ามันดูละครเกินไปและขาดความสมจริงได้ แต่หากมองข้ามเรื่องนี้ไป นักแสดงทุกคนก็ทำหน้าที่ได้ดี ศูนย์กลางของเรื่องอย่าง “ฮาตะโนะ โชโกะ” (Akaso Eiji) และ “ชิมะ อิโอริ” (Hamabe Minami) ที่ดูเหมือนว่า “จะไม่ใช่ แต่ก็ไม่แน่”
ตัวหนังพยายามเบนความน่าสงสัยมาให้สองคนนี้แม้ว่าพวกเขาจะเป็นตัวละครนำก็ตาม ส่วนตัวละครอื่นๆ คูงะ โซตะ (Sano Hayato), ยาชิโระ ซึบาสะ (Yamashita Mizuki), โมริคูโบะ คิมิฮิโกะ (Kura Yuki) และฮากะมาดะ เรียว (Nishigaki Shou) ก็ล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้ทั้งนั้นจากหลักฐานและเงื่อนงำที่ค่อยๆ เปิดเผยมา
Six Lying University Students (2024)
(11) แน่นอนว่าหากเทียบกับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายที่เข้าฉายก่อนหน้าอย่าง “บ้านวิกลคนประหลาด” ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ต้นฉบับที่ดีไม่ได้การันตีว่าจะสร้างออกมาเป็นภาพยนตร์ที่สามารถเก็บความสนุกและถ่ายทอดประเด็นสาระตามต้นฉบับได้ในระดับที่ควรจะเป็น ซึ่งตรงนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า “ต้องดูเป็นงานๆ ไป” เท่านั้น
Six Lying University Students (2024)
Story Decoder
โฆษณา