Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Histofun Deluxe
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
19 ม.ค. เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
• จริงหรือไม่ ที่พีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่อินโดนีเซีย?
ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคมปี 2023 ที่ผ่านมา ในวารสาร Archaeological Prospection ได้เผยแพร่ข่าวใหญ่ในวงการโบราณคดีโลก โดยมีการอ้างว่า พีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยพีระมิดดังกล่าวมีอายุอย่างน้อยถึง 9,000 ปี และโครงสร้างบางส่วนก็มีอายุมากถึง 25,000 ปี
กูนุง ปาดัง (Gunung Padang) ที่มีความหมายตามภาษาท้องถิ่นว่า ภูเขาแห่งการรู้แจ้ง (Mountain of Enlightenment) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะชวา ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางทิศใต้ประมาณ 133 กิโลเมตร โดยเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วที่มีรูปร่างภายนอกคล้ายกับพีระมิด
กูนุง ปาดัง เริ่มเป็นที่รู้จักในปลายศตวรรษที่ 19 จากผู้ตั้งถิ่นฐานชาวดัตช์ โดยสิ่งที่ทำให้กูนุง ปาดัง เป็นที่สนใจนอกจากรูปร่างแล้ว ก็คือลักษณะของภูเขาที่มีการแบ่งเป็นชั้น ๆ และมีเสาหินที่ทำจากหินภูเขาไฟที่กองเรียงรายอยู่ตามภูเขา บ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะถูกสร้างจากฝีมือมนุษย์
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยโบราณคดีแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesia's National Archaeological Research Center) และศูนย์โบราณคดีบันดุง (Bandung Archaeological Center) ระบุว่า ปรากฏหลักฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์บนกูนุง ปาดัง ที่อยู่ในช่วงระหว่าง 45 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ. 22 โดยอาศัยหลักฐานจากเครื่องปั้นดินเผาที่ค้นพบในบริเวณนั้น
รูปร่างของภูเขากูนุง ปาดัง ที่คล้ายกับพีระมิด
หากข้อมูลและหลักฐานทุกอย่างถูกต้อง นั่นก็แสดงว่า กูนุง ปาดัง เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เคยยิ่งใหญ่มาในอดีต และเป็นพีระมิดที่มีความเก่าแก่มากกว่าพีระมิดของชาวอียิปต์หรือพีระมิดในประเทศอื่น ๆ หลายพันหรือหลายหมื่นปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามกูนุง ปาดัง ก็ถูกนักโบราณคดีหลายคนตั้งข้อสงสัย และอาจเป็นไปได้ว่า เรื่องราวทั้งหมดไม่ได้เป็นแบบที่คิด
ในเดือนมีนาคม 2024 วารสาร Archaeological Prospection ได้เพิกถอนบทความของงานวิจัย โดยให้เหตุผลคือ “มีการแสดงความกังวลโดยบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านธรณีฟิสิกส์ โบราณคดี และการหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี” ซึ่งปัญหาหลักที่ทำให้งานวิจัยนี้ไม่น่าเชื่อถือ ก็คือการนำอายุดินของกูนุง ปาดัง มาอ้างว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา
“หากคุณไปที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ แล้วหย่อนแกนดินลงไปลึก 7 เมตร [23 ฟุต] และดึงตัวอย่างดินขึ้นมา คุณอาจจะระบุอายุของมันได้ว่า มีอายุถึง 40,000 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่า พระราชวังเวสต์มินสเตอร์สร้างขึ้นเมื่อ 40,000 ปีที่แล้วโดยมนุษย์ยุคโบราณ มันแค่หมายความว่า มีคาร์บอนอยู่ที่นั่นซึ่งมีอายุถึง 40,000 ปี เป็นเรื่องวิเศษมาก ที่เอกสารนี้ได้รับการตีพิมพ์” ฟลินท์ ดิบเบิ้ล (Flint Dibble) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์กล่าวถึงเรื่องนี้
นอกจากนี้มีการรายงานว่า งานวิจัยดังกล่าวได้รับการพิสูจน์อักษรโดยนักเขียนชาวอังกฤษชื่อ เกรแฮม แฮนค็อก (Graham Hancock) โดยเขามีความเชื่อเรื่องอารยธรรมหนึ่งที่หายสาปสูญไปเมื่อ 12,000 ปีที่แล้ว ซึ่งแฮนค็อกยังได้นำเรื่องของกูนุง ปาดัง ไปปรากฏในซีรีส์บน Netflix ที่ถูกนักโบราณคดีมองว่า เป็นซีรีส์ที่นำเสนอโบราณคดีเทียม (Pseudoarcheology) ที่ให้ข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับโบราณคดี
ส่วนเรื่องของเสาหินที่อยู่บนภูเขาที่ถูกอ้างว่า เป็นหลักฐานแสดงถึงการถูกสร้างโดยมนุษย์ ก็เป็นไปได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า Columnar Jointing หรือรอยแยกรูปเสา ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบนโลก
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า หินบนชั้นดินของกูนุง ปาดัง มีประเภทและองค์ประกอบที่คล้ายกับหินแข็งที่อยู่ชั้นล่างของดิน บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินตามธรรมชาติของภูเขาไฟ
สำหรับกูนุง ปาดัง ก็ยังคงเป็นสถานที่ที่มีความน่าอัศจรรย์ แต่ขึ้นอยู่กับการศึกษาต่อไปว่า ความอัศจรรย์ที่ว่านี้ส่วนใดถูกธรรมชาติสรรสร้าง และส่วนใดที่สร้างจากฝีมือของมนุษย์
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe
X
http://bit.ly/3AfKmf2
Blockdit
https://bit.ly/4e25dQX
LINE TODAY
https://bit.ly/48uQvRp
Website
https://bit.ly/4fnCVBB
YouTube
https://bit.ly/3YEkhzB
อ้างอิง
• ifl science. Gunung Padang: Java's Ancient Site Of Volcanism, History, And Controversy.
https://www.iflscience.com/gunung-padang-javas-ancient-site-of-volcanism-history-and-controversy-76463
• Discovery Magazine. Is Gunung Padang the Oldest Pyramid in the World?.
https://www.discovermagazine.com/planet-earth/is-gunung-padang-the-oldest-pyramid-in-the-world
#HistofunDeluxe
ประวัติศาสตร์
2 บันทึก
20
1
2
20
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย