9 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ

รัฐบาลดันกฎหมายใหม่ ร่าง พ.ร.บ. "เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล"

รัฐบาล ยกร่างกฎหมายใหม่ พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล รองรับแพลตฟอร์มดิจิทัล กำกับดูแลการให้บริการ ตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยงานกลาง กำกับดูแล
แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ. .... เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจำนวนมาก ครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลาย และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างสูง จึงต้องกำกับดูแลการให้บริการดังกล่าว เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีหน้าที่ต่าง ๆ ตามลักษณะ รูปแบบ และขนาดของแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม
พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีกลไกการกำกับดูแลตนเองตามหลักธรรมาภิบาลและจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องตรากฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ฉบับนี้ขึ้น
สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล มีทั้งหมด 8 หมวด 82 มาตรา และบทเฉพาะกาล สรุปได้ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป
1.พระราชบัญญัตินี้ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คุ้มครองผู้บริโภค และผู้ใช้บริการ สร้างความเป็นธรรมและประสิทธิภาพในการแข่งขัน และป้องกันมิให้มีการกระทำผิดกฎหมายผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และอีกหนึ่งเป้าหมายคือเพื่อให้การกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นไปโดยไม่เลือกปฏิบัติและคำนึงถึงความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต (มาตรา 5)
2.ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจบริการสื่อกลางดิจิทัลหรือบริการ แพลตฟอร์มดิจิทัลในเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะต่างหากจากพระราชบัญญัตินี้ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 6)
3.ให้อำนาจคณะกรรมการเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อคุ้มครองผู้รับส่งสินค้าหรือคนโดยสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยสถานะของผู้รับส่งสินค้าหรือคนโดยสารจะไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของพวกเขาตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมายแรงงาน (มาตรา 8)
4.กำหนดให้ผู้ให้บริการสื่อกลางดิจิทัลและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่อติดต่อกับสำนักงาน แต่ไม่ได้เป็นการบังคับให้จัดตั้งธุรกิจในประเทศ (มาตรา 9)
หมวด 2 หน้าที่และความรับผิดของผู้ให้บริการสื่อกลางดิจิทัล
1.บริการสื่อกลางดิจิทัลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ในกรณีที่มีการใช้แพลตฟอร์มในการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการแต่ละประเภทมีขอบเขตความรับผิดชอบแตกต่างกัน (safe harbor)
2.บริการท่อรับส่งข้อมูล (Mere Conduit): ให้บริการรับส่งข้อมูล ไม่ต้องรับผิดชอบหากมีการกระทำผิดกฎหมายผ่านข้อมูลนั้น ทั้งนี้ ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ริเริ่มการสื่อสาร ไม่ได้เลือกผู้รับข้อมูล และไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูล (มาตรา 14)
3.บริการระบบข้อมูลชั่วคราว (Caching): ให้บริการจัดเก็บข้อมูลชั่วคราวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งต่อข้อมูล ไม่ต้องรับผิดชอบหากมีการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูล ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าถึงข้อมูล และปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการ (มาตรา 15)
4.บริการเก็บรักษาข้อมูล (Hosting): ให้บริการจัดเก็บข้อมูลถาวร ไม่ต้องรับผิดชอบหากไม่รู้ว่าข้อมูลที่จัดเก็บนั้นผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องลบหรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเมื่อรู้ว่าข้อมูลนั้นผิดกฎหมาย (มาตรา 16)
หมวด 3 หน้าที่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ทั้งนี้เพื่อสร้างความโปร่งใส ความเป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปมีหน้าที่พื้นฐานสำคัญดังนี้ เช่น
1.การแจ้งสิทธิและหน้าที่: แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
2.ช่องทางร้องเรียน: จัดให้มีช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย โดยต้องตอบรับภายใน 24 ชั่วโมงและแจ้งผลการตรวจสอบภายใน 60 วัน
3.การเปิดเผยข้อมูลโฆษณา: เปิดเผยข้อมูลโฆษณาอย่างชัดเจน แยกแยะจากข้อมูลอื่นๆ และเปิดเผยข้อมูลผู้โฆษณา
4.ประกาศข้อตกลงและเงื่อนไข: ประกาศข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจน สะดวก และเข้าถึงง่าย รวมถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น ค่าบริการ อัลกอริทึม และกลไกการจัดการเรื่องร้องเรียน
หมวด 4 หน้าที่เฉพาะของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีนัยสำคัญ (Very Large Online Platform: VLOP)
1.ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีนัยสำคัญ (VLOP) มีลักษณะและหน้าที่เฉพาะ
2.VLOP ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (มาตรา 22)
  • มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในประเทศเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี
  • มีจำนวนผู้ใช้บริการเกิน 6 ล้านรายต่อเดือน
  • เป็นบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมตามรายชื่อที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยข้อเสนอของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
3.VLOP มีหน้าที่เพิ่มเติมจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป (หน้าที่เพิ่มเติมจากหมวด 3) (มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25
4.มาตรา 29 มาตรา มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 และ 33) เช่น รายงานข้อมูล จัดทำกลไกติดตามตัวผู้ใช้บริการที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางการค้า ระงับการให้บริการผู้ใช้บริการกระทำผิดกฎหมายร้ายแรง จัดทำรายงานความโปร่งใสประจำปี และแจ้งก่อนเปลี่ยนแปลงข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ เป็นต้น
หมวด 5 หน้าที่ของผู้ให้บริการที่มีอำนาจควบคุม (gatekeepers)
1.กำหนดลักษณะและหน้าที่ของผู้ให้บริการที่มีอำนาจควบคุม (gatekeepers)
2.บริการหลักสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัล (บริการหลัก) (core platform services) ได้แก่บริการดังต่อไปนี้ (มาตรา 36)
  • บริการสืบค้นข้อมูล (online search engines)
  • บริการแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อทางสังคม (online social networking services)
  • บริการตัวกลางออนไลน์ (online intermediation services)
  • บริการเผยแพร่วีดิทัศน์ (video-sharing services)
  • บริการสื่อสารระหว่างบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องผูกบัญชีผู้ใช้กับเลขหมาย โทรคมนาคม (number-independent interpersonal communication services)
  • ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (operating systems)
  • เว็บเบราเซอร์ (web browsers)
  • บริการผู้ช่วยดิจิทัล (virtual assistants)
  • บริการคลาวด์ (cloud computing services)
  • บริการโฆษณาออนไลน์ (online advertising services)
  • บริการหลักอื่นในลักษณะเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
สำหรับลักษณะของ gatekeepers : ผู้ให้บริการที่มีอำนาจควบคุม (gatekeepers) คือผู้ซึ่งให้บริการหลัก (core platform service provider) ที่มีลักษณะครบถ้วน 3 ประการ ดังนี้ (มาตรา 38 และมาตรา 39)
1. มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม (significant impact) เนื่องจากมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการหลักในประเทศเกิน 7,000 ล้านบาทต่อปี (มาตรา 39 (1))
2. เป็นช่องทางสำคัญให้ผู้ใช้บริการประเภทผู้ประกอบการเข้าถึงผู้ใช้บริการขั้นสุดท้าย (important gateway for business users to reach end users) เนื่องจากมีผู้ใช้งานขั้นสุดท้ายของบริการหลักในประเทศเกิน 15 ล้านรายต่อเดือนและผู้ใช้บริการประเภทผู้ประกอบการตั้งแต่ 10,000 ขึ้นไปต่อปี (มาตรา 39 (2))
3. มีอำนาจจำกัดไม่ให้ผู้ให้บริการรายอื่นแข่งขันกับตนจนสามารถรักษาสถานะของตนไว้ได้ต่อเนื่องในปัจจุบันหรือในอนาคตอันใกล้ (entrenched and durable position) เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้บริการขั้นสุดท้ายในประเทศและมีจำนวนผู้ใช้บริการประเภทผู้ประกอบการในประเทศตามเกณฑ์มาตรา 39 (2) ทุกปีตลอด 3 ปีย้อนหลัง (มาตรา 39 (3))
โดยหน้าที่ของ gatekeepers เช่น ห้ามกีดกันผู้ใช้บริการประเภทผู้ประกอบการ เปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถสื่อสารและทำสัญญากับผู้ใช้บริการขั้นสุดท้ายได้อย่างเสรีเปิดเผยข้อมูลค่าโฆษณาและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น (มาตรา 52)
หมวด 6 คณะกรรมการเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล
1.กำหนดองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแลและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการจากภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิ
หมวด 7 หน้าที่และอำนาจของสำนักงาน
กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ สำนักงานฯ มีอำนาจ เช่น ขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ เข้าถึงข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ และออกคำสั่งเพื่อให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามกฎหมาย
หมวด 8 บทกำหนดโทษ
กำหนดโทษปรับเป็นพินัยและโทษทางอาญาสำหรับการฝ่าฝืนบทบัญญัติต่างๆ โดยมีอัตราการปรับแตกต่างกันไปตามความร้ายแรงของความผิด และอาจรวมถึงการถูกสั่งปิดบริการ ทั้งนี้ โทษทางอาญามุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองข้อมูลความลับทางการค้าที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่
โฆษณา