20 ม.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดอาณาจักรมือถือจีน “OPPO” เจ้าของเดียวกับ “Vivo-Realme”

รู้หรือไม่? แบรนด์มือถือจีน “OPPO” มีเจ้าของคนเดียวกันกับ Vivo, Realme, OnePlus และ iQOO ส่วนแบ่งตลาดรวม 5 แบรนด์แซง “Samsung-Apple”
หากพูดถึงโทรศัพท์มือถือยอดนิยมในใจคนไทย หลายคนอาจนึกถึงแบรนด์จากสหรัฐฯ อย่าง “Apple” หรือแบรนด์เกาหลีใต้อย่าง “Samsung” แต่ในขณะเดียวกันยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกที่หลายคนชื่นชอบ นั่นคือ “มือถือจีน”
ข้อมูลจาก Counterpoint ระบุว่า ในไตรมาส 3/2024 ณ ส่วนแบ่งการตลาดโทรศัพท์มือถือทั่วโลกมี Samsung รั้งอันดับหนึ่งด้วยส่วนแบ่งราว 19% ตามด้วย Apple 17% อันดับสามคือ Xiaomi 14% จากนั้นคือแบรนด์ดังจากจีน ได้แก่ OPPO และ Vivo มีสัดส่วนอยู่ที่ 9% เท่ากัน
OPPO หนึ่งในแบรนด์มือถือรายใหญ่ของโลกจากจีน
แล้วทราบหรือไม่ว่า แบรนด์มือถือจีนสองยี่ห้อหลังนี้ ความจริงแล้วมีเจ้าของคนเดียวกัน นั่นคือบริษัท “บีบีเคอิเล็กทรอนิกส์” (BBK Electronics) นอกจากนี้มือถือ Realme ซึ่งคาดว่ามีส่วนแบ่งตลาดราว 4%, มือถือสเปกสูง OnePlus และมือถือสายเกมมิงอย่าง iQOO ก็เป็นของบริษัทนี้เช่นกัน
เท่ากับว่า เมื่อรวมกันแล้ว บีบีเคมีแบรนด์มือถือของตัวเองถึง 5 แบรนด์ที่แข่งขันกันเอง ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดโลกรวมกันแล้วมากกว่า 20% แซงหน้า Samsung จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตมือถือที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกก็ว่าได้
จุดเริ่มต้นของอาณาจักรมือถือจีนที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ คือมหาเศรษฐีชาวจีนผู้เก็บเนื้อเก็บตัว “ต้วน หย่งผิง”
มหาเศรษฐีผู้ลึกลับ
ต้วน หย่งผิง ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็น “เจ้าพ่ออุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนของจีน” รวมถึงยังเป็นอาจารย์ของ คอลิน หวง ผู้ก่อตั้งพินตัวตัว (Pinduoduo) เจ้าของ Temu อีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายไปทั่วโลก
ต้วนเกิดในเดือน มี.ค. 1961 ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางในหนานชาง เมืองหลวงของมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
ในปี 1978 เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงในเมืองหางโจวทางตะวันออก โดยศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไร้สาย
หลังเรียนจบ เขาทำงานเป็นครูที่ศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่ของโรงงานผลิตวิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง จากนั้นไม่นาน ต้วนศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเหรินหมิน และได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 1989
ในปีเดียวกันนั้น เขาเข้าร่วมกับบริษัท Zhongshan Yihua Group ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ เพื่อบริหารโรงงานที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนปีละ 2 ล้านหยวน
ต้วนเข้าไปพลิกโฉมให้กลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ด้วยการตั้งบริษัทย่อย Subor Electronics Industry เพื่อผลิตเครื่องเล่นวิดีโอเกมราคาถูกซึ่งเป็นสินค้าลอกเลียนแบบคอนโซลของ Nintendo โดยเขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทย่อยนี้
ต่อมา Subor ประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลิตคอนโซลเพื่อการศึกษาที่รู้จักกันในชื่อ “Little Tyrant” ในจีนและได้รับการรับรองโดย เฉินหลง ซูเปอร์สตาร์ชื่อดัง ช่วยให้บริษัททำกำไรได้ประมาณ 1 พันล้านหยวนในเวลาเพียง 6 ปี
แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ต้วนได้มีเรื่องบาดหมางกับบริษัท Yihua หลังจากที่เขาพยายามขอแยกเอาบริษัท Subor ออกมา ต้วนจึงลาออกจาก Yihua ในเดือน ส.ค. 1995 และก่อตั้งบริษัท BBK ขึ้นมา เน้นผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อการศึกษา อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ อุปกรณ์สื่อสาร พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์แบบมีสาย เครื่องเล่น VCD และเครื่องเล่น MP3
ในช่วงแรก BBK ประสบความสำเร็จอย่างมากกับการผลิตเครื่องเล่น VCD และ DVD จนกลายเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวชั้นนำในประเทศจีน โดยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 20%
ทั้งนี้ ต้วนเป็นนักธุรกิจที่ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว เขาแทบไม่เคยออกสื่อ และมีน้อยครั้งมากที่จะให้สัมภาษณ์ แต่เขาเคยกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2006 เมื่อเขาตกลงจ่ายเงินจำนวน 620,100 ดอลลาร์สหรัฐในการประมูลบน eBay เพื่อรับประทานอาหารกลางวันมื้อพิเศษร่วมกับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดัง
“ผมได้เรียนรู้มากมายจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ และปรัชญาการลงทุนของเขา ผมต้องการโอกาสที่จะกล่าวขอบคุณ” ต้วนเคยกล่าวไว้
ต้วน หย่งผิง ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เจ้าพ่ออุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนของจีน”
เป็นอิสระภายใต้ร่มเดียวกัน
ในปี 1999 เมื่อสินค้ากลุ่มอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ของบริษัทถูกแบรนด์ต่างประเทศอย่าง Sony เข้ามาแย่งตลาด ต้วนจึงปรับโครงสร้างบริษัท โดยแบ่งธุรกิจของ BBK ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนการศึกษา ผลิตอุปกรณ์การศึกษา, ส่วนโสตทัศนูปกรณ์ ซึ่งผลิตเครื่องเล่น VCD และ DVD และส่วนการสื่อสาร ซึ่งผลิตโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ไร้สาย โดยแต่ละส่วนมีผู้บริหารคอยดูแล
ธุรกิจทั้ง 3 ส่วนของ BBK ประสบความสำเร็จในจีน ในระดับที่อยู่ Top 3 ของอุตสาหกรรมตัวเอง
จากนั้นทั้ง 3 ส่วนได้แยกออกมาเป็น 3 บริษัทที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ยังอยู่ภายใต้ BBK และต้วนถือหุ้นประมาณ 10% ของบริษัททั้งสามแห่ง
หวง อี้เหอ รับผิดชอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา Education Electronics, โทนี เฉิน รับผิดชอบธุรกิจโสตทัศนูปกรณ์ Audiovisual Electronics และเสิน เว่ย รับผิดชอบธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสาร Communications Electronics
ในปี 2001 ต้วนนำบริษัททั้งสามจดทะเบียนในชื่อ “OPPO” ร่วมกัน โดยให้ โทนี เฉิน เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ผู้บริหารอีกสองคนคือหวงกับเสินไม่สนใจแนวทางธุรกิจของ OPPO เท่าไร จึงขอแยกตัวออกมา
เฉินซื้อแบรนด์ OPPO และก่อตั้งบริษัท Guangdong OPPO Electronics ขึ้นมาในปี 2004 ขณะที่เสินเปลี่ยนธุรกิจเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นบริษัท Vivo ในปี 2009 ส่วนหวงยังคงดำเนินธุรกิจอุปกรณ์เพื่อการศึกษาตามเดิม
ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ชื่อ OPPO นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ชื่อภาษาจีนของแบรนด์คือ “โอวปั้ว” (欧珀) ซึ่งมีความหมายว่า “โอปอล” หรืออัญมณีในตระกูลควอตซ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความหวัง และความปรารถนา
OPPO เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2009
เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการเป็น “มือถือกล้องเทพ”
ในตอนแรก OPPO สร้างชื่อเสียงด้วยการขายเครื่องเล่น Blu-ray, เครื่องขยายเสียง และหูฟังคุณภาพสูง โดยผลิตภัณฑ์แรกที่เปิดตัวคือ OPPO X3 เครื่องเล่น MP3
อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องเล่นเสียงและวิดีโอเริ่มหดตัวลง ประกอบกับล้มเหลวในการผลิตโทรทัศน์ LCD จึงหันเหความสนใจไปยังตลาดโทรศัพท์มือถือแทน โดยที่ต้วนให้การสนับสนุน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น OPPO Mobile Communications เพื่อแสดงความทะเยอทะยาน
ต้วนเคยให้สัมภาษณ์ว่า การผลิตโทรศัพท์มือถือไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเขาโดยตรง แต่เขาคิดว่าบริษัทของเขาสามารถทำได้ดีในอุตสาหกรรมนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาทำได้จริง
แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ OPPO ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย
ในเดือน พ.ค. 2008 OPPO ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกคือ A103 เอกลักษณ์อยู่ที่ด้านหลังของโทรศัพท์ที่กล้องและลำโพงเรียงตัวกันเป็นรูปหน้ายิ้ม จนเรียกกันว่า “โทรศัพท์หน้ายิ้ม” และสร้างสถิติยอดขายมากกว่า 1 ล้านเครื่องทันทีที่เปิดตัว
“โทรศัพท์หน้ายิ้ม” มือถือรุ่นแรกของ OPPO
ปีถัดมา OPPO ยังเริ่มเข้าสู่ตลาดต่างประเทศครั้งแรก นั่นคือ “ประเทศไทย”
โลกเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนในปี 2007 เมื่อแอปเปิลทำให้โลกได้รู้จักกับไอโฟนเป็นครั้งแรก ซึ่ง OPPO เองตระหนักดีเช่นกันถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเดินหน้าพัฒนาสมาร์ทโฟนของตัวเอง จนในเดือน ส.ค. 2011 ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นแรก Find X903 และเชิญดาราดังระดับโลก ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ มาเป็นพรีเซนเตอร์
แต่โทรศัพท์รุ่นดังกล่าวค่อนข้างล้าสมัย และโทรศัพท์ใช้การออกแบบฝาพับสองชั้นที่หนัก แม้แต่ โทนี เฉิน เองก็ไม่พอใจกับผิลตภัณฑ์รุ่นนี้มากนัก ในท้ายที่สุด ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจ OPPO X903 และยอดขายไม่ดีเท่าที่คาดไว้
Find X903 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของ OPPO
หลังจากความล้มเหลวครั้งแรก OPPO ได้ปรับความคิดและสำรวจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
ในเดือน มิ.ย. 2012 OPPO เปิดตัว OPPO Finder ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่บางที่สุดในโลก ด้วยความหนาเพียง 6.65 มม. จากนั้นอีกครึ่งปีต่อมาได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนความละเอียด 1080p เครื่องแรกของประเทศจีน นั่นคือ OPPO Find 5
หนึ่งในสิ่งที่ OPPO ค้นพบในระหว่างการหาแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์คือ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตลาดคนรุ่นใหม่ ต้องการ “โทรศัพท์ที่ถ่ายรูปสวย” พวกเขาจึงมองเห็นเส้นทางที่น่าจะเดินไปได้ ในช่วงปี 2012 บริษัทจึงได้เปิดตัว OPPO U701 ที่มีฟีเจอร์ “Face-Beautification” ซึ่งทำให้ถ่ายหน้าคนออกมาได้สวย
OPPO ยังเป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอสมาร์ทโฟนที่มีกล้องหน้า 5 ล้านพิกเซลและ 16 ล้านพิกเซล พร้อมกับนวัตกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับการถ่ายรูปและเซลฟี เช่น F11 Pro ที่ทรงพลังและ F1 Selfie Expert ที่ให้ภาพสวยสมบูรณ์แบบ หรือซีรีส์ Reno ที่ได้รับการยกย่องในด้านเทคโนโลยีกล้องที่เหนือกว่า คุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ไฮบริดซูม 10 เท่าและโหมดกลางคืนที่ชัดเป็นพิเศษ
เมื่อรวมกับราคาที่เข้าถึงง่าย และคุณสมบัติพื้นฐานอื่น ๆ อย่างดีไซน์ที่สวยงาม แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ชาร์จเร็ว จึงทำให้ OPPO กลายเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและติด Top 5 ในส่วนแบ่งตลาดมือถือด้วยระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวมือถือรุ่นแรก
OPPO ยังมีบริษัทย่อยคือ OnePlus ที่เปิดตัวในปี 2013 เพื่อเน้นพัฒนาสมาร์ทโฟนแบบไฮเอนด์โดยเฉพาะ และ Realme เปิดตัวในปี 2018 เจาะตลาดสมาร์ทโฟนราคาถูกเฉลี่ยไม่เกิน 1,000 หยวน เพื่อแข่งกับเสี่ยวหมี่โดยเฉพาะ
สำหรับรายได้ของ OPPO นั้นไม่มีการเปิดเผย แต่บริษัทระบุว่าปัจจุบันดำเนินงานอยู่ในมากกว่า 60 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก และมีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มากกว่า 600 ล้านคน
มือถือ OPPO ขึ้นชื่อเรื่องกล้องที่คมชัด คุณภาพสูง
Vivo เติบโตไม่แพ้กันด้วย “มือถือเสียงเทพ”
ดูฝั่ง OPPO กันไปแล้วมาดูสถานการณ์ฝั่งบริษัทพี่น้องอย่าง Vivo กันบ้าง
ในปี 2009 เครื่องหมายการค้า Vivo ได้รับการจดทะเบียนทั่วโลก ในปี 2010 บริษัท Vivo Mobile Communications Co., Ltd. ก่อตั้งขึ้น และในปี 2011 Vivo เข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนอย่างเป็นทางการ
ในเดือน เม.ย. ของปีนั้น บริษัทได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนเครื่องแรกอย่างเป็นทางการ นั่นคือ Vivo V1 มาพร้อมกับโปรเซสเซอร์ Qualcomm Snapdragon MSM 7227 เลนส์ด้านหลัง 5 ล้านพิกเซล และหน้าจอสัมผัสแบบขนาด 3.5 นิ้ว UI ของระบบโดยรวมนั้นเป็นไปตามสไตล์ของ Apple เป็นหลัก
จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2012 ที่มีการเปิดตัว Vivo X1 ด้วยชิป Hi-Fi ที่ปรับปรุงคุณภาพเสียงของสมาร์ทโฟนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นโทรศัพท์ Hi-Fi เครื่องแรกของโลก
Hi-Fi ย่อมาจาก High Fidelity หมายถึงเสียงที่มีความเที่ยงตรงสูง เหมือนของจริงมาก อัตราการเพี้ยนต่ำ
นั่นจึงทำให้ Vivo เริ่มเป็นที่รู้จักจากสเปกเรื่องเสียงระดับเทพ และเติบโตจนกลายเป็นแบรนด์มือถือเบอร์ต้น ๆ ของโลกในเวลาอันรวดเร็วเช่นเดียวกับ OPPO
Vivo ได้เปิดบริษัทย่อย iQOO ในปี 2019 เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้สายเกมและสตรีมมิงโดยเฉพาะ ชื่อของแบรนด์ย่อมาจาก “I Quest On and On”
Vivo V1 มือถือรุ่นแรกของ Vivo
ข้อครหาที่สวนทางกับสโลแกน
ด้วยความที่มีแบรนด์มือถือถึง 5 แบรนด์ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ความสำเร็จของ OPPO และ Vivo และแบรนด์ย่อยในเครือ เกิดจากการตลาดแบบแข่งขันกันเอง โดยทำเสมือนว่ามีผู้เล่นหลายรายในตลาดที่แข่งขันกัน ทั้งที่ความจริงแล้วแบรนด์ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ต้วนเคยอธิบายถึงความสำเร็จของ BBK ในตลาดมือถือว่าเกิดจากสดลแกนของบริษัทคือ “เปิ่นเฟิน” (本分) ซึ่งเป็นภาษาจีนแปลว่า “การทำสิ่งที่ถูกต้อง” โดยชื่นชมกระบวนการตรวจสอบพันธมิตรและซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะออกมาได้คุณภาพ
ขณะที่ OPPO ระบุในหน้าเว็บไซต์ว่า “OPPO จะยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและจะไม่ละทิ้งคุณภาพเพื่อความรวดเร็ว”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา OPPO และ Vivo เผชิญข้อครหาหลายประการที่ดูจะขัดแย้งกับสโปลแกนเปิ่นเฟินของพวกเขา
ที่เยอรมนีเมื่อปี 2022 ซัพพลายเออร์อุปกรณ์โทรคมนาคมของฟินแลนด์อย่าง Nokia ได้ยื่นฟ้องกล่าวหาว่า OPPO ใช้สิทธิบัตรเทคโนโลยีของตนโดยไม่จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ทำให้ในเดือน ส.ค. ศาลเยอรมันสั่งระงับการขายสมาร์ทโฟนของ OPPO
หรือที่อินเดีย รัฐบาลอินเดียได้ประกาศปรับเงิน 43,800 ล้านรูปีต่อบริษัทในเครือของ OPPO ในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี
และล่าสุดช่วงต้นปี 2025 กับประเด็นร้อนในประเทศไทย เมื่อมู้ใช้พบว่า โทรศัพท์ของ OPPO และ Realme มีการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้ยืมเงินที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้าซึ่งไม่สามารถถอนการติดตั้งได้
ประวัติธุรกิจ OPPO
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/240836
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา