20 ม.ค. เวลา 06:00 • สิ่งแวดล้อม

‘มหาเศรษฐีโลก’ ล่องเรือยอชต์-บินเจ็ทฉ่ำ ใช้โควตา ‘ปล่อยคาร์บอน’ ปี 2025 หมดใน 10 วัน

☝️Click >> จะอยู่กันแบบนี้จริง ๆ เหรอ? ‘มหาเศรษฐีโลก’ ใช้โควตา ‘ปล่อยคาร์บอน’ ปี 2025 หมดใน 10 วัน สร้างผลกระทบต่อคนยากจนหลายล้านคนทั่วโลก
🔎Clear >> อย่างที่เราทราบกันดี ‘ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีคาร์บอน เช่น ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า กระบวนการอุตสาหกรรม การให้ความร้อน และการขนส่ง เมื่อก๊าซเหล่านี้ลอยขึ้นไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ จะทำให้โลกร้อนขึ้น โดยในปี 2024 เป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดวิกฤตการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้ง พายุเฮอริเคน และคลื่นความร้อน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ธารน้ำแข็งที่หายไป ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมาย
จากการวิเคราะห์ของ Oxfam GB เอ็นจีโอบรรเทาความยากจนทั่วโลกพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-10 ม.ค. 2025 กลุ่มคนรวยที่สุด 1% ของโลก ซึ่งมีประมาณ 77 ล้านคน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ย 2.1 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณมลพิษที่ 50% ของคนที่จนที่สุดสร้างในระยะเวลา 3 ปี
ตามการวิเคราะห์ ประชากร 1% ที่ร่ำรวยที่สุด และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 140,000 ดอลลาร์ต่อปี จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อมลพิษคาร์บอนมากกว่าประชากรครึ่งหนึ่งที่ยากจนที่สุด ถึง 2 เท่าในแต่ละปี แต่กลายเป็นว่าประชากรยากจนกลับได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุด โดยเฉพาะในภูมิภาคเขตร้อน
นอกจากนี้ กลุ่มคนยากจนยังแทบไม่มีทรัพยากรสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันด้วยซ้ำ ในขณะที่คนรวยที่สุด 1% ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ ใช้ชีวิตภายใต้สภาพอากาศที่เย็นสบาย และมีเครื่องปรับอากาศได้ตามใจ
การสืบสวนร่วมกันโดย Oxfam และ สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ในปี 2023 พบว่าการปล่อยมลพิษจากคน 1% เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้คน 1.3 ล้านคนเสียชีวิตจากความร้อนในทศวรรษหน้า
ชีอารา ลิโกวรี ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายความยุติธรรมด้านสภาพอากาศของ Oxfam GB กล่าวว่า “อนาคตของโลกของเราแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่คนรวยสุด ๆ ยังคงปล่อยให้โอกาสของมนุษยชาติสูญเปล่าต่อไป ด้วยการใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย และการลงทุนที่ก่อมลพิษ”
ลิโกวรี กล่าวเสริมว่า รัฐบาลต้องหยุดเอาอกเอาใจผู้ก่อมลพิษที่ร่ำรวยที่สุด และให้พวกเขาจ่ายค่าชดเชยอย่างยุติธรรม เหมาะสมกับความหายนะที่พวกเขาสร้างให้กับโลกของเรา ซึ่งผู้นำที่ไม่ดำเนินการจะต้องรับผิดในวิกฤติที่คุกคามชีวิตของผู้คนนับพันล้าน
“นี่คือ การขโมยอนาคตของผู้คนนับพันล้านคนไปเพื่อสนองความโลภที่ไม่รู้จักพอของพวกคนรวยเพียงไม่กี่คน” นาฟโคต ดาบี หัวหน้าฝ่ายนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ Oxfam International กล่าว
คนรวยที่สุดใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่ายอย่างแท้จริง การวิจัยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของสภาพอากาศโดย Oxfam พบว่าเครื่องบินส่วนตัว 2 ลำของเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง Amazon ใช้เวลาเกือบ 25 วันในอากาศในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปล่อยคาร์บอนเท่ากับที่พนักงาน Amazon ในสหรัฐจะปล่อยใน 207 ปี
เรือยอร์ชสามลำของตระกูลวอลตัน ซึ่งเป็นทายาทของเครือร้านค้าปลีก Walmart มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนรวมกัน 18,000 ตันในหนึ่งปี ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยคาร์บอนของรถยกของวอลมาร์ท 1,714 คัน
ส่วนการคำนวณ ‘สัดส่วนที่ยุติธรรม’ (fair share) ของแต่ละคนจากงบประมาณการปล่อยคาร์บอนที่เหลืออยู่ของโลกอยู่ที่ประมาณ 2.1 ตันต่อปี ซึ่งได้มาจากการรายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซของสหประชาชาติ เกี่ยวกับระดับการปล่อยก๊าซในปี 2030 ให้สอดคล้องกับโอกาส 50% ที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และหารด้วย 8,500 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรที่คาดการณ์ไว้ของโลกในปีนั้น
นั่นหมายความว่า โควตาการใช้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มคนรวยในปี 2025 ได้หมดลงตั้งแต่ 10 วันแรกของปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางสู่ระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยที่สุด 1% จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เคยปล่อยในปี 2015 ลง 97% ภายในปี 2030 แต่ตามการวิเคราะห์ของ Oxfam พบว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 5% เท่านั้น
ในสหราชอาณาจักร Oxfam เรียกร้องให้ เรเชล รีฟส์ รัฐมนตรีคลัง เพิ่มภาษีเครื่องบินส่วนตัว และเรือยอร์ชสุดหรู ซึ่งเป็นกิจกรรมฟุ่มเฟือยที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพภูมิอากาศ
ลิโกวรี กล่าวว่า “เนื่องจากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น สหราชอาณาจักรต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ที่ยุติธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการเงินทุนที่ช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศที่เพิ่มมากขึ้น และต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกัน ด้วยการเพิ่มภาษีสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น เครื่องบินส่วนตัว และเรือยอร์ชสุดหรู ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนสำหรับรัฐบาล”
หลายฝ่ายเรียกร้องให้เก็บภาษีจากคนรวย โดยกลุ่ม G20 ได้หารือเกี่ยวกับภาษีขั้นต่ำที่ 2% จากมหาเศรษฐีประมาณ 3,000 คนทั่วโลก แม้ว่าฝรั่งเศส สเปน และประเทศอื่น ๆ จะสนับสนุนข้อเสนอของบราซิล แต่สิ่งที่เรียกว่า ‘ภาษีมหาเศรษฐี’ กลับถูกต่อต้านในการประชุมครั้งล่าสุดที่ริโอในเดือนพฤศจิกายน 2024
ส่วนการประชุม COP29 เกี่ยวกับสภาพอากาศยังได้ยินข้อเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวยระดับมหาเศรษฐี เพื่อระดมเงินทุนบรรเทาปัญหาสภาพอากาศที่จำเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับการเก็บภาษีผู้โดยสารเครื่องบินบ่อย ก็ถือเป็นอีกวิธีที่กลุ่มรณรงค์ด้านสภาพอากาศแนะนำหลายต่อหลายครั้ง มาตรการเหล่านี้จะช่วยจำกัดมลพิษ และช่วยหาเงินทุนสำหรับการสูญเสีย และความเสียหาย
รายงานของ Oxfam ระบุว่า ภายในปี 2050 รายงานดังกล่าวคำนวณว่าการปล่อยมลพิษของคนรวยที่สุด 1% จะทำให้เกิดการสูญเสียพืชผลในปริมาณที่เพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรในเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้อย่างน้อย 10 ล้านคนต่อปี
ที่มา: Euro News / Oxfam / The Guardian / Bangkokbiznews
โฆษณา