20 ม.ค. เวลา 09:12 • สุขภาพ

ป่า "น่าน" หายวับ 1.8 ล้านไร่ เร่งฟื้นคืนปลูก "พืชยา"

ประเดิมส่ง "ขมิ้นชัน" ผลิต "ยาใหม่" ช่วยผู้ป่วย "ธาลัสซีเมีย"
องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมูลนิธิกสิกรไทย นำพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.น่าน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ติดตามสถานการณ์เขาหัวโล้น และการดำเนินงานของศูนย์นวเกษตร-พฤกษเภสัช ของสถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย ในการเร่งฟื้นคืนผืนป่า จ.น่าน และการปลูกพืชยาสมุนไพรนำมาผลิตเป็นยาเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
1.สถานการณ์ป่าน่าน
นายอนันต์ ลาภสุขสถิต ประธานสถาบันเค อะโกร-อินโนเวท ให้ข้อมูลว่า น่านมีขนาดพื้นที่ 7.6 ล้านไร่ โดย 85% หรือ 6.4 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำน่านซึ่งเป็นต้นทางของมวลน้ำกว่า 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อความเจริญเข้ามาถึง ทั้งการตัดถนน เสาไฟฟ้า เสาสื่อสาร ทำให้ความเป็นอยู่ง่ายๆ ชนเผ่าพื้นเมือง ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ ทำให้การเกษตรที่มีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีการจุดไฟเผาก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และการปลูกมันสำปะหลัง ที่ทำให้ภูเขาไม่มีต้นไม้ชะลอน้ำ ปี 2567 จึงเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดของน่านในรอบ 100 ปี
"เกษตรกรทำไร่คนหนึ่งมีมากสุดที่ทำไหวประมาณ 40-50 ไร่ มีจำนวนแสนกว่าครัวเรือน ส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่ป่าน่านเหลือเพียง 4.56 ล้านไร่ หรือป่าหายไปแล้ว 1.8 ล้านไร่ คิดเป็น 28% ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด กลายเป็นเขาหัวโล้น" นายอนันต์กล่าว
2.โครงการ "น่านแซนด์บอกซ์"
จากการสูญเสียพื้นที่ป่าสงวน จึงนำมาสู่โครงการ "น่านแซนด์บอกซ์" ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการทดลองค้นหาวิธีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ช่วยเหลือให้ชาวบ้านดำรงชีพได้ถูกกฎหมายและมีรายได้เพียงพอต่อความจำเป็นในการดำรงชีพ คือ ตัวเลข 72:18:10 ดังนี้
72% คือ พื้นที่ป่าเดิมที่ยังคงอยู่และต้องรักษาไว้
18% คือ พื้นที่ที่จะฟื้นคืนกลับเป็นป่าด้วยปารปลูกไม้ป่าขนาดใหญ่ 100 ต้นต่อไร่ และส่งเสริมปารปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ เพื่อสามารถให้คนทำกินและอยู่ร่วมกับป่าได้
10% คือ พื้นที่ที่สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนได้ แต่ยังคงความเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย
3.ส่งเสริมปลูกพืชยา
นายอนันต์กล่าวว่า เคยคุยกับชาวบ้านว่าขอคืนพื้นที่ป่าได้ไหม ชาวบ้านบอกว่าแล้วจะหากินอะไร เพราะรายได้ครัวเรือนต่อพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การจะทำให้ป่าคงอยู่ ป่าจะต้องมีมูลค่าสร้างรายได้ได้ คนอยู่กับป่าได้ รายได้ต่อหัวต่อไร่ต่อปีต้องมากกว่าค่าใช้จ่าย แล้วถ้าไม่ตัดป่าจะทำกินอะไร ซึ่งมองว่าผลผลิตสินค้าเกษตรไม่มีทางแก้ปัญหาป่าได้ จึงมองไปที่เรื่อง "แพทย์แผนไทย" ที่ใช้ยาจากพืชทั้งสิ้น
นายอนันต์ ลาภสุขสถิต
"เราไปดูเทรนด์โลก สินค้าที่มาจากป่าที่ไม่ใช่ไม้ มีตัวหนึ่ง คือ สมุนไพร ยาจากพืชของโลกอยู่ที่ 9-10% เป็นยุโรปครึ่งหนึ่ง จำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอยู่ที่เยอรมัน ตรงนี้เป็นโอกาสเพราะสิ่งที่ประเทศไทยมีดี คือ ทั่วโลกพื้นดินที่ปลูกพืชขึ้นได้มี 1 ใน 5 โดยประเทศไทยอยู่ในนั้นทั้งประเทศ"
นายอนันต์สะท้อนอีกว่า อัตราการเติบโตของการใช้สารสกัดจากพืชของไทย สูงกว่าไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน แต่เป็นนำเข้าสารสกัด ทั้งที่เราปลูกสมุนไพรได้ แต่ภายในประเทศไม่มีการผลิตสารตั้งต้นหรือการทำเป็นสารสกัด ต้องส่งวัตถุดิบออกแล้วไปนำเข้าสารสกัดแพงๆ มาผลิตเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ
1
ดังนั้น น่านแซนด์บอกซ์จึงส่งเสริมให้ปลูกพืชยาหรือสมุนไพรใต้ต้นไม้ใหญ่ในการฟื้นคืนป่า ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มแบบทวีคูณให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่จะนำมาสู่การคืนป่าต้นน้ำ
4.ตั้งศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช เพิ่มสกิลเกษตรกร
สถาบัน เค อะโกร-อินโนเวท ร่วมมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา จ.น่าน ให้เป็นศูนย์รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกพืชยาในการสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนแก่เกษตรกร โดยตั้งเป้ารายได้สุทธิที่ 2 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี บนโจทย์พื้นที่ 2 ไร่ เพราะการจะนำไปผลิตเป็นยา จะต้องปลกให้ได้สารสกัดที่ออกฤทธิ์สูงและคงที่
นายอนันต์ ลาภสุขสถิต
"ที่ผ่านมาคนไทยชอบปลูกเยอะแต่ได้น้อย ตรงนี้เราจะเน้นรายได้ต่อไร่ จึงไม่ได้เน้นพื้นที่ปลูก แต่จะเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้มากขึ้น คือไม่เกิน 2 ไร่ โดยจำนวนเกษตรกรขณะนี้มี 39 ราย โดยปีแรกตั้งเป้า 100 ราย และปีหน้าอยู่ที่ 500 ราย" นายอนันต์กล่าว
2
การดำเนินงานของศูนย์วนเกษตร-พฤกษเภสัช แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มทร.ล้านนาจัดสรรพื้นที่ 30 ไร่เป็นศูนย์ศึกษาวิจัย ทดลองปลูกพืชยาในหลากหลายสภาวะ เพื่อให้ได้สารสำคัญในการออกฤทธิ์ทางยาสูงและคงที่ที่สุด มีการเก็บข้อมูลทุกขั้นตอนก่อนที่จะถ่ายทอดสู่เกษตรกร
ระยะที่ 2 ก่อสร้างโรงงานสกัดสารออกฤทธิ์ต้นแบบและอาคารห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารตกค้างและควบคุมคุณภาพดิน น้ำ และผลผลิต บนที่ดินจัดสรรของมหาวิทยาลัย 3 ไร่เศษ เพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสกัดสารออกฤทธิ์ของพืชยาชนิดต่างๆ เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ระดับสูงทั้งปริมาณและคุณภาพ เพิ่มมูลค่าจากผลิตผล
5.ปลูกพืชยาหมุนเวียนหลายชนิด
เกษตรกรจะไม่ได้ปลูกพืชยาเพียงตัวเดียว แต่จะปลูกหลากหลายชนิดที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่การทำเกษตรของตัวเอง โดยเบื้องต้นที่นำร่องในปี 2567 จำนวนครึ่งไร่หรือ 2 งาน จะมีสมุนไพรอยู่ 8 ชนิดที่ให้เกษตรกรปลูก ได้แก่
1
ขมิ้นชัน กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร หม่อนใบ เชียงดา รางจืด มะแว้งต้น และอัญชัญ ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีช่วงเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันไป
6.ประเดิม "ขมิ้นชัน" จากน่าน ส่งผลิตยาใหม่ อภ.
ภญ.วิลักษณ์ วังกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ.ร่วมกับมูลนิธิกสิกรไทยในการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช โดย อภ.จะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืชยา สนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการของพืชยา ตั้งแต่การปลูก การสกัด การควบคุมคุณภาพ การขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ การผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชน
ภญ.วิลักษณ์ วังกานนท์
ในส่วนของน่านแซนด์บอกซ์ ได้มีการรับซื้อ "ขมิ้นชัน" ที่มาจากการนำร่องปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ในการฟื้นคืนป่าน่าน เพื่อนำมาสกัดและผลิตเป็นผลิตยาตัวใหม่ที่ช่วยผู้ป่วยโรคเบตาธาลัสซีเมีย
7.เปิดข้อมูลยาใหม่ "นันท์ จีพีโอ-โกลบิเน็กซ์"
ภญ.วิลักษณ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ชื่อ "นันท์ จีพีโอ-โกลบิเน็กซ์" ผลิตจากสารสกัดขมิ้นชัน โดยใน 1 แคปซูลประกอบด้วยสารสกัดขมิ้นชันเทียบเท่าสารเคอร์คูมินอยด์ 250 มิลลิกรัม
มีสรรพคุณลดความรุนแรงของภาวะเครียดออกซิเดชัน และใช้เสริมการรักษาเพื่อลดความรุนแรงของภาวะเหล็กเกินและภาวะอักเสบในผู้ป่วยโรคเบตาธาลัสซีเมีย ทำให้เม็ดเลือดมีลักษณะที่แข็งแรงขึ้น ภาวะการขับเหล็กสำหรับผู้ป่วยก็จะดีขึ้น
ขณะนี้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ แต่จะเป็นการใช้ภายใต้แพทย์ในโรงพยาบาล ควบคู่กับการศึกษาประสิทธิผลของยา เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่แพทย์ในการใช้ยา ถือเป็นการใช้เสริมจากยารักษาโรคธาลัสซีเมียที่มีอยู่
8.เร่งวิจัยดูประสิทธิภาพยาใหม่ธาลัสซีเมีย
ภก.ปฐมพงศ์ สาธร นักพัฒนานวัตกรรมพฤกษเภสัช สถาบันเค อะโกร-อินโนเวท กล่าวว่า จากการศึกษาสารสกัดขมิ้นชันที่ได้มานั้น พบว่ามีฤทธิ์แอนตีออกซิแดนซ์ที่ดี ต้านการอักเสบที่ดี และช่วยเสริมการขับเหล็กในคนไข้ที่ได้รับยาขับเหล็กบางรายการ ซึ่งจะเสริมฤทธิ์ช่วยได้ดีขึ้น จึงคิดว่าน่าจะต่อยอดได้ เบื้องต้นผ่านขั้นตอนในหลอดทดลอง หนูทดลอง กระทั่งได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.
เราวางแผนที่จะทดสอบประสิทธิภาพในผู้ป่วยธาลัสซีเมียในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ในผู้ป่วยมากกว่า 100 คนที่ รพ.ศิริราช โดยจะเริ่มในช่วงเดือนตุลาคม 2568 ที่สอดคล้องกับแผนการผลิตเพื่อส่งมอบขมิ้นชันให้ อภ.ในการผลิตแบตช์แรก ซึ่งการวิจัยมีสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วม และจะมีการทำแผนการตลาดควบคู่กันไปด้วย
ภก.ปฐมพงศ์ สาธร
“การมียาตัวนี้จะเป็นตัวเสริมการรักษา และทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งเราวางแผนศึกษาในเรื่องการช่วยเม็ดเลือดแดงแตกตัวช้าลง หรือการเพิ่มชีวิตของเม็ดเลือดแดง แทนที่คนไข้จะไปถ่ายเลือดทุก 3 เดือนก็จะขยายไปทุก 4 เดือนหรือ 6 เดือนได้ โดยต้องไปตามดูผลว่าจะเป็นไปตามที่ตั้งไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้จะเหมาะกับกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการถ่ายเลือดเป็นประจำ” ภก.ปฐมพงศ์กล่าว
9.เผย 5 ผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบจาก "ป่าน่าน"
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากโครงการน่านแซนด์บอกซ์ มี 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- ภัตต์ พรมมิเมลตี้ จากพืชพรมมิ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
- นันท์ จีพีโอ – โกลบิเน็กซ์ จากพืชขมิ้นชัน เป็นยาจากสมุนไพร (ยาพัฒนาจากสมุนไพร)
- นันท์ ซอร์กอน จากพืชฟ้าทะลายโจร เป็นยาจากสมุนไพร (ยาพัฒนาจากสมุนไพร)
- นันท์ เมโดวีณา  จากพืชยี่หร่าและขิง เป็นยาแผนปัจจุบัน ที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
- นันท์ พีเวอร์ฟิวเวอร์ จากพืชฟ้าทะลายโจร เป็นยาจากสมุนไพร(ยาพัฒนาจากสมุนไพร)
คาดว่าในอนาคตจะมีการสกัดสารสำคัญในสมุนไพรจากความร่วมมือนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โฆษณา