เมื่อวาน เวลา 02:30 • ธุรกิจ

จากนักข่าวที่ต่อต้านแรงงานเด็กในไร่โกโก้ ผันตัวมาปั้นแบรนด์ช็อกโกแลตของตัวเอง รายได้ 5,600 ล้านบาท

1,560,000 คน คือ จำนวนเด็กแอฟริกาตะวันตก ที่ถูกบังคับให้ทำงานในไร่โกโก้อย่างผิดกฎหมาย
แม้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กมีมานานหลายทศวรรษ แต่ก็ดูเหมือนเหล่าบริษัทช็อกโกแลตยักษ์ใหญ่ จะไม่สามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้
และในขณะที่โลกเรากำลังหันหลังให้กับเรื่องนี้ ก็มีนักข่าวหนุ่มชาวดัตช์คนหนึ่ง เขามอบตัวกับตำรวจว่าเขาเป็นอาชญากรช็อกโกแลต เพราะเขากินมัน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ ว่ามันผลิตจากแรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย
แต่ก็ไม่มีใครใส่ใจกับเรื่องนี้ เขาจึงตั้งปณิธานว่าเขาจะทำให้คนทั่วโลกเห็น ว่าโลกเราสามารถผลิตช็อกโกแลต โดยไม่ต้องเอารัดเอาเปรียบเด็กได้
เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการรณรงค์ และข้อบังคับยุติการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมช็อกโกแลตมากมาย
และหนึ่งในความพยายามของการยุติเรื่องราวนี้ คือสัญญาที่ชื่อว่า Harkin-Engel Protocol ในปี 2001
สัญญานี้ เป็นการลงนามสัญญาจากบริษัทช็อกโกแลตยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เช่น Hershey, Nestlé และ Mars ว่าจะไม่มีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต
แม้เรื่องราวนี้จะดูเป็นผลดีกับทุกฝ่าย แต่ความจริงแล้วการเลิกใช้แรงงานเด็ก ไม่ได้จบลงง่าย ๆ แบบนั้น
1
2 ปีต่อมา นักข่าวโทรทัศน์ชาวดัตช์ ชื่อว่าคุณ Teun van de Keuken (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Tony) เขาได้รับรายงานข่าวว่ายังคงมีการใช้แรงงานเด็กในไร่โกโก้
เมื่อคุณ Tony และทีมนักข่าวชาวดัตช์ได้เข้าไปสำรวจความคืบหน้าในพื้นที่จริง สิ่งที่พวกเขากลับพบคือ ยังมีเด็กจำนวนมากทำงานอย่างผิดกฎหมายในไร่โกโก้
คุณ Tony ผิดหวังกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น เขาโทรหาบริษัทช็อกโกแลตต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้คำตอบใด ๆ อีกทั้งบริษัทเหล่านี้ยังปิดกั้นเบอร์ของคุณ Tony อีกต่างหาก
เขาจึงตัดสินใจ อัดคลิปวิดีโอของตัวเองขณะกินช็อกโกแลตหลากหลายแบรนด์ และโทรแจ้งตำรวจเพื่อมอบตัวว่าเขาเป็น “อาชญากรช็อกโกแลต”
โดยเหตุผลที่เขาบอกว่าเขาเป็นอาชญากร เพราะว่าเขากินช็อกโกแลต จากโรงงานที่เขารู้ตัวดีว่ามันถูกผลิตอย่างผิดกฎหมายโดยใช้แรงงานเด็ก
ซึ่งตามกฎหมายอเมริกา การมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งที่รู้ตัวดี ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีกับเขา คุณ Tony จึงได้ไอเดียใหม่ คือการสร้างบทพิสูจน์ว่าโลกเราสามารถผลิตช็อกโกแลตได้ โดยไม่ต้องเอารัดเอาเปรียบเด็ก
ในปี 2005 คุณ Tony ก่อตั้ง Tony's Chocolonely ด้วยแนวคิดหลัก ๆ 2 ข้อ คือการทำให้โกโก้ทุกเมล็ดตรวจสอบได้ และจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรม
โดยปกติ อุตสาหกรรมช็อกโกแลตจะใช้ระบบ Mass Balance ซึ่งจะผสมโกโก้จากแหล่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของโกโก้ได้
แต่ Tony's Chocolonely ใช้ระบบการติดตามแหล่งที่มาที่เรียกว่า “Tony's Beantracker” ช่วยติดตามโกโก้จากฟาร์มไปยังโรงงานผลิตทุกเมล็ด จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีผลที่เก็บจากแรงงานเด็กแน่นอน
ต่อมาคือแก้ไขปัญหาการได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมของเกษตรกร เพราะด้วยค่าแรงต่อวันที่ต่ำกว่าค่าครองชีพ ทำให้พวกเขาต้องบังคับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านมาทำงาน
คุณ Tony จึงตกลงที่จะทำสัญญาระยะยาว 5 ปีกับเกษตรกร เพื่อให้พวกเขามีรายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย และวางแผนชีวิตได้
โดยอ้างอิงจากตัวเลขในเว็บไซต์ พวกเขาจ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 364 ล้านบาท และปัจจุบันก็มีเกษตรกรที่ได้รับรายได้อย่างเป็นธรรมนี้ถึง 17,740 คน
ซึ่งต้องบอกว่าแนวคิดต่าง ๆ ของ Tony's Chocolonely ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาให้ลูกค้าเห็น
ตั้งแต่การสร้างแพ็กเกจจิงที่เมื่อเราแกะห่อช็อกโกแลตออกมา ก็จะเห็นเรื่องราวสตอรีเหล่านี้ที่แบรนด์ต้องการจะสื่อ
และรูปทรงของช็อกโกแลตที่ไม่สมมาตร หักอย่างไรก็ไม่มีทางเท่ากัน ก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ที่นายจ้างได้เงินเต็ม ๆ ในขณะที่เกษตรกรได้รับค่าจ้างเพียงน้อยนิด
ยังไม่รวมถึงแคมเปญต่าง ๆ ที่แบรนด์พยายามสื่อสารให้ทุกคนตระหนักเรื่อง Slave Free มาโดยตลอด
อย่างแคมเปญที่สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ก็คือแคมเปญ Sweet Solution ที่ทำแพ็กเกจจิงเลียนแบบแบรนด์ดัง เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทเหล่านั้น
ด้วยกลยุทธ์ในการใช้ Storytelling ของแบรนด์ ทำให้ Tony's Chocolonely เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจุบัน Tony's Chocolonely เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตเบอร์ 1 ของเนเธอร์แลนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ 20% และมีขายอยู่ตาม Whole Foods Market, Target และ Walmart กว่า 44,000 แห่ง
และในปี 2023 ที่ผ่านมา Tony's Chocolonely ก็ปิดจบด้วยรายได้ 5,600 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตถึง 23%
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
ชื่อแบรนด์ Tony's Chocolonely มีที่มาจาก Tony ชื่อภาษาอังกฤษของคุณ Teun van de Keuken
ส่วน Chocolonely มาจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ในเส้นทางการต่อสู้เพื่อยุติการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต
และแม้ว่า Tony's Chocolonely จะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต แต่เรื่องราวนี้ ก็คงแสดงให้โลกได้เห็นแล้วว่า หากเราไม่ใช้แรงงานเด็ก โลกเราก็ผลิตช็อกโกแลตที่คุณภาพดีได้เหมือนกัน..
โฆษณา