Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE STATES TIMES EARTH
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 03:00 • สิ่งแวดล้อม
ไทยเร่งขยับตามมุ่งสู่ Green Technology สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
☝️Click >> โลกอิเล็กทรอนิกส์ขยับตัว ไทยเร่งขยับตามมุ่งสู่ Green Technology
🔎Clear >> ในปัจจุบันผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เนื่องจากหวังว่าจะช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำจัดได้ยากให้ลดน้อยลง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องวางกลยุทธ์ด้าน ESG ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การรีไซเคิล ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวเติบโตตามไปด้วย
สอดคล้องกับข้อมูลของ Future Market Insights ที่คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 เป็น 177,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2033 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 26.14% ต่อปี โดยคาดว่าการเติบโตของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การประหยัดพลังงาน และการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
ถึงแม้ว่าแนวโน้มการลงทุน Green Technology จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และมลพิษทางอากาศในระยะเริ่มต้น แต่ในอีกทางหนึ่งคาดว่าแนวโน้มการลงทุน Green Technology ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้และจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี นับตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่…
1.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ตัวเก็บประจุเซรามิกแบบหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors) ซิลิคอนเวเฟอร์ และฟิล์มสำหรับชิป (ABF)
2.การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง (Advance Chips) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Power Chips, Analog Chips และ Memory Chips เป็นต้น และการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับบริหารจัดการพลังงาน (Power Management) เช่น มอเตอร์ แบตเตอรี่สำรอง (Storage Batteries) และระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverters) สำหรับการแปลงกระแสไฟฟ้า
3.การผลิตสินค้าขั้นปลาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน Data Centers เซิร์ฟเวอร์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนที่ประหยัดพลังงาน
ในปัจจุบัน ผู้เล่นในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการวางกลยุทธ์การเติบโต รวมทั้งมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ และตอบโจทย์เทรนด์ ESG มากขึ้น เช่น การสร้างความร่วมมือกับ Eco Partners ที่ได้รับการรับรอง การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ การควบคุมสารเคมีอันตราย พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอายุยาวนานมากขึ้น รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ตัวอย่าง เช่น…
1.กลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตชิปและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปกว่า 65 บริษัท เช่น TSMC, GlobalFoundries, Samsung Electronics, ASML, Google และ Microsoft ได้มีการรวมกลุ่มก่อตั้ง Semiconductor Climate Consortium เพื่อกำหนดแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
2.กลุ่มผู้ผลิต Hard Disk Drive เช่น บริษัท Seagate ที่มีฐานการผลิต HDD ที่สำคัญอยู่ที่ไทย ได้มีแผนการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลอย่างยั่งยืนตามหลักการ ESG โดยปัจจุบันโรงงาน 4 แห่ง จาก 7 แห่งทั่วโลก รวมถึงโรงงานในไทย ได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
นอกจากนี้ Seagate ยังได้เข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง Circular Drive Initiative (CDI) เพื่อช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโครงการนำอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมาใช้ใหม่
3.กลุ่ม Consumer Electronics เช่น บริษัท Apple ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ได้วางแผนการใช้วัสดุที่ใช้คาร์บอนต่ำและวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น จากรายงานของ Apple ในปีล่าสุดพบว่า Apple ได้รีไซเคิล เศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของ Apple ราว 20% ทั้งนี้ ในระยะยาว Apple ได้วางเป้าหมายให้ซัพพลายเออร์ 300 ราย หรือ 90% ของการผลิต จะต้องใช้พลังงานสะอาด 100% ในการผลิตให้กับ Apple ภายในปี 2030
4.กลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่าง Samsung ได้มีการวางกลยุทธ์ด้าน ESG โดยที่ผ่านมา Samsung ได้เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน ง่ายต่อการถอดถอนประกอบและรีไซเคิลรวมถึงเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีสารเคมีอันตราย
นอกจากนี้ ยังมีการทำธุรกิจกับ Eco Partners มากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหม่จะต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานจาก Samsung
ไทยจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยั่งยืนได้อย่างไร?
นักวิเคราะห์ของ SCB EIC สรุปว่าผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวควรมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับ Eco Partner มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยมีกลยุทธ์สำคัญ ดังนี้
1.การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Material Selection) โดยต้องเป็นวัสดุที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ หรือเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่ เช่น อะลูมิเนียม (aluminum) ที่ถือได้ว่าเป็นวัสดุสีเขียวด้วยคุณสมบัติที่มีน้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน โดยแม้นำกลับมาใช้ใหม่แต่ก็ยังคงคุณภาพอยู่ หรือแม้แต่แก้วทนความร้อนสูง (Borosilicate Glass) ที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
นอกจากนี้ ยังมีเหล็กผสมที่อาจไม่ได้เป็นวัสดุสีเขียว แต่หากเป็นเหล็กผสมโลหะ (Iron Alloy) ก็จะมีคุณสมบัติที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หากเปรียบเทียบกับโลหะหนักชนิดอื่น ๆ
2.การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ปัจจุบันพบว่าภาคธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
โดยปัจจุบันผู้ผลิตมีการพิจารณาขอรับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานระดับสากล เช่น ฉลากสิ่งแวดล้อม (EPEAT) TCO Certified และ Energy Star รวมถึงการเลือกใช้ชิปประมวลผล หน่วยความจำ หรือจอแสดงภาพที่ใช้พลังงานต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานของผลิตภัณฑ์มากขึ้น
3.การวางแผนการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม (E-waste management) การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันนั้นได้ครอบคลุมถึงการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่ การควบคุมการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวสอดคล้องกับปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบของภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้มงวด จึงมีความพยายามที่จะลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ รวมไปถึงการนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก จะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ เริ่มตั้งแต่การควบคุมการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสากล รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน ตลอดจนถึงการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล และวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Electronics)
นอกจากนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริโภค โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทางจากฝั่งของผู้ผลิตไปจนถึงปลายทางคือฝั่งของผู้บริโภค
ซึ่งภาครัฐมีส่วนสำคัญในการผลักดันสร้างระบบการบริหารจัดการ และสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างเครือข่ายการรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชน รวมไปถึงการให้ส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแยกขยะที่ถูกวิธี เพื่อที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: การเงินการธนาคาร, กันยายน 2567, ฉบับ 509
จิรภา บุญพาสุข, SCB EIC วิเคราะห์จากข้อมูลของ J.P. Morgan และ BOI
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย