20 ม.ค. เวลา 12:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🇺🇸 S&P500 ทำไมถึงเทรด “แพง” แทบตลอดเวลา? 💰

💸 พื้นฐานสำคัญ: P/E และ 10Y Rolling P/E คืออะไร?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่า P/E และการคำนวณแบบ 10Y Rolling กันก่อนค่ะ
1️⃣ P/E (Price-to-Earnings Ratio)
- เป็นอัตราส่วนที่ใช้เปรียบเทียบ “ราคาหุ้น” (Price) ต่อ “กำไรต่อหุ้น” (Earnings per Share) ของบริษัทหรือดัชนี
- ถ้า P/E สูง หมายความว่านักลงทุนยอมจ่ายเงินแพงสำหรับกำไร 1 บาทของบริษัท (หรือของดัชนี) ซึ่งบ่งบอกถึงความคาดหวังต่อการเติบโตในอนาคต
- ถ้า P/E ต่ำ มักหมายความว่าหุ้นหรือดัชนี “ถูก” เมื่อเทียบกับกำไรปัจจุบัน หรือไม่ก็ตลาดกังวลว่ากำไรในอนาคตจะหดตัว
2️⃣ 10Y Rolling P/E
- แทนที่จะใช้ P/E “ปีล่าสุด” มาคำนวณ เราใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีแบบเคลื่อนที่ เพื่อดูให้สอดคล้องกับวัฏจักรและโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ
3️⃣ SD (Standard Deviation)
+1SD หรือ +2SD หมายถึงค่า P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ย (Mean) ในอดีตเท่าไร เช่น +2SD แปลว่าเกินค่าเฉลี่ยไปมากจนเข้าขั้นว่า “แพงกว่าช่วงปกติ” อย่างมีนัยสำคัญ
-1SD หรือ -2SD คืออยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งเราอาจเรียกว่า “โซนถูก” เมื่อเทียบกับอดีต
🫧 ย้อนดูเหตุการณ์ใหญ่: ทำไมปี 2000 (Dot-Com Bubble) และปี 2008 (GFC) ค่า P/E ของ S&P 500 ถึงเคยแกว่งลงต่ำมาก?
แม้ในภาพระยะยาวจะเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็มีช่วงเวลาสำคัญที่ค่า P/E ตกฮวบลงมาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะรอบปี 2000 (ฟองสบู่ Dot-Com) และรอบปี 2008 (วิกฤติการเงินโลก GFC) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่สะเทือนทั้งตลาดสหรัฐฯและทั่วโลก
👉🏻 วิกฤติ Dot-Com (ช่วงปลายทศวรรษ 1990 – ต้นปี 2000)
พื้นหลังและความตื่นตัวของ “อินเทอร์เน็ต”
🛜 ยุคเริ่มต้นอินเทอร์เน็ต (Internet Revolution) ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายอย่างรวดเร็วในชีวิตประจำวัน ประชาชนและธุรกิจต่างตื่นเต้นกับโอกาสใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์ ทั้ง E-Commerce, เว็บพอร์ทัล, บริการออนไลน์สารพัดรูปแบบ ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัป (Startup) ทะลักเปิดตัวกันมากมาย เพียงแค่มีคำว่า “.com” ต่อท้ายในชื่อก็สร้างความฮือฮาและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมหาศาล แม้ว่าหลายบริษัทจะยังไม่มีโมเดลธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่าทำกำไรได้นั่นเองค่ะ
?ทำไมค่า P/E จึงพุ่งสูงมาก
.
นักลงทุนเชื่อว่าบริษัทออนไลน์จะเติบโตไม่จำกัดขอบเขต คนแห่เข้าซื้อหุ้น Tech และสตาร์ทอัป ทำให้ราคาวิ่งขึ้นไม่หยุดบนความคาดหวังเติบโต (Growth Expectation) ที่สูงเกินจริง ทำให้หลายบริษัทมี P/E สูงเว่อร์ บางบริษัทแทบไม่มีกำไร แต่ตลาดกลับตีมูลค่าล่วงหน้าไปไกลเกินไป เพราะเชื่อว่าอีกไม่นานรายได้จะถล่มทลาย
นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์ เศรษฐกิจ และสำนักวิจัยหลายแห่ง ปลุกกระแสว่านี่คือ “ยุคทองของอินเทอร์เน็ต” จึงเกิด FOMO (Fear of Missing Out) ที่ใครๆ ก็ไม่อยากตกขบวน
🫧 ฟองสบู่แตก: เมื่อความเป็นจริงไม่ตรงกับความฝัน
ช่วงต้นปี 2000 ราคาหุ้น Dot-Com จำนวนมากเริ่มหยุดนิ่งหรือชะลอตัว เพราะตัวเลขผลประกอบการไม่ถึงฝัน ขาดทุนหนักกว่าที่คิด ขายโฆษณาไม่ได้ตามเป้า ผู้ใช้งานไม่โตอย่างคาด พอเห็นว่ากำไรไม่มาอย่างที่วาดฝันไว้ จึงเกิแรงเทขายก็ตามมานั่นเองค่ะ ราคาหุ้นที่เคยพุ่งขึ้นสิบเท่าก็รูดลงได้เร็วในอัตราเท่าๆ กันนั่นเองค่ะ
‼️ ผลกระทบต่อค่า P/E ของตลาดโดยรวม
.
แม้ S&P500 จะมีหุ้นหลากหลายกลุ่ม แต่ตอนนั้นกลุ่มเทคโนโลยีนำตลาดอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อ Tech พังหนัก ดัชนีใหญ่ก็พลอยติดลบตาม ส่งผลให้ราคาหุ้น (Price) ดิ่งลงดึง P/E ลงตามไปอย่างรวดเร็ว มินำซ้ำบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งปิดตัว คนตกงาน ผู้บริโภคและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น จนกระทบทั้งตลาดและเศรษฐกิจอีกเช่นกัน
📖 บทเรียนสำคัญ
1. P/E ที่สูงลิ่ว อาจไม่ยั่งยืน หากกำไรจริงไม่มาตามราคาที่สะท้อนความคาดหวังเอาไว้
2. ฟองสบู่ Dot-Com กลายเป็นตัวอย่างคลาสสิกของ “การเก็งกำไรเกินเหตุ” เมื่อ ‘การเติบโต’ ที่คิดว่าสูงไม่เกิดขึ้นจริง ราคาก็ปรับฐานแรง
3. หลังฟองสบู่แตก ค่า P/E ของตลาดโดยรวมจึงร่วงลงมาอยู่ในโซนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เพราะราคาหุ้นตกหนักนั่นเองค่ะ
⚠️ วิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis: GFC) ปี 2008
ต้นตอของปัญหา: “ซับไพรม์” และฟองสบู่อสังหาฯ
ในช่วงปี 2000-2006 ราคาบ้านในสหรัฐฯ พุ่งสูง คนแห่ซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร ธนาคารและสถาบันการเงินก็ปล่อยสินเชื่อกันง่ายมาก แม้ผู้กู้จะมีความสามารถชำระหนี้ต่ำก็ตามค่ะ (ซับไพรม์ – Subprime Mortgage)
.
นอกจากนี้เอง สถาบันการเงิน “แปลง” สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นตราสารหนี้ (MBS) แล้วขายต่อให้นักลงทุนทั่วโลก ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินซับซ้อน เช่น CDO และ CDS จนดูเหมือนเป็นการ “กระจายความเสี่ยงกระจาย” แต่จริงๆ แล้วเต็มเป็นด้วยหนี้เน่า
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้นยังไม่สูง และบริษัทยักษ์ใหญ่หรือตัวกลางก็ต่างให้เรตติ้งสินทรัพย์หลายชุด “เกินจริง” ทำให้นักลงทุนเข้าใจว่าตราสารเหล่านี้ปลอดภัยกว่าความเป็นจริงอีกด้วยค่ะ
🫧 ฟองสบู่แตก: คนเริ่มผิดนัดชำระหนี้, เลห์แมนล่ม, ความเชื่อมั่นหาย
ในปี 2006-2007 ดอกเบี้ยสหรัฐฯ เริ่มขยับขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ทำให้ผู้กู้บ้านหลายรายจ่ายดอกเบี้ยไม่ไหว เกิดการยึดบ้านเป็นวงกว้าง ราคาบ้านตก เริ่มเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง และบ้านที่ธนาคารยึดมาก็ขายไม่ออก แถมราคาร่วงหนักอีกต่างหาก และเริ่มกระทบต่อตราสารหนี้ MBS
Lehman Brothers ล้มละลายในปี 2008
การล้มของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ (Lehman) สร้างความตื่นตระหนกทั่วโลก ห่วงโซ่ความเสียหายที่เชื่อมต่อกันผ่าน MBS และเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ทำให้เกิดภาวะ “ธนาคารไม่เชื่อใจกันเอง” ออกเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารแทบไม่ได้ ตราสารต่างๆเริ่มผิดนัดชำระหนี้กันเป็นทอดๆ สถาบันการเงินอื่นๆ ก็วิกฤติจนรัฐบาลและ Fed ต้องเข้าช่วย
ธุรกิจทั่วโลกขาดสภาพคล่อง การค้าและการลงทุนชะงัก และดัชนี S&P500 ดิ่งลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2007 จนถึงจุดต่ำสุดราวต้นปี 2009 นั่นเองค่ะ
👉🏻 ทำไมค่า P/E ถึงดิ่งต่ำได้มากในช่วงนั้น?
แรงเทขาย (Panic Sell)
นักลงทุนทั่วโลกเทขายหุ้นเพื่อหนีความเสี่ยง ราคาหุ้น (Price) หล่นฮวบในเวลาอันสั้น แต่กำไร (Earnings) ของบริษัทส่วนใหญ่อาจยังไม่สะท้อนผลเลวร้ายในทันที ทำให้ P/E ต่ำลงมากนั่นเองค่ะ
แม้ว่าจะเกิดภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” และกำไรบริษัทจะลดลง แต่การลดลงของ “ราคาหุ้น” นั้นแรงยิ่งกว่า ทำให้อัตราส่วน P/E ร่วงต่ำมากได้นั่นเองค่ะ เพราะตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าใครจะล้มเป็นรายต่อไป ใครถือสินทรัพย์เสี่ยงอยู่เท่าไร ตลาดหุ้นจึงมีแต่คนอยากหนีออกมาให้เร็วที่สุด
📖 บทเรียนสำคัญ
1. “Housing Bubble” ก็แตกได้เหมือน Dot-Com แสดงว่าฟองสบู่ไม่ได้เกิดแค่ใน Tech หรือหุ้น แต่ยังเกิดในสินเชื่อและอสังหาริมทรัพย์ได้
2. สถาบันการเงินที่ “Too Big To Fail” ก็ล้มได้ ทำให้เกิดกระแสตระหนักถึงความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk)
3. ค่า P/E ลดลงสู่โซนต่ำ คือผลพวงของ “ความกลัว” และ “ราคาที่ตกลงอย่างรุนแรง” จนฉุดให้ตลาดทั้งตลาดดูเหมือนราคาถูกเมื่อเทียบกับกำไร ณ ขณะนั้น
🆚 ความเหมือนและความต่างของสองวิกฤติ
✅ เหมือนกัน
1. ทั้งสองรอบเป็นฟองสบู่ที่เกิดจาก “ความเชื่อมั่นเกินเหตุ” (ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตหรืออสังหาริมทรัพย์
2. ตอนฟองสบู่แตกก็พังอย่างรุนแรงและรวดเร็วเหมือนกัน ทำให้ P/E ของตลาดโดยรวมร่วงลงมาในโซนต่ำ
3. มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจวงกว้าง คนตกงาน บริษัทรายเล็กรายใหญ่ล้มละลาย
❌ ต่างกัน
1. Dot-Com เกิดจาก “หุ้นเทคโนโลยี” และธุรกิจออนไลน์ ที่ตลาดเก็งกำไรไปล่วงหน้าแบบสุดโต่ง ส่วนธุรกิจอื่นยังไม่ได้รับผลกระทบถึงขนาดล้มเป็นโดมิโนมากนัก (แม้จะโดนไปบ้าง แต่ยังไม่เท่า GFC)
2. GFC เป็นวิกฤติภาคการเงินโดยตรง ทำให้ระบบแบงก์ล้มเป็นลูกโซ่ ตลาดสินเชื่อซบเซา อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ ส่งผลกระทบลึกกว่าและกว้างกว่าในระดับโลก
🎯 จุดเปลี่ยนหลังปี 2008: ทำไม P/E จึงทะยานขึ้นมา “แพง” เกือบตลอด?
หลังจากผ่านวิกฤติ 2008 เป็นต้นมา เราสังเกตเห็นชัดเจนว่า ค่า P/E ของ S&P 500 กลับขึ้นมา “ยืนสูง” และแกว่งตัวอยู่เหนือเส้นเฉลี่ย (10Y Average) พร้อมๆ กับการดีดขึ้นไปสู่โซน +1SD หรือ +2SD ในหลายช่วง ซึ่งมีหลายปัจจัยสนับสนุน ได้แก่:
🏦 นโยบายการเงินผ่อนคลาย (QE) และอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์
เฟด (Fed) ลดดอกเบี้ยลงใกล้ 0% และดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องด้วย QE หลายรอบ (QE1, QE2, QE3) โดยเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหลักทรัพย์ที่มีสัญญาเชื่อมโยงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย และทำให้เม็ดเงินมหาศาลไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า “ดอกเบี้ยติดดิน” หุ้นจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ ผลักดันราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
📉 อัตราดอกเบี้ยต่ำ → ต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital) ลดลง
บริษัทจดทะเบียนกู้ยืมเงินมาขยายธุรกิจหรือซื้อหุ้นคืน (Share Buyback) ได้ในดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้กำไรต่อหุ้น (EPS) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาหุ้นสามารถปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เมื่อบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน ก็เท่ากับ “ลดจำนวนหุ้นในตลาด” ทำให้ EPS สูงขึ้นอีก แม้กำไรสุทธิ (Net Income) จะไม่ได้โตมากก็ตามค่ะ
🧑‍💻 การเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยี
หลังวิกฤติ 2008 บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Amazon, Apple, Microsoft, Google (Alphabet), Facebook (Meta) และอื่นๆ เติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้นักลงทุนยินดีจ่ายค่า P/E สูงเพื่อแลกกับความคาดหวังว่าผลกำไรในอนาคตจะวิ่งต่อไปได้อีกยาว หรือที่เราเรียกว่าเป็น Growth Stock และกลายเป็นแรงดึงให้ทั้งดัชนี S&P500 มีค่า P/E สูงขึ้นตามไปด้วยค่ะ
🇺🇸 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือ “แหล่งหลบภัย” ของเงินทุนต่างชาติ
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกผันผวน ชาติอื่นอาจมีความไม่มั่นคงทางการเมือง, ค่าเงินผันผวน, หรือเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เงินทุนจำนวนมากกลับมาซื้อหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และสภาพคล่องสูง และการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติก็ช่วยดัน Valuation ให้สูงขึ้นต่อเนื่องอีกทางนึงเช่นกันค่ะ
💸 เงินเฟ้อที่คุมได้ (อย่างน้อยจนถึงช่วงก่อนโควิด)
ตลอดทศวรรษ 2010-2020 สหรัฐฯ มีระดับเงินเฟ้อที่ไม่สูงมาก (ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต) ทำให้เฟดยังคงดอกเบี้ยต่ำได้ยาว และเมื่อนักลงทุนรู้สึกว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงน้อยลง ก็พร้อม “จ่ายแพง” เพื่อหุ้นที่มีโอกาสเติบโตนั่นเองค่ะ
🤔 แล้วทำไมค่า P/E จึงยังอยู่สูงได้เรื่อยๆ
บางคนอาจถามว่า “เมื่ออะไรๆ ก็ดูแพงตั้งแต่ปี 2010 แล้ว ทำไมตลาดถึงไม่ปรับฐานให้ต่ำลง?” คำตอบสั้นๆ คือ “Sentiment และสภาพคล่อง” ช่วยประคองให้ราคาหุ้นไม่ตกลงมากนักค่ะ
1️⃣ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย
แม้จะมีช่วงที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยบ้าง (เช่น ปลายปี 2015 เป็นต้นมา) แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่งเร่งขึ้นจริงๆ ตอนปี 2022-2023 (หลังเจอโควิดที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่ง) แต่โดยรวมแล้วช่วงระหว่างนั้นตลาดยังถูกหล่อเลี้ยงด้วยดอกเบี้ยต่ำมหาศาล จึงไม่เกิดการปรับฐานรุนแรงจนตลาดพังนั่นเองค่ะ (มีร่วงหนักจริงๆแค่ Trade War 1 กับช่วง Covid-19 ค่ะ)
2️⃣ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
พอมีความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยหรือเจอเหตุการณ์ช็อก เช่น โควิดปี 2020 รัฐบาลสหรัฐฯ และธนาคารกลางก็อัดงบกระตุ้น (Fiscal Stimulus) เพิ่มเงินเข้าสู่มือประชาชนและธุรกิจ นักลงทุนจึงกลับมาซื้อหุ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ค่า P/E ปรับขึ้นอีกครั้ง
3️⃣ ตลาดหุ้นเป็น “ทางเลือก” ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น
ถ้ายังจำกันได้ คำพูดยอดฮิตช่วงที่ผ่านมาคือ “TINA หรือ There Is No Alternative” นั่นเองค่ะ ซึ่งหมายถึงเมื่อดอกเบี้ยติดดิน การฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรอาจไม่คุ้มค่า หรือบางช่วงแทบไม่ได้อะไรเลย (แพ้เงินเฟ้ออีก) นักลงทุนจึงเต็มใจยอมเสี่ยงลงทุนในตลาดหุ้น เพราะมองว่ายังไงก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่า แม้ว่าราคาหุ้นจะแพงก็ตาม
⚠️ ระวังสัญญาณจากอดีต: เมื่อไหร่ที่ P/E สูงมากๆ ก็อาจเกิดการปรับฐานแรง
แม้ว่าตลาดจะยืนอยู่ในระดับ P/E สูงได้เป็นระยะเวลานาน แต่ประวัติศาสตร์ก็เคยพิสูจน์ว่า “ความคาดหวังที่สูงมาก มักมาพร้อมความเปราะบางเมื่อเจอข่าวร้าย” เช่น Dot-Com ปี 2000 และ GFC ปี 2008 ค่ะ
กรณีหลังวิกฤติ 2008 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน (โดยเฉพาะช่วงโควิด 2020-2021) ก็เห็นว่า P/E โดดไปโซนสูงมาก บางจุดเข้าใกล้ +2SD หากในอนาคตเกิดปัจจัยลบที่ “ใหญ่พอ” เช่น ดอกเบี้ยพุ่งแรงติดต่อกันหลายไตรมาส หรือเหตุการณ์ภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง กำไรของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้า กราฟ P/E อาจร่วงกลับลงโซน -1SD หรือค่าเฉลี่ยได้
ส่วนเรื่องใหญ่ที่พูดกันตอนนี้คือ AI Bubble หรือไม่นั่นเองค่ะ
👉🏻 แล้วนักลงทุนมือใหม่ควรทำอย่างไร?
📌 ทำความเข้าใจพื้นฐานธุรกิจและโมเดลการทำกำไร
แม้ตลาดจะเทรดที่ P/E สูง แต่ถ้าบริษัทมีโอกาสสร้างกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว P/E ที่สูงอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผล
ในทางกลับกัน ถ้า P/E สูงแล้วกำไรไม่โต หรือธุรกิจเริ่มอิ่มตัว ความเสี่ยงที่ราคาจะปรับลงก็ยิ่งมากขึ้น
📌 ติดตามนโยบายธนาคารกลาง (Fed) และแนวโน้มดอกเบี้ย
ถ้า Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเพราะเงินเฟ้อสูง ตลาดหุ้นมักโดนกดดันให้ P/E ปรับลด (เพราะคนอาจหันไปซื้อพันธบัตรดอกเบี้ยสูงได้แทน)
การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อสภาพคล่องและบรรยากาศการลงทุนมหาศาล
📌 วางแผน Asset Allocation
สำหรับมือใหม่ อย่าใส่เงินทั้งหมดในหุ้นสหรัฐฯ เพียงตลาดเดียวแม้ว่าจะเป็นตลาดใหญ่ ลองกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ หรือภูมิภาคอื่นด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง
P/E ไม่ได้บอก “จุดเข้าซื้อ–ขาย” ตายตัว แต่มันเป็นตัวบอกว่า “ตลาดถูกมองว่าถูกหรือแพง” เมื่อเทียบกับอดีต
📌 จับตาความผันผวน (Volatility)
ตลาดที่เทรดในโซน +1SD หรือ +2SD มีแนวโน้มเกิด “แรงเทขาย” ได้ไวและรุนแรงเมื่อมีปัจจัยลบ จึงต้องเตรียมใจว่าระหว่างทางอาจเจอความผันผวนสูง
📌 อย่ายึดติดกับค่าเฉลี่ยระยะสั้น
ค่า P/E บางทีอาจยังสูงต่อได้อีกหลายปี หากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ (ดอกเบี้ยต่ำ, กระแสเงินทุนไหลเข้า, การเติบโตของบริษัท) ยังแข็งแรง
ไม่มีใครรู้จุดจบของ “ตลาดแพง” นี้ว่าจะพลิกเมื่อไร จึงควรพิจารณาข้อมูลหลายด้านให้รอบคอบ
🎯 สรุป
หลังวิกฤติ 2008 ค่า P/E ของ S&P500 ขยับตัวสูงขึ้นเหนือค่าเฉลี่ย (10Y Average) จนถึงขั้นเกาะในช่วง +1SD ถึง +2SD แทบตลอดเวลา โดยเหตุผลหลักมาจากการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE), ดอกเบี้ยต่ำ, การซื้อหุ้นคืน (Share Buyback), การเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี, และความคาดหวังว่ากำไรบริษัทจะเติบโตต่อไป
อย่างไรก็ตามบทเรียนในอดีตเคยสอนเราว่า ตลาดเคยถูกลากขึ้นไปสูงเกินไปจนเกิดการปรับฐานแรง (เช่น Dot-Com ปี 2000) หรือเจอวิกฤติแทรกซ้อน (เช่น 2008) ก็ทำให้ราคาหุ้นร่วงหนักจนค่า P/E ดิ่งกลับลงมา
ดังนั้นนักลงทุนควร 1. ศึกษาปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มกำไรของบริษัท 2. ติดตามนโยบายของ Fed และตัวเลขเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อ, ดอกเบี้ย) อย่างใกล้ชิด 3. กระจายความเสี่ยง 4. เตรียมพร้อมรับมือความผันผวน และเน้นการลงทุนระยะยาวโดยอิงปัจจัยพื้นฐานมากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น
ปล. P/E สูง อาจแปลว่าตลาดมีความหวังต่ออนาคตว่าจะดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ยิ่งราคาขึ้นสูง ความเสี่ยงก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันค่ะ
โฆษณา