20 ม.ค. เวลา 15:50 • การเมือง

ปูตินมีทีท่าอย่างไร เทียบทรัมป์สมัยแรกกับสมัยสอง

ขณะที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สอง เครมลินกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าการกลับมาของเขาจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียและความมุ่งมั่นของมอสโกในยูเครนอย่างไร
1
แม้ว่าเครมลินจะมีความยินดีต้อนรับการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์ด้วยความกระตือรือร้น ทว่าในสมัยสองความสัมพันธ์กลับเย็นชาลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างคาดเดาไม่ถึงว่าจะชนะถล่มทลายท่ามกลางสงครามที่ปูติน กำลังทุ่มสุดตัวในยูเครน และทรัมป์ยืนกรานว่าเขาจะเข้ามาแก้ไขในเร็วๆ นี้
เราลองมาดูวิธีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของเครมลินที่กล่าวถึงทรัมป์ในสมัยแรก และน้ำเสียงของพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรตั้งแต่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง
เครดิตภาพ: Mikhail Svetlov / Getty Images
“โดนัลด์ ทรัมป์ ขอให้ส่งคำอวยพรแก่ชาวรัสเซียมีความสุขและเจริญรุ่งเรือง โดยกล่าวว่าชาวอเมริกันมีความรู้สึกดีๆ ต่อรัสเซียและพลเมืองของรัสเซีย” เครมลินเขียนสรุปการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์กับปูตินเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2017 ซึ่งขณะนั้นทรัมป์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยแรก และตามข่าวเผยแพร่ของมอสโก เขากับปูตินได้เริ่มต้นไปในทางที่ดี
“ปูตินเน้นย้ำว่าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย โดยเสริมว่าตลอดกว่าสองศตวรรษที่ผ่านมา รัสเซียสนับสนุนสหรัฐ เป็นพันธมิตรระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง และปัจจุบันมองว่าสหรัฐเป็นหุ้นส่วนหลักในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ผู้นำทั้งสองตกลงที่จะรักษาช่องทางติดต่อส่วนตัวเป็นประจำ การสนทนาเกิดขึ้นในบรรยากาศที่เป็นบวกและสร้างสรรค์”
1
อ้างอิง: [1]
เครมลินมักจะเผยแพร่สรุปบทสนทนาระหว่างปูตินกับผู้นำโลกคนอื่นๆ เป็นประจำ โดยเน้นย้ำถึงมุมมองของรัสเซียผ่านการโทรศัพท์คุยกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าหัวข้อการสนทนาก็คือโฆษกเครมลินได้อธิบายถึงบรรยากาศของการสนทนาทางโทรศัพท์อย่างไร และแม้ว่าจะไม่มีทางทราบอย่างแน่ชัดว่าบรรยากาศเป็นอย่างไรเมื่อทรัมป์และปูตินพูดคุยทางโทรศัพท์กันเมื่อมกราคม 2017 แต่เครมลินก็ได้บรรยายว่าบรรยากาศเป็นมิตรและให้ความร่วมมือกันตลอดสมัยแรกของทรัมป์
จากการโทรศัพท์คุยกันแบบตัวต่อตัวระหว่าง “ทรัมป์” และ “ปูติน” ทั้งหมด 17 ครั้งที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทางการของเครมลิน นอกจากการโทรศัพท์แสดงความยินดีครั้งแรกแล้ว มี 6 ครั้งที่เครมลินมีการระบุว่าเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และแสวงหาความร่วมมือกัน ยกตัวอย่างเช่น
2
  • “โดยรวมแล้วการสนทนาของผู้นำทั้งสองเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นทางการ โดยเน้นไปที่การเอาชนะปัญหาสะสมในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและอเมริกา” เครมลินให้ความเห็นในการโทรคุยกันระหว่างปูตินกับทรัมป์เมื่อมีนาคม 2018 หัวข้อเรื่อง “ความร่วมมือเชิงปฏิบัติในด้านต่างๆ” [2]
  • “พวกเขาแสดงความพึงพอใจกับการสนทนาที่สร้างสรรค์และมีสาระ” เครมลินกล่าวถึงการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อพฤษภาคม 2020 ซึ่งรายงานว่าผู้นำทั้งสองแลกเปลี่ยนคำทักทายก่อนวันครบรอบ 75 ปีการพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และหารือเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 [3]
  • “การสนทนาเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และมีสาระ” เครมลินกล่าวซ้ำอีกครั้งเมื่อกรกฎาคม 2020 เกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีความพยายามทวิภาคี “เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” [4]
เครดิตภาพ: Getty Images
ข้อกล่าวอ้างที่ว่าทั้งสองฝ่าย “แสดงความพึงพอใจ” กับการสนทนาของพวกเขาถูกกล่าวถึงสามครั้ง รวมถึงในการสรุปบทสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อพฤศจิกายน 2017 ซึ่งเน้นไปที่สถานการณ์ในซีเรียในขณะนั้นเป็นหลัก รวมถึง “ความพยายามร่วมกันต่อต้านการก่อการร้าย”
เครมลินยังเน้นย้ำถึงการที่ปูตินขอบคุณทรัมป์และสหรัฐฯ สำหรับการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ “ข้อมูลที่ส่งผ่านหน่วยข่าวกรองซึ่งช่วยขัดขวางการก่อการร้ายในรัสเซีย” ไปจนถึง “การจัดหาเครื่องช่วยหายใจให้กับสหรัฐฯ” ในช่วงการระบาดของโควิด-19
สรุปการสนทนาทางโทรศัพท์ในปี 2019 ระบุว่าเมื่อทรัมป์เสนอความช่วยเหลือในการดับไฟป่าในไซบีเรีย ปูติน “แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจสำหรับความเอาใจใส่และข้อเสนอความช่วยเหลือ” (แม้ว่ารายงานข่าวทั่วไประบุว่าเขาปฏิเสธความช่วยเหลือดังกล่าวโดยไม่จำเป็นก็ตาม) [5]
  • สัญญาณเริ่มส่งออกมาจากวอชิงตัน
1
อนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์และปูตินจะสดใสเหมือนที่เคยหรือไม่นั้นยังไม่แน่นอน ประการหนึ่งตอนทรัมป์ดำรงตำแหน่งสมัยแรกไม่ได้เป็นไปตามที่รัสเซียคาดหวัง แม้ว่าทรัมป์จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรในอัตราที่น้อยกว่าที่รัฐบาลโอบามาดำเนินการหลังจากที่รัสเซียผนวกไครเมียในปี 2014 แต่เขาก็ยังคงเข้มงวดมาตรการมากขึ้น [6]
ซึ่งมันแทบจะไม่ได้ช่วยผ่อนหนักให้เบาลงตามที่มอสโกคาดหวังเลย ยิ่งไปกว่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงมากมายนับตั้งแต่นั้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเต็มรูปแบบในยูเครน ซึ่งทรัมป์ประกาศว่าเขาจะแก้ปัญหาด้วยการบังคับให้มอสโกและเคียฟตกลงทำข้อตกลงสันติภาพกัน
วันรุ่งขึ้นหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา “ดมิทรี เปสคอฟ” โฆษกเครมลินกล่าวว่าเขาไม่ทราบแผนของปูตินที่จะโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับทรัมป์ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็น “ประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย” [7]
ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2024 เขาปฏิเสธรายงานที่ว่าผู้นำทั้งสองได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น (อย่างน้อยก็อย่างเป็นทางการ) ปูตินใช้ช่วงถาม-ตอบหลังจากสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2024 ที่ Valdai Discussion Club เพื่อแสดงความยินดีกับทรัมป์โดยอ้อม (ซึ่งเปสคอฟชี้แจงในภายหลังว่าควร “ถือเป็นทางการ”) [8][9]
2
ปูตินยังบอกเป็นนัยด้วยว่าเขาไม่ใช่คนที่จะเริ่มคุยก่อน “มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผู้นำของประเทศตะวันตกโทรหาผมเกือบทุกสัปดาห์ จากนั้นก็หยุดทันที” ปูตินกล่าวที่วัลได “ถ้าพวกเขาไม่ต้องการ [คุย] ก็ไม่จำเป็นต้องคุย ดังที่คุณเห็น เรายังมีชีวิตและสบายดี เรากำลังพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า หากใครต้องการกลับมาติดต่ออีกครั้ง ผมพูดมาตลอดและอยากพูดอีกครั้งว่า เราไม่มีอะไรขัดข้อง” [9]
1
ปูตินกับทรัมป์ในที่ประชุมสุดยอด G20 เมื่อปี 2019 เครดิตภาพ: Susan Walsh / AP
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2025 “ไมค์ วอลทซ์” ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ กล่าวกับ ABC News ว่า คาดว่าทรัมป์จะพูดคุยทางโทรศัพท์กับปูติน “ในอีกไม่กี่วันหรือสัปดาห์ข้างหน้านี้” [10]
เมื่อถูกถามสามวันต่อมาว่าผู้นำคนใดควรยกสายขึ้นก่อน “ยูริ อุชาคอฟ” ผู้ช่วยคนหนึ่งของปูตินชี้แจงอย่างชัดเจนว่าทรัมป์จะต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน “โดยธรรมเนียมแล้ว ประธานาธิบดีหรือหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่จะเป็นผู้โทรศัพท์ก่อน” อุชาคอฟอธิบาย “ผมไม่อยากให้ดูเหมือนว่าเรานั่งรอเฉยๆ เราเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดอย่างใจเย็น และรู้ว่าไม่ช้าก็เร็ว จะต้องมีสัญญาณบางอย่างจากวอชิงตัน” [11]
เรียบเรียงโดย Right Style
1
20th Jan 2025
3
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: SLATE>
โฆษณา