21 ม.ค. เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

‘ประเทศในเอเชีย’ เตรียมซื้อพลังงานสหรัฐมากขึ้น เพื่อจะได้คุยภาษีทรัมป์ง่ายกว่าเดิม

เหล่า ‘ประเทศในเอเชีย’ ต่างหันมาพิจารณาการซื้อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐมากขึ้น เพื่อต้องการเอาอกเอาใจ “โดนัลด์ ทรัมป์” และช่วยเสริมการเจรจาภาษีกับรัฐบาลทรัมป์ให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
สาเหตุมาจากการที่ทรัมป์ได้ขู่ว่า จะเก็บภาษีเพิ่มเติมกับหลายประเทศที่มีดุลการค้าเกินสหรัฐ จนทำให้ผู้กำหนดนโยบายจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และสหภาพยุโรปต้องพิจารณาการจัดหาพลังงานจากสหรัฐมากขึ้น
“บรรดาประเทศคู่ค้าสหรัฐกำลังพิจารณาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐ เพื่อช่วยเรื่องการเจรจาภาษีกับรัฐบาลทรัมป์ให้ง่ายขึ้น” ซอล คาวอนิก นักวิเคราะห์พลังงานจาก MST Marquee กล่าว
เขายังเสริมอีกว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนและรวดเร็วในการหาผลิตภัณฑ์พลังงานจากสหรัฐนับตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะช่วยให้ทรัมป์ ซึ่งให้สัญญากับฐานเสียงว่าจะหันกลับไปสู่เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเข้มข้น สามารถขยายการส่งออกก๊าซของสหรัฐ โดยเตรียมเพิ่มการผลิตเป็นสองเท่าภายในปี 2030 และช่วยให้ผู้พัฒนาโครงการชาวอเมริกันได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
เป็นที่คาดว่า ทรัมป์จะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซภายในประเทศทันทีหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันจันทร์นี้ และอาจรวมถึงการยกเลิกคำสั่งของผู้บริหารก่อนหน้า ซึ่งโจ ไบเดน ได้ห้ามการออกใบอนุญาตใหม่สำหรับโครงการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว
“สำหรับการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ถือเป็น ‘ข่าวดี’ สำหรับอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค เนื่องจากอาจช่วยปรับสมดุลราคาก๊าซได้” คาซูฮิโระ อิเคเบะ ประธานบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าภูมิภาคญี่ปุ่น Kyushu Electric Power กล่าว
ในขณะนี้ ประเทศต่างๆ รวมถึงญี่ปุ่นและไทย ได้เริ่มต้นการเจรจากับโครงการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยพวกเขากล่าวว่า พร้อมที่จะลงนามในสัญญากับสหรัฐ หากราคามีความเหมาะสม
ทั้งนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งของการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐ ไปยังยุโรปในปีที่แล้ว และการขาดแคลนการไหลของก๊าซจากท่อส่งรัสเซียตั้งแต่ต้นปี หมายความว่า ทวีปยุโรปอาจต้องหันมาซื้อก๊าซจากสหรัฐ เพื่อนำมาชดเชยช่องว่างดังกล่าว โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์เตือนสหภาพยุโรปว่า สินค้าของประเทศสมาชิกจะได้รับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐ หากไม่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากอเมริกามากขึ้น
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightforOpportunities #กรุงเทพธุรกิจEconomic
โฆษณา