เมื่อวาน เวลา 10:45 • ข่าวรอบโลก

ความเหงาฆ่าคนได้ หญิงสูงวัยญี่ปุ่นเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายในเรือนจำมากขึ้น

ปัญหาการขาดสวัสดิการในญี่ปุ่น ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนเลือกกระทำความผิดเพราะต้องการเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งมีข้าวฟรี-คนช่วยดูแล
ในขณะที่ผู้สูงอายุในหลายประเทศอาจเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในบ้านพักคนชรา แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยเฉพาะหญิงสูงอายุ กลับเลือกที่จะฝากชีวิตไว้กับ “เรือนจำ”
ที่เรือนจำหญิงโทจิงิ เรือนจำหญิงที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของโตเกียว เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ พวกเธอเดินไปตามทางเดินอย่างช้า ๆ บางคนใช้ไม้ค้ำยัน มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยอาบน้ำ กินข้าว เดิน และให้ทานยา
ห้องขังในเรือนจำฟูชู (แฟ้มภาพ)
ประชากรที่นี่สะท้อนให้เห็นสังคมผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ และ “ปัญหาความเหงา” กำลังเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่ทำให้ผู้สูงอายุบางคนจนอยากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตลอดไป
ชิรานากะ ทาคาโยชิ เจ้าหน้าที่เรือนจำหญิงโทจิงิ กล่าวว่า “มีคนบางคนที่บอกว่า พวกเธอจะยอมจ่ายเงิน 20,000 หรือ 30,000 เยน (ราว 4,400-6,600 บาท) ต่อเดือน เพื่อใช้ชีวิตที่นี่ตลอดไป”
อากิโยะ (นามสมมติ) นักโทษหญิงคดีลักขโมยอาหารวัย 81 ปี บอกว่า “มีคนดี ๆ มากมายในเรือนจำแห่งนี้ บางทีชีวิตแบบนี้อาจเป็นชีวิตที่มั่นคงที่สุดสำหรับฉัน”
นักโทษหญิงเหล่านี้ต้องอยู่หลังลูกกรงและต้องทำงานในโรงงานของเรือนจำ แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะพวกเธอจะได้รับอาหารเป็นประจำ ได้รับการดูแลสุขภาพฟรี และมีคนดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงมิตรภาพที่พวกเธอหาไม่ได้จากโลกภายนอก
โยโกะ (นามสมมติ) นักโทษหญิงวัย 51 ปี ถูกจำคุกในข้อหาค้ายาเสพติดถึง 5 ครั้งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เธอบอกว่า ทุกครั้งที่เธอกลับมา นักโทษในเรือนจำก็ดูเหมือนจะแก่ตัวลง
“บางคนทำสิ่งเลวร้ายโดยตั้งใจและยอมให้จับ เพื่อที่พวกเธอจะได้กลับมาที่เรือนจำอีกครั้ง หากพวกเธอไม่มีเงิน” โยโกะกล่าว
อากิโยะเข้าใจถึงผลกระทบของความโดดเดี่ยวและความยากจนเป็นอย่างดี นี่เป็นครั้งที่สองที่เธอถูกจำคุกในเรือนจำ หลังจากเคยถูกจำคุกในวัย 60 ปีในข้อหาขโมยอาหารเช่นกัน “ถ้าฉันมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและมีชีวิตที่สุขสบาย ฉันคงไม่ทำอย่างแน่นอน”
เมื่อเธอได้ก่ออาชญากรรมลักขโมยเป็นครั้งที่สอง อากิโยะใช้ชีวิตด้วยเงินบำนาญเพียงเล็กน้อยที่จ่ายให้เพียง 2 เดือนครั้ง “เมื่อเหลือเงินราว ๆ 6,200 เยน (ราว 700 บาท) และอีก 2 สัปดาห์จะถึงวันจ่ายเงินครั้งต่อไป ฉันตัดสินใจผิดพลาดและลักขโมยของในร้าน โดยคิดว่ามันคงเป็นเรื่องเล็กน้อย”
ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัวที่น้อย อากิโยะจึงหยุดสนใจอนาคตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเธอ ลูกชายวัย 43 ปีของเธอ ซึ่งอาศัยอยู่กับเธอก่อนที่เธอจะถูกจำคุก มักบอกกับเธอว่า “ผมหวังว่าแม่จะไปให้พ้น ๆ ซะที”
เธอกล่าวว่า “ฉันรู้สึกเหมือนไม่อยากสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นอีกต่อไป ฉันคิดว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีชีวิตอยู่ และฉันแค่อยากตาย”
การลักทรัพย์เป็นอาชญากรรมที่พบบ่อยที่สุดในหมู่ผู้ต้องขังสูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ในปี 2022 ผู้ต้องขังหญิงสูงอายุทั่วประเทศมากกว่า 80% ถูกจำคุกในข้อหาลักทรัพย์
บางคนทำเพื่อความอยู่รอด ตามข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประชากรญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 65 ปี 20% อาศัยอยู่ในความยากจน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 14.2% ของประเทศสมาชิก 38 ประเทศ
ชิรานากะกล่าวว่า “มีคนมาที่นี่เพราะอากาศหนาว หรือเพราะพวกเธอหิว ผู้ที่ล้มป่วยสามารถรับการรักษาพยาบาลฟรีในขณะที่อยู่ในเรือนจำ แต่เมื่อพวกเธอออกไปแล้ว พวกเธอต้องจ่ายเงินเอง ดังนั้นบางคนจึงต้องการอยู่ที่นี่ให้นานที่สุด”
ในญี่ปุ่น จำนวนผู้ต้องขังที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตั้งแต่ปี 2003 ถึงปี 2022 ซึ่งได้เปลี่ยนธรรมชาติของการคุมขัง
“ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้พวกเธอ ช่วยอาบน้ำให้พวกเธอ ให้พวกเธอได้กินอาหาร ตอนนี้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในบ้านพักคนชรามากกว่าเรือนจำที่เต็มไปด้วยนักโทษที่ถูกตัดสินจำคุก” ชิรานากะกล่าว
เมงุมิ (สงวนนามสกุล) เจ้าหน้าที่เรือนจำโทชิงิ กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของผู้ต้องขังที่พ้นโทษคือการขาดการสนับสนุนเมื่อพวกเธอกลับเข้าสู่สังคม
“แม้ว่าพวกเธอจะได้รับการปล่อยตัวและกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว แต่พวกเธอก็ไม่มีใครดูแลอยู่ดี นอกจากนี้ยังมีผู้คนอีกหลายคนที่ถูกครอบครัวทอดทิ้งหลังจากก่ออาชญากรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเธอไม่มีที่พึ่ง” เมงุมิบอก
เจ้าหน้าที่ได้ยอมรับปัญหาดังกล่าว โดยกระทรวงสวัสดิการญี่ปุ่นได้กล่าวในปี 2021 ว่า ผู้ต้องขังสูงอายุที่ได้รับการสนับสนุนหลังจากออกจากเรือนจำมีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือมาก
กระทรวงฯ ได้เพิ่มความพยายามในการแทรกแซงในระยะเริ่มต้นและศูนย์สนับสนุนชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เปราะบางได้ดีขึ้น
กระทรวงยุติธรรมยังได้เปิดตัวโครงการสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอิสระ การฟื้นฟูจากการติดสารเสพติด และวิธีการจัดการความสัมพันธ์ในครอบครัว
ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาข้อเสนอเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น โดยเทศบาล 10 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นกำลังทดลองโครงการเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุที่ไม่มีญาติสนิท แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเพียงพอหรือไม่ ในประเทศที่ประชากรมีอายุขัยยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและมีอัตราการเกิดต่ำ
ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนญี่ปุ่นจะต้องมีพนักงานดูแล 2.72 ล้านคนภายในปี 2040 ตามข้อมูลของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้กำลังดิ้นรนเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และนำเข้าแรงงานต่างชาติมาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว
เรื่องนี้เห็นได้ชัดในเมืองโทชิงิ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้อง “ขอให้นักโทษที่มีวุฒิการศึกษาด้านการพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุมาช่วยดูแลนักโทษสูงอายุคนอื่น ๆ อย่างจริงจัง” เมงุมิกล่าว
โยโกะเป็นหนึ่งในผู้ดูแลดังกล่าว โดยเธอได้รับวุฒิการศึกษาในช่วงโทษจำคุกครั้งสุดท้าย ปัจจุบัน เมื่อเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่มีเพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุ เธอก็ช่วยนักโทษคนอื่นอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า
สำหรับ อากิโยะซึ่งพ้นโทษในเดือน ต.ค. 2024 ให้สัมภาษณ์ 1 เดือนก่อนได้รับการปล่อยตัวว่า เธอรู้สึกละอายใจและกลัวที่จะเผชิญหน้ากับลูกชาย เธอวางแผนที่จะขอโทษและขอให้เขาอภัย แต่กล่าวว่า “ฉันกลัวว่าเขาจะมองฉันอย่างไร”
เธอเสริมว่า “การอยู่คนเดียวเป็นเรื่องยากมาก และฉันรู้สึกละอายใจที่ต้องมาอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ฉันรู้สึกจริง ๆ ว่าถ้าฉันมีจิตใจที่เข้มแข็งกว่านี้ ฉันคงใช้ชีวิตแบบอื่นได้ แต่ตอนนี้ฉันแก่เกินไปแล้วที่จะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้”
เรียบเรียงจาก CNN
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/240986
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา