Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 07:03 • ข่าว
3 ปี อุบัติเหตุ "หมอกระต่าย" พฤติกรรมใช้ทางม้าลายมีอะไรเปลี่ยนแปลง
ด้าน "แม่" ยื่น 3 ข้อเสนอเพิ่มปลอดภัย
ผ่านมาแล้ว 3 ปี กับเหตุการณ์บิ๊กไบค์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเสียชีวิต ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565
●
สถานการณ์และพฤติกรรมการใช้ทางม้าลายของคนไทยเป็นอย่างไรกันบ้าง?
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 ที่สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน มูลนิธิเมาไม่ขับ กทม. และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม 21 มกราคม “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ทางม้าลายปลอดเหตุ ทั่วประเทศปลอดภัย
ภายในงาน กลุ่มเครือข่ายผู้สูญเสียได้ยื่นข้อเสนอแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุต่อรัฐสภา พร้อมร่วมกันไว้อาลัย จุดเทียนวางดอกไม้ บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จุดทางม้าลายที่เกิดอุบัติเหตุหมอกระต่าย พร้อมแสดงสัญลักษณ์ เปิดไฟหน้ารถ หรือเปิดไฟฉายที่โทรศัพท์มือถือ เป็นเวลา 1 นาที
●
สถานการณ์อุบัติเหตุในไทย
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 17,498 ราย เฉลี่ยวันละ 48 ราย มีผู้ที่กลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตเฉลี่ยปีละ 10,000 คน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
กิจกรรมในวันนี้เป็นการรำลึกถึงการจากไปครบรอบ 3 ปี ของ หมอกระต่าย ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2565 – 21 ม.ค. 2566 เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมูลนิธิเมาไม่ขับ สอจร. ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กร รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 21 มกราคม ของทุกปีเป็น วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน
"ไม่เพียงแต่กรณีของหมอกระต่าย แต่ยังเป็นการรำลึกถึงเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน และเตือนใจประชาชนให้ร่วมมือกันสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนทุกเพศ ทุกวัย และผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทอย่างจริงจัง” นายสุรชัย กล่าว
●
พฤติกรรมหยุดรถที่ทางม้าลาย
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดในกทม.ปี 2565 พบว่า
- หยุดรถ ลดความเร็วบริเวณทางม้าลาย 11%
- ใช้ความเร็วบนทางม้าลายเกิน 30กม./ชม. มากถึง 79% ก่อนถึงทางม้าลาย เป็นรถจักรยานยนต์ถึง 90% รองลงมาคือรถยนต์ และ รถโดยสารสาธารณะ
- ในกลุ่มผู้ขับขี่ Food Delivery พบว่า 56% จอดล้ำเส้นทางม้าลาย ขับรถด้วยมือข้างเดียว ในขณะที่มืออีกข้างถือโทรศัพท์
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร
“ความเร็ว” เป็นปัจจัยสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 70% องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า การใช้ความเร็วระหว่าง 30 กม./ชั่วโมง ในพื้นที่ชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด หรือสถานที่ราชการ จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ถึง 90%
การควบคุมความเร็วในพื้นที่เหล่านี้จึงไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ แต่ยังเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องชีวิตผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ซึ่งสสส.และเครือข่าย จะร่วมกันทำงานในประเด็นความเร็วเน้นในเขตชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุต่อไป
ความปลอดภัยทางถนนเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การกำหนดวันที่ 21 มกราคม ของทุกปีให้เป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการสร้างวัฒนธรรมการใช้ถนนอย่างปลอดภัย และยั่งยืน
นางเบญจมาภรณ์ กล่าวว่า ข้อมูลอุบัติเหตุ คือพื้นฐานสำคัญในการลดความสูญเสีย การเก็บข้อมูลอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ วางแผน และกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สสส. ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และกองป้องกันการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข ในการบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจาก 3 ฐานข้อมูลหลัก ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ระบบข้อมูลนี้พัฒนาให้ทันสมัย สามารถแสดงผลในรูปแบบ Dashboard ที่ใช้งานง่าย ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก พร้อมสนับสนุนการกำหนดนโยบายหรือมาตรการลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
●
3 ข้อเสนอสร้างทางม้าลายปลอดภัย
นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล คุณแม่ของคุณหมอกระต่าย ในฐานะประธานเครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน กล่าวว่า ในโอกาส “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ภาคีเครือข่ายพลังผู้สูญเสียฯ และได้มีข้อเสนอนโยบาย 3 ข้อต่อรัฐสภาและหน่วยงาน ดังนี้
1. สร้างทางม้าลายปลอดภัย และปรับปรุงพื้นที่ทางม้าลายให้เห็นชัดเจน มีสัญญาณป้ายไฟบอกตำแหน่งทางม้าลาย หรือสัญญาณป้ายไฟ ป้ายเตือนลดใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ป้ายตำแหน่งทางข้าม ป้ายระวังคนข้ามถนน
หรือตีเส้นซิกแซกสีขาวบนถนน เป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้ขับขี่ระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่วง 15 เมตร ก่อนถึงทางข้ามหรือทางม้าลาย เพื่อให้รถลดความเร็ว และควรปรับปรุงทางม้าลายที่อยู่จุดเสี่ยง เช่น หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล หน้าสถานที่ราชการ ตลาด
นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล
2. การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และกำหนดการใช้ความเร็วในเขตเมืองไม่เกิน 50 กม./ชม.สำหรับรถทุกประเภท
3. ลดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ผู้สูญเสียสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค
แม้สถิติการบาดเจ็บจะลดลง แต่การตายและความพิการยังสูง อุบัติเหตุทำให้เครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุฯ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
นอกจากความสูญเสีย ยังได้รับผลกระทบทางจิตใจ สุขภาพ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิต ขาดผู้นำ สูญเสียอนาคตของครอบครัว อุบัติเหตุที่เกิดกับหมอกระต่ายนั้นสร้างความเจ็บปวดแก่ครอบครัว เช่นเดียวกับครอบครัวอื่น ๆ ที่ในแต่ละปีที่มีคนอันเป็นที่รักต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
ข่าว
ยานยนต์
การคมนาคมและขนส่ง
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย