Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Health Story - เฮ้วนี้มีเรื่อง
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 10:08 • สุขภาพ
"บุหรี่" ทำคนไทยตายก่อนวัยรวม 3.35 ล้านปี
ห่วงผู้หญิงอายุเฉลี่ยสั้นลงเท่าผู้ชาย หาก "บุหรี่ไฟฟ้า" ถูก กม.
การสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทย หมายถึงผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนไทยตายก่อนวัยอันควรหรือสูญเสียปีสุขภาวะอย่างมากคือการสูบบุหรี่
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเติมทักษะ ที่เป็นประโยชน์ในการเสริมสมรรถนะการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้กับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจาก 52 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การต่อสู้กับสงครามบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ต้องเกิดจากการรวมพลังกันทุกภาคส่วน บุหรี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ ข้อมูลการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทย ปี 2562 พบว่า บุหรี่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะไปถึง 3.5 ล้านปีต่อปี เป็นอันดับที่ 1 ของภัยสุขภาพทั้งหมด
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนผู้หญิงอยู่ที่ 15% ในขณะที่ผู้หญิงไทยทุกกลุ่มอายุสูบบุหรี่แค่ 1.3% แต่หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนหญิงอาจจะเพิ่มไปถึง 30-40% เมื่อเขากลายเป็นผู้ใหญ่ก็จะติดบุหรี่ตามไปด้วย
ขณะเดียวกันอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 80 ปี มากกว่าผู้ชายไทยที่มีอายุเฉลี่ย 72 ปี ถึง 8 ปีเนื่องจากผู้ชายมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า แต่หากอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นจนอายุสั้นเท่ากับผู้ชายที่ 72 ปี
“วันนี้เรากำลังรบในสงครามที่ยากจะเอาชนะ เป็นสงครามทุนนิยมที่มีเงิน 1 ล้านล้านบาท แต่เรามีโอกาสชนะถ้ามีความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทุกภาคีเครือข่าย อาศัยความร่วมมือจากสื่อสาร ความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่จะช่วยสื่อสารกับสังคมได้รับรู้ เราต้องใช้ทุกช่องทางและทุกกระบวนในการสื่อสาร"
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
นพ.พงศ์เทพกล่าวว่า มีงานวิจัยว่า 1 บาทที่ได้ลงไปกับการทำงานด้านยาสูบ จะได้คืนมา 10 บาท ซึ่งเกิดจากอายุคนไทยที่ยืนยาวขึ้น แล้วกลับมาเป็นแรงงานของประเทศ ลดอัตราความพิการ ลดการป่วยติดเตียง แต่แต่ละบาทนั้นไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคนไทยที่แข็งแรงขึ้น
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยย้อนหลัง 30 ปีที่ผ่านมา ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถือว่าแนวโน้มดีขึ้น ปี 2564 พบประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.1 ล้านคน แต่มีคนสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน นั่นคือ จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 ล้านคน ในระหว่างปี 2534-2564
ขณะที่จำนวนคนที่สูบบุหรี่ไม่เพียงแต่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงเหลือ 10.9 ล้านคน นั่นคือลดลงจาก 12.3 ล้านคน ในปี 2534 ลดไป 1.4 ล้านคน แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาที่ท้าทายขึ้นมาใหม่จากการระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ที่ระบาดรุนแรงในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เป็นปัญหาระดับชาติ ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี พบว่า
การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า และมีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีช่องว่างทำให้สินค้าแพร่กระจายทั้งทางตรงและออนไลน์ แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย จึงจำเป็นที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันทั้งระดับนโยบายและการสื่อสารรณรงค์ที่ต่อเนื่อง
รวมถึงครูและผู้ปกครอง จะต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลง มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ที่ลดลงไปแล้วกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ
น.ส.แสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบของภาคีเครือข่ายมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 5 ภาคี ได้แก่ เครือข่ายสื่อมวลชนส่วนภูมิภาคปลอดบุหรี่ เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ เครือข่าย Gen Alpha ปลอดบุหรี่ เครือข่าย Gen Z GenStrong : เลือกไม่สูบ และเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ร่วมสนับสนุนการทำงานใน 4 ภารกิจหลัก
1. การผลักดันและสนับสนุนการพัฒนานโยบายและกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ
2. การปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
3. การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีในระดับชุมชนขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ
น.ส.แสงเดือน สุวรรณรัศมี
4. พัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้และสื่อสนับสนุนการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทสำคัญสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดบทเรียนการเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นทั่วประเทศ
ข่าว
สุขภาพ
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย