5 ชั่วโมงที่แล้ว • สิ่งแวดล้อม

‘สมศักดิ์’ เข้ม 5 มาตรการถึง สธ.ทั่วประเทศ รับมือฝุ่นพิษ หลังเริ่มกระทบสุขภาพคนไทย

☝️Click >> ‘สมศักดิ์’ ลงนามคำสั่งถึง สธ.ทั่วประเทศ รับมือฝุ่น PM 2.5 ชูเข้ม 5 มาตรการ ‘ให้ศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉินด้านการแพทย์เตรียมพร้อม-เร่งประชาสัมพันธ์ภัยสุขภาพ-สสจ.ลงพื้นที่ดูกลุ่มเปราะบาง-เพิ่มห้องปลอดฝุ่น-มุ้งสู้ฝุ่น-แจกหน้ากากอนามัย’
🔎Clear >> เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังจากได้ร่วมประชุมร่วมกับ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เพื่อหารือแนวทางการดูแลประชาชนในเรื่องฝุ่น PM 2.5
พร้อมทั้งได้ลงนามบันทึกข้อความถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เนื่องจากตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เรื่องการมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงขอแจ้งมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดังนี้…
1.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประจำปี 2568 เตรียมความพร้อม และดำเนินการตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 2172/2567 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2567 อย่างเคร่งครัด
2.เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ และการป้องกันตนเองจากภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น
3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสียง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลประชาชนในพื้นที่
4.ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง โดยเพิ่มบริการห้องปลอดฝุ่น และมุ้งสู้ฝุ่น รวมทั้งจัดตั้งคลินิก PM 2.5 การให้คำปรึกษาออนไลน์ในช่องทางต่างๆ โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยงจาก PM2.5 ด้วยการจัดทำห้องปลอดฝุ่น ซึ่งประชาชนสามารถทำเองได้ที่บ้าน
แต่ยังมีกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่ไม่สามารถทำห้องปลอดฝุ่นได้ ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ จึงถือเป็นทางเลือกในการช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุน ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ ไปแล้วกว่า 1,400 ชุด กระจายใน 35 จังหวัด โดย ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ เป็นนวัตกรรมที่ดัดแปลงมุ้งผ้าฝ้าย พร้อมกับกรองอากาศที่สะอาดผ่านเครื่องกรองอากาศเข้าไปภายในมุ้ง เกิดเป็นสภาพห้องแรงดันบวกขึ้น ทำให้ดันฝุ่นออกมานอกมุ้งและกันไม่ให้ฝุ่นลอดเข้ามาในมุ้ง ให้มีลักษณะคล้ายกับ 'แอร์มุ้ง' ซึ่งสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้กว่า 70%
“ประเทศไทยมีกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานกว่า 40,000 ราย ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ จะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคผิวหนัง, โรคเยื่อบุตา, โรคหอบหืด และโรคมะเร็งปอด ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง สามารถสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้านได้
การจัดทำ ‘มุ้งสู้ฝุ่น’ ใช้งบประมาณไม่เกิน 5,000 บาทต่อชิ้น และจะช่วยลดค่าใช้จ่าย หากต้องมีการรักษาพยาบาลได้ โดยค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยเกินกว่า 50,000 บาทต่อราย” นายสมศักดิ์ กล่าว
และ 5.ให้สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย น้ำเกลือ กระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูก จึงขอให้แจ้งหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติต่อไปด้วย
ที่มา: Naewna / กระทรวงสาธารณสุข
โฆษณา