21 ม.ค. เวลา 13:19 • ความคิดเห็น

ว่าด้วยความอิจฉา (Envy)

บาปเจ็ดประการในศาสนาคริสต์นั้นประกอบด้วย อัตตา (Pride) โทสะ (Wrath) ความโลภ (Greed) ริษยา (Envy) ตะกละ (Gluttony) (Lust) และความเกียจคร้าน (Sloth) เป็นคำสอนที่พยายามตักเตือนผู้คนไม่ให้ทำตามสัญชาติญานของตัวเองหรือกิเลสตัวเองมากจนเกินไป
2
แต่ในบาปทั้งเจ็ดนั้น ชาร์ลี มังเกอร์ อดีตสุดยอดนักลงทุนในตำนานและผู้ที่ผู้คนยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีมีปรัชญาชีวิตที่คมคาย มีชีวิตที่คุ้มค่าจนเสียชีวิตในวัยเก้าสิบเก้าปี เคยพูดไว้ว่า “Envy is the dumbest of the seven deadly sins because it’s the only one you can’t have any fun at all with.” หรือแปลง่ายๆ ว่า ความอิจฉาตาร้อนที่เป็นหนึ่งในบาปทั้งเจ็ดนั้นแย่ที่สุดเพราะเป็นความรู้สึกที่ไม่สนุกอะไรเลย อย่างน้อยอีกหกอันนั้นยังมีความสุขระยะสั้นอยู่บ้าง เป็นคำพูดขำๆแต่น่าพิจารณาอยู่ไม่น้อย
ชาร์ลีเคยเล่าไว้ในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่า ในช่วงเวลาร้อยปีที่ผ่านมา มนุษยชาติพัฒนามาไกลมาก คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมไม่รู้กี่เท่าจากการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่ก่อนนี่ถ้าอยากมีลูกสามคนต้องพยายามมีหกเพราะจะตายไปสามจากโรคภัยต่างๆ ปัจจัยสี่ก็ครบถ้วนสมบูรณ์และความยากจนแทบจะหมดไปจากโลกในหลายประเทศ แต่ทั้งทุกอย่างดีขึ้นไปหมด ผู้คนกลับดูจะมีความสุขน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก
1
ชาร์ลีอธิบายอย่างง่ายๆว่าเหตุที่คนเรามีความสุขน้อยลงก็เพราะโลกถูกขับเคลื่อนด้วยความอิจฉาริษยาเป็นหลักนั่นเอง
The world is not driven by greed but driven by “envy” ชาร์ลีบอกไว้แบบนั้น
ต่อให้คนเรามีชีวิตที่โอเคขึ้นแค่ไหนก็ไม่ได้คิดถึงแต่มักจะคิดแค่ว่าทำไมคนอื่นถึงมีมากกว่าแต่เราไม่มีแบบเขาบ้าง ความรู้สึกนี้ฝังอยู่ในใจมนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณนานนม ผู้คนรู้สึกว่าไม่แฟร์ ถูกเอาเปรียบไม่ว่าโลกจะดีขึ้นแค่ไหนเพราะก็จะมีคนที่มีมากกว่าให้อิจฉาเสมอ ชาร์ลีผู้ที่เคยยากลำบากมาก่อนบอกว่าเขาไม่สนใจแล้วว่าใครจะมีอะไร เขาก็เลยมีความสุขและสงบในใจมาอย่างยาวนาน
ชาร์ลีแนะนำเด็กๆรุ่นใหม่ว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกหมุนด้วยของฟุ่มเฟือยไร้สาระ เด็กรุ่นใหม่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงการบ้าไปกับมันเพราะไม่ได้มีความสุขอยู่ในนั้นจริงๆ มีแต่จะนำพามาซึ่งความอยากได้ใคร่มี ความไม่เคยพอและอิจฉาริษยาคนที่มีมากกว่าเสมอ
ในทางพุทธ ภาษาธรรมะเรียกว่า อิสสา เป็นสภาพของความขุ่นใจ ไม่พอใจในสิ่งที่คนอื่นได้ ไม่ว่าจะได้ลาภ ได้สักการะ ได้ความนับถือ หรือกราบไหว้บูชา ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี ในโลกแห่งโซเชียลมีเดียนั้นยิ่งเป็นเหมือนกับแหล่งเพาะเชื้อความอิจฉาให้กระจายหนักกว่าสมัยก่อนมาก เพราะคนโพสต์ก็มักจะโพสต์แต่เรื่องดีๆ
สวยงามกว่าความเป็นจริงเพื่อโอ้อวด คนเห็นก็ยากที่จะไม่อิจฉา ความอิจฉาริษยาถึงเป็นอารมณ์ที่รุนแรงของโลกและผลักดันการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับไปตามแรงอิจฉาไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือเหตุในที่ทำงานก้เห็นกันอยู่มาตลอด
1
สิ่งที่ตรงข้ามความอิจฉาในคำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือมุทิตาจิต หรือความรู้สึกยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี ปรารถนาดีกับผู้อื่นเมื่อเห็นเขาเจริญก้าวหน้า เป็นหนึ่งในพรหมวิหารสี่ซึ่งถ้าสามารถเกิดขึ้นในใจได้ ก็จะนำมาซึ่งความสุขสงบในใจและนำกัลยาณมิตรเข้ามาในชีวิต
1
แต่ในการมีมุทิตาจิตนั้นไม่ง่ายเลย จะต้องพยายามเตือนตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ช่วงที่ผมทำหลักสูตร abc กับพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ เราจะขึ้นคำว่ามุทิตาจิตก่อนเกมส์การแข่งขันระหว่างนักเรียนทุกครั้ง และจะเตือนว่าทุกคนคือเพื่อนกัน ใครชนะก็ขอให้ดีใจว่าเพื่อนเราได้ชัย ต้องลุกขึ้นปรบมือทุกครั้งเมื่อประกาศรางวัล ซึ่งพอบอกก่อนแบบนี้กิจกรรมที่จัดก็จะได้ผลดีและได้ผลแห่งความสามัคคีที่ตั้งใจไว้อยู่ทุกครั้ง
มุทิตาจิตกับผู้คนรอบข้างก็สำคัญมากๆโดยเฉพาะลูกน้องของเรา ผมเคยมีหัวหน้าที่รู้ได้เลยว่าเขาปรารถนาดีกับเรา อยากให้เราเก่งขึ้น อยากให้เราได้ดี ก็คือคุณซิกเว่ เบรกเก้ อดีตซีอีโอดีแทคสมัยที่ผมทำงานอยู่ พอรู้สึกได้ เราก็อยากที่จะทุ่มเททำงานให้กับเขาอย่างเต็มที่ มีอะไรก็จะพูดถึงเขาในทางที่ดีอยู่เสมอ ซึ่งก็เป็นผลจากมุทิตาจิตที่คุณซิกเว่มีต่อผม แต่พอผมมีลูกน้องก็ได้ใช้หลักการนี้ก้บลูกน้องเช่นกัน และก็พบว่าเราก็จะได้ทีมที่แข็งแรงและรักกันมาตลอด
การตัดความอิจฉาริษยานั้นไม่ง่ายเพราะมันซ่อนอยู่ในใจมนุษย์ทุกคน การมีมุทิตาจิต การที่พยายามลดความอยากได้ใคร่มีในของฟุ่มเฟือย การเข้าใจถึงสภาวะของโซเชียลมีเดียที่กระตุ้นความอิจฉาล้วนมีส่วนช่วยให้เราลดความอิจฉาริษยาให้น้อยลงได้ เพราะในที่สุดแล้ว ความอิจฉาริษยาก็เหมือนเราดื่มยาพิษเข้าตัวโดยที่คนที่เราอิจฉานั้นไม่รู้สึกรู้สาหรือไม่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะทำให้เราตัดสินใจอะไรผิดๆ ไปจากที่ควรจะเป็นก็ได้
2
เพราะมีแต่เราที่จะเป็นทุกข์และเป็นบาปที่แย่ที่สุดเพราะมันไม่สนุกเลยเหมือนที่ชาร์ลี มังเกอร์บอกไว้ในตอนต้นนั่นเอง…..
โฆษณา