22 ม.ค. เวลา 03:00 • ข่าวรอบโลก

ทรัมป์สั่งห้าม ข้ารัฐการWFH

.
เริ่มแล้วกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ยุค 2 หลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมเซ็นคำสั่งเพียบ ทั้งประกาศภาวะฉุกเฉินทางชายแดน ยกเลิกห้ามเด็กที่เกิดในอเมริกา แต่มาจากพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย หนูน้อยเหล่านี้จะไม่ได้สัญชาติอเมริกันทันที
.
รวมถึงจากนี้รัฐบาลกลางมีนโยบาย ให้เพศระบุแค่ ชายกับหญิงเท่านั้น ไม่มีเพศทางเลือกอื่นใดอีกต่อไป
ยังไม่นับคำสัญญาที่ลือลั่น ทั้งจากเปลี่ยนอ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวอเมริกา ตอนพูดเรื่องนี้ ฮิลลารี่ คลินตัน อดีตคู่ท้าชิงทรัมป์ ตอนลงแข่งประธานาธิบดีในปี 2016 เผลอหลุดขำ รวมถึงการขู่ว่าจะยึดคลองปานามาคืนจากจีนด้วย
.
มากันหลายคำสั่งเหลือเกิน แต่กระนั้นมันมีคำสั่งหนึ่งที่คนให้ความสนใจกันน้อยมาก ทั้งที่มีความสำคัญพอสมควร นั่นก็คือ การสั่งไม่ให้ข้ารัฐการในรัฐบาลกลางอเมริกา ทำงานที่บ้านอีกต่อไป พูดง่ายๆ ว่า ห้าม Work from home หรือWFH ไม่ได้อีกแล้ว
.
โดยคำสั่งนี้ระบุว่า หัวหน้าสำนักงานของรัฐบาลกลาง สามารถสั่งเลิกให้ลูกน้องตัวเองทำงานที่บ้าน และให้กลับมาทำที่สำนักงานเต็มเวลา โดยจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายด้วย
.
อำนาจของทรัมป์ที่บังคับใช้นี้ คนที่โดนก่อนเลย คือพวกข้ารัฐการระดับหัวหน้า ที่ตามกฎหมายจะไม่ได้อยู่ในสหภาพ ใครทำงานที่บ้าน ต้องมาสำนักงาน ไม่สามารถหาข้ออ้างอื่นใดได้แล้ว
.
หากถามว่ามีเจ้าหน้าที่ประเภทใดที่ทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงโควิด 19 ระบาด พอโรคลดระดับความรุนแรงลง เจ้าWFH ก็ยังอยู่ และหลายแห่งทั้งไทยและเทศก็อนุญาตให้พนักงานทำได้ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนเช่น อาทิตย์หนึ่ง WFH ได้สัก 2 วันบ้าง
.
เช่นเดียวกับสำนักงานรัฐบาลกลางของอเมริกาหลายแห่งนั้น อนุญาตให้ข้ารัฐการที่เป็นผู้พิการ ไม่สะดวกมาออฟฟิศ ก็ทำที่บ้าน หรือบางรายติดธุระต่างๆ นานา ก็สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ หากมีเหตุผลเพียงพอ โดยไม่ต้องมาออฟฟิศ แต่ประสิทธิภาพการทำงานไม่ลดด้อย ก็อนุโลมให้WFH ได้
.
อย่างไรก็ดี ทางทำเนียบข่าว แจ้งเมื่อวานนี้ (20 มกราคม) ว่า มีข้ารัฐการ ถึง 6 % จากทั้งประเทศ ที่ทำงานที่บ้าน แต่ฐานข้อมูลของรัฐบาล ที่สำนักข่าวรอยเตอร์เขาพบว่า การWFH นั้น มันมีจำนวนจำกัด ข้ารัฐการไม่ได้ทำกันเป็นประจำขนาดนั้น กล่าวคือมีแค่ 46% ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีสิทธิ์ทำงานที่บ้าน หรือประมาณ 1.1 ล้านราย แต่มีเพียงแค่ 228,000 รายเท่านั้น ที่ทำงานที่บ้านเต็มเวลา
.
แม้ตัวเลขจะเยอะระดับ 2 แสน แต่ขอให้ลองคิดถึงอเมริกาทั้งประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล ตัวเลขแค่นี้ถือว่าไม่มากแต่อย่างใด
.
โดยข้ารัฐการที่มีสิทธิ์WFH นั้น มีถึง 61% ที่มาทำงานสำนักงานแทนที่บ้าน ดังนั้นการไม่เข้าออฟฟิศจึงเป็นเพียงคนส่วนน้อยในหน่วยงานรัฐบาลกลางจริงๆ
.
สำหรับหน่วยงานที่มีคนทำงานที่บ้านเยอะสุด ก็คือ กระทรวงกลาโหมและแผนกกิจการทหารผ่านศึก ตามมาด้วยกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์
.
หากถามว่าทำไมทรัมป์ถึงเซ็นคำสั่งนี้ ก็ขอยกการวิเคราะห์ของรอยเตอร์ว่า เขาพยายามบีบให้ข้ารัฐการที่หากต้องมาทำงานออฟฟิศ จะต้องเผชิญความยากลำบาก ไม่สะดวกต่างๆ นานา และตัดสินใจขอลาออก ไปทำงานเอกชนแทน
.
เมื่อตำแหน่งว่าง ทรัมป์และทีมงานจะได้ส่งพวกของตัวเองเข้าไปบริหารแทน เรียกได้ว่าบีบให้ออกนั่นเอง และหากใครยังดื้อด้าน ทรัมป์ก็จะลงมือไล่ออกด้วยตัวเอง
.
เพราะอย่างที่บอกว่าตำแหน่งหัวหน้าขึ้นไป ที่WFH นั้น ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองของสหภาพ จึงมีการบีบลักษณะนี้ และทำให้ข้ารัฐการตำแหน่งสูง ไม่อาจไปเรียกร้องกับสหภาพให้ช่วยเหลือได้
.
ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ที่เพิ่งแสดงท่าทางแปลกๆ จนสังคมด่าว่ามันเหมือนท่าสดุดีของพรรคนาซี ตอนแถลงข่าว โดยแกเคยออกมาพูดในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปีก่อน ในสื่อวอลล์ สตรีท เจอร์นัลว่า พวกข้ารัฐการที่ใช้สิทธิ์ยุคโควิด (หมายถึง WFH) ไม่ควรได้รับเงินเดือน โดยเขามุ่งเน้นให้ข้ารัฐการทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งคงจะมีคนที่อยากลาออกโดยสมัครใจ และนั่นเป็นสิ่งที่มัสก์ยินดีเอามากๆ
.
และการที่ข้ารัฐการที่ดำรงตำแหน่งสำคัญต้องลาออก ก็จะเข้าทางทรัมป์ ที่ยากไล่เจ้าหน้าที่นับพันอยู่แล้วด้วย เพราะพวกนี้ ไม่สนองนโยบายตอนดำรงสมัยแรก ซึ่งทรัมป์ก็พกความแค้นมาเต็มที่ และต้องอย่าลืมว่าอำนาจประธานาธิบดีอเมริกามันเยอะพอสมควร ไล่ข้ารัฐการออกกันได้อย่างสบายๆ ถูกใจทรัมป์ที่เคยทำรายการเรียลลิตี้ แล้วมีประโยคเด็ดว่า “มึงโดนไล่ออก” (You’re Fired)
.
ทีนี้การยกเลิก WFH นั้น ข้ารัฐการที่อยู่ในสหภาพ สามารถแจ้งว่าการทำแบบนี้ มันไม่ชอบธรรมได้ ซึ่งสหภาพก็มีแรงขับเคลื่อนไปงัดกับทรัมป์ เพื่อไม่ให้บังคับใช้ในทันที โดยจะต้องตกลงสัญญากันใหม่ ถึงค่อยเซ็น
.
หลายคนอาจไม่ทราบว่า การที่ทรัมป์ตั้งอีลอน มัสก์ บริหารหน่วยงานใหม่ที่มีหน้าที่เร่งให้ข้ารัฐการมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ถูกท้าทายโดยสหภาพข้ารัฐการรวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาล ว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ อันนี้ต้องรอดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าทรัมป์คงทำได้ แต่อำนาจที่มัสก์มีอาจจะไม่ได้มหาศาลเหมือนตอนหาเสียงอย่างแน่นอน
.
ส่วนข้ารัฐการที่คัดค้านการกลับมาทำงานออฟฟิศเต็มเวลานั้น แม้ไม่ได้อยู่ในสหภาพ แต่ก็มีกฎหมายว่า หากจะไล่ออก ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน พร้อมอธิบายเหตุผล ซึ่งข้ารัฐการก็มีสิทธิ์ท้าทายคัดค้านการไล่ออก โดยการแจ้งต่อบอร์ดปกป้องระบบคุณธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีคณะกรรมการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี (ซึ่งมีโอกาสที่ทรัมป์จะส่งคนมา แล้วบอกว่าการเลิกจ้างนี้ชอบธรรมแล้วนะได้ ฮาๆๆ)
.
อย่างไรก็ดีบอร์ดนี้สามารถตัดสินการเลิกจ้างว่าชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมได้ และมีผลผูกพันทันที หากบอกว่าเลิกจ้างแบบนี้ไม่ถูกต้อง ก็ไล่ออกไม่ได้ ต้องปล่อยให้ทำงานต่อไป แถมหากใครไม่เห็นด้วย ทั้งข้ารัฐการหรือรัฐบาลกลาง ก็ต้องไปยื่นศาลอุทธรณ์ให้ตัดสินแทน ซึ่งก็จะใช้เวลาพักใหญ่ๆ อย่างแน่นอน
.
อีกสิ่งหนึ่งที่คนอาจคิดไม่ถึงก็คือ ทรัมป์นั้นต้องการระดมข้ารัฐการมาทำงานสนองนโยบาย จึงสั่งยกเลิก WFH เพราะหากอนาคตต้องมีการจับแรงงานต่างด้าวในอเมริกา ต้องใช้จำนวนคนมหาศาล ระดมเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องให้ข้ารัฐการอยู่ในระดับเตรียมพร้อมตลอดเวลา สั่งงานได้ ก็มาทันที ไม่ใช้ติดทำงานที่บ้านกัน
.
และหากใครไม่สนองนโยบาย ก็ไล่ออก เลิกจ้าง แล้วเอาคนของตัวเองมาแทน
.
เรียกได้ว่าวางแผนได้อย่างเสร็จสรรพจริงๆ
.
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ไอ้การเลิกWFH ธรรมดาๆ นี้ มันมีลูกชิ่งความต่อเนื่องที่คาดไม่ถึงจริงๆ ทรัมป์ต้องการใช้หน่วยงานรัฐเป็นแขนขาในการบริหารประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตามที่พูดในสปีชตอนรับตำแหน่ง ดังนั้นอะไรที่ขวางทางก็ต้องจัดการแก้ไขโดยด่วน
.
จากนี้เราก็ต้องมาดูกันว่า ข้ารัฐการจะทำอย่างไรต่อไป และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพาอเมริกาและโลกไปถึงจุดไหน
.
โปรดจับตามองอย่างใกล้ชิด
โฆษณา