Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wealthy Thai
•
ติดตาม
4 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดกลยุทธ์ลงทุน พร้อมเสิร์ฟหุ้นเด่น เหมาะเทรดระยะสั้น-กลาง
แม้จะเริ่มต้นปี 2568 มาได้สักพักแล้ว แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยยังคงพบเจอกับปัจจัยกดดันภาพรวมดัชนีอย่างต่อเนื่อง โดยจากเปิดปีมาที่ลุ้นไม่ให้หลุดแนวรับที่ระดับ 1,380 จุด แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์ปรับตัวลดลงจนหลุดระดับแนวรับที่ 1,350 จุด ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็มาจากแรงขายหุ้นทั้งขนาดเล็ก ไล่จนไปถึงขนาดใหญ่ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล จนบางรายอาจถึงขั้นขอพักการลงทุนเพื่อหายใจหายคอก่อน
อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนที่ไม่เน้นความหวือหวา แต่เน้นรอจังหวะ หรือนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง บทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ได้ระบุในบทวิเคราะห์ไว้ว่า ในเชิงกลยุทธ์ การลงทุนหุ้นขนาดใหญ่หลายตัวที่พื้นฐานดี ราคาปรับลงมาจนน่าสนใจ อาจเป็นจังหวะเริ่มสะสม แต่เน้นถึงการลงทุนระยะกลางขึ้นไป อาทิ AOT, CPALL, TU, MINT
สำหรับนักลงทุนระยะสั้นรับความเสี่ยงได้สูง แนะ Trading ในหุ้นธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ BBL, KBANK, KTB, SCB ปัจจัยหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้น และกลุ่มน้ำมัน ได้แก่ PTTEP ปัจจัยหนุนราคาน้ำมันปรับขึ้น
โดยคงคำแนะนำ "ถือ" บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ด้วยมูลค่าเหมาะสมที่ 63.00 บาท อย่างไรก็ตามในระยะกลาง-ยาว แนะนำว่าถ้าราคาหุ้นปรับตัวลดลงให้ทยอยสะสมได้เนื่องจากมองว่า AOT เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกรออยู่หากได้รับอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออกที่อยู่ระหว่างรอการศึกษาอยู่
ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในช่วงไตรมาส 1/68 เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, 13% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ระดับ 33.6 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดรายไตรมาสนับตั้งแต่เกิดโควิดเป็นต้นมา ทำให้ประเมินกำไรสุทธิที่ 6,001 ล้านบาท (+32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, +41% จากไตรมาสก่อน)
พร้อมทั้งแนะนำ “ซื้อ” บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL พร้อมให้มูลค่าพื้นฐาน 80.00 บาท โดยคาดว่าแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/67 จะเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว การเพิ่มสัดส่วนสินค้าประเภท Ready-to-eat และ Ready-to-drinks รวมถึงสินค้าใหม่ๆ จาก SME โดยแนวโน้ม SSSG ช่วง QTD ของไตรมาส 4/67 ยัง +1% ถึง +3%
รวมถึงแนะนำ “ซื้อ” บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU มูลค่าพื้นฐานที่ 17.30 บาท โดย TU ประกาศแผนกลยุทธ์ในการมุ่งไปสู่ปี 2573 มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้ไปถึงระดับ 7 พันล้านเหรียญฯ และมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) ที่ระดับ 7-800 ล้านเหรียญฯ จากแนวโน้ม ณ สิ้นปี 2567 ที่ระดับ 3.9 พันล้านเหรียญฯ และ 400 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ โดยมี 2 โครงการได้แก่
โปรเจกต์โซนาร์ที่จะดำเนินการในกลุ่มบริษัท TU มุ่งเน้นการลดต้นทุนเพื่อสร้างรากฐานการเติบโตในระยะยาว และ โปรเจกต์ เทลวินด์ ที่เน้นเรื่องการเติบโตด้านรายได้ในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง สำหรับการประกาศกลยุทธ์ครั้งนี้ มองว่าถือเป็นความชัดเจนถึงภาพการเติบโตในอนาคตของบริษัท
อีกทั้ง แนะนำ “ซื้อ” บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT มูลค่าพื้นฐาน 36.00 บาท โดยในไตรมาส 4/67 มองว่าจะเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก RevPar ที่สูงขึ้น แต่จะอ่อนตัวจากไตรมาสก่อน ต่อเนื่องจากธุรกิจโรงแรมในยุโรปตามปัจจัยฤดูกาล ในขณะที่ถึงแม้ในปี 2568 จะยังมีความท้าทาย แต่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 16.3% จากการปรับอัตราราคาที่พักต่อคืน (ADR) ที่สูงขึ้นหลังมีการปรับปรุง และยกระดับตำแหน่งของแบรนด์ในธุรกิจโรงแรมใหม่
รวมทั้งแนะนำ "ซื้อ" ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ด้วยมูลค่าพื้นฐานที่ 170.00 บาท โดยชอบ BBL ด้วยงบดุลแข็งแกร่ง และ Valuation ที่ไม่แพง หากเทียบกับความสามารถในการทำกำไรในระยะยาว ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเปราะบางทำให้การขยายสินเชื่อในปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่กำไรสุทธิยังเติบโตได้ 7.1% ในปี 2567
อย่างไรก็ดี คาดกำไรจะเติบโตชะตัวที่ 2.6% และ 4.4% ในปี 2568-69 ส่วนหนึ่งเพราะ NIM ปรับลดลงล้อกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้าน ROE จะปรับเพิ่มขึ้นที่ 8.2% ในปี 2024 และ 8% ในปี 2568-69 และคาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่ 5.3%-5.5% ในปี 2568-69
ขณะที่ แนะนำ “ถือ” ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มูลค่าพื้นฐาน 160.00 บาท โดยมองว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุนจำกัด หลังจากมองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยลดลงส่งผลต่อ NIM ลดลงมากกว่าคาด 5-10 bps ในปี 2568-69 กอปรกับสินเชื่อที่ชะลอตัวทำให้คาดว่าการเติบโตของกำไรจะชะลอตัวลงเหลือ 1.5%/5.5% ในปี 2568-69 จากคาดว่าจะเติบโต 10.5% ในปี 2567
นอกจากนี้ ด้วยการเติบโตกำไรที่ชะลอตัว มองว่า ROE จะลดลงจาก 8.6% ในปี 2567 เหลือ 8.3% ในปี 2568-69 และมองว่าเป็นเรื่องท้าทายที่ KBANK จะบรรลุเป้าหมาย ROE ที่ 2 หลักในปี 2569
พร้อมกันนี้ แนะนำ "ซื้อ" ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ด้วยมูลค่าพื้นฐานที่ 24.00 บาท โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อการควบคุมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานดีขึ้น ทำให้ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิเพิ่ม 2-3% ในปี 2567-69 โดยคาดว่ากำไรสุทธิในปี 2567 เติบโตแข็งแกร่งที่ 15.6% และกำไรมีแนวโน้มเติบโตชละตัวที่ 3.1%/4.4% ในปี 2567-69 (ไม่รวมผลกระทบจากโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ของ ธปท.)
โดยมองว่า KTB มีจุดแข็งในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดี โดยคาดว่า NPL ratio จะทรงตัวที่ 3% ในปี 2567-69 และสำรองหนี้ฯ เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต
รวมถึงแนะนำ "ถือ" บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มูลค่าพื้นฐาน 123.00 บาท และคาดจะมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดในกลุ่มธนาคารที่ 8.7% ในปี 2567 (หักเงินปันผลระหว่างกาลเหลือ 5.5%) และให้เพิ่มเป็น 8.9% และ 9.4% ในปี 2568-69 ถือเป็นจุดเด่นในการลงทุน แม้ SCBX จะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยลดลง
โดยประเมินว่าทุก 100 bps ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกระทบต่อ NIM ลดลง 25-30 bps แต่ด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ดี ทำให้ปรับคาดการณ์กำไรปี 2567-69 เพิ่มขึ้น 2-4% โดยคาดว่ากำไรสุทธิจะลดลง 4.3% ในปี 2567 และฟื้นกลับมาขยายตัว 2.2% และ 5.8% ในปี 2568-69
นอกจากนี้ แนะนำ “ถือ” บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่มูลค่า 141.00 บาท คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/67 ที่ 1.75 หมื่นล้านบาท (-5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, -2% จากไตรมาสก่อน) ชะลอตัวลงตามราคาน้ำมันดิบเป็นหลัก แม้ว่าปริมาณการขายอยู่ที่ 506 KBOED (+7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, +7% จากไตรมาสก่อน) เพิ่มขึ้นเนื่องจากกลับมาดำเนินการขุดเจาะหลังจากมีการปิดซ่อมบำรุงหลุมในอ่าวไทย
แนวโน้มปี 2568 คาดว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงในกรอบ 65-75 US$/bbl โดยอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากทั้ง OPEC+ และ Non-OPEC เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน สำหรับอัตราเงินปันผลปี 2568/69 อยู่ที่ 7.2% และ 6.1% ตามลำดับ
เศรษฐกิจ
การลงทุน
หุ้น
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย