22 ม.ค. เวลา 09:00

ทำไมผู้คนถึงเชื่อคำพูดของ “คนดัง” ?

📌อ่านต่อที่: https://www.thaipbs.or.th/now/content/2208
ดาราและศิลปินเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะพูดถึงเรื่องส่วนตัวหรือประชาสัมพันธ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อหรือสนใจในคำพูดของคนเหล่านี้ก่อนเป็นปฏิกิริยาแรก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 68 แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ศิลปินชื่อดัง ได้ออกมาเล่าว่า ตนเองและภรรยาถูกคุกคามเป็นเวลาหลายปี ทำให้คนในโลกโซเชียลจำนวนหนึ่งเห็นใจเขา ทว่าไม่กี่วันถัดมา นักร้องคนดังกล่าวยอมรับว่าตนเอง “พูดไม่ครบทุกประเด็น” เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด ถือเป็นอีกกรณีหนึ่งเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคนดังและการรับรู้ของสาธารณชน
ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ผู้คนจะให้ความสำคัญหรือกระทั่งเชื่อคำพูดของบุคคลสาธารณะที่เป็นที่รู้จักในระดับประเทศหรือระดับโลก อีกทั้งยังมีการยอมรับแนวคิดที่ว่า คนดังอาจถูกมองว่าเป็น “แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ” แม้จะไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องที่พูดก็ตาม ในแวดวงปรัชญา มีคำ ๆ หนึ่งที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวได้
คำศัพท์นั้นคือ “อิทธิพลทางความรู้ของคนดัง (celebrity epistemic power)”
ดาบสองคมของ “ความน่าเชื่อถือ”
อิทธิพลทางความรู้ (epistemic power) ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคืออิทธิพลของคนคนหนึ่งต่อความเชื่อ ความคิด และความรู้ของผู้อื่น และส่วนถัดมาคือการให้ความน่าเชื่อถือแก่ผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย ทั้งนี้ คำว่า ‘epistemic’ มาจากคำว่า ‘επιστήμη (เอ-ปิส-ตี-มิ)’ ซึ่งในภาษากรีกสมัยใหม่ แปลว่า ศาสตร์ หรือ สาขาความรู้
โดยทั่วไปแล้ว อิทธิพลทางความรู้เกิดขึ้นได้ หากคน ๆ หนึ่งมีความน่าเชื่อถือ (credibility) และความเป็นที่สนใจ (attention) แต่สำหรับคนดังนั้น การเป็น “จุดรวมความสนใจ (focus of the attention)” ของประชาชนทำให้พวกเขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความรู้
ผู้คนยังให้ความสนใจคนดังมากกว่านักการเมืองหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง จนเคยมีคำกล่าวจากอดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ คนหนึ่งว่า “เมื่อฮอลลีวูดส่งเสียง ทั้งโลกต่างฟัง แต่บางครั้ง เมื่อวอชิงตัน [ดี.ซี.] เอ่ยปากบ้าง ทั้งโลกต่างงีบหลับ (When Hollywood speaks, the world listens. Sometimes when Washington speaks the world snoozes)”
เนื่องจากความน่าเชื่อถือที่สาธารณชนมอบให้ ทำให้การเป็นจุดสนใจของคนดังอาจเป็นได้ทั้งคุณและโทษ ตัวอย่างเช่น บทความของแองเจลินา โจลี (Angelina Jolie) ในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) เกี่ยวกับการผ่าตัดเต้านมออกเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมนั้น ทำให้ผู้หญิงอเมริกันไปตรวจคัดกรองยีนหามะเร็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 64
แองเจลินา โจลี ในงานประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 82 (ภาพจาก Etienne Laurent/AFP)
แต่อีกด้านหนึ่ง การดึงดารามาโฆษณาสินค้าและธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งต้องสงสัยว่าฉ้อโกงประชาชน ได้สร้างความเสียหายต่อประชาชน หลายพันคน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านบาทเมื่อปีก่อน
อย่างไรก็ดี แม้ในไทยจะมีคดีความเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าและบริการโดยนักแสดงและศิลปินอยู่บ่อยครั้ง แต่การใช้คนดังในวงการประชาสัมพันธ์และการตลาดจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปตามที่ ผศ. เสริมยศ ธรรมรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ให้ความเห็นไว้ในรายการไทยบันเทิง “กลไกของการใช้ดารา การใช้พรีเซนเตอร์ ก็คงต้องมีอยู่ในแวดวงของการสื่อสารการตลาดต่อไป เพราะว่ามันคือสิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนเชื่อมโยงระหว่างดาราคนนั้น และก็ได้โอกาสในการพบเห็นเพิ่มขึ้น”
เมื่อการเป็น “จุดสนใจ” กลายเป็น “ทัวร์ลง”
ส่วนความอยากเป็นจุดสนใจนั้นก็เป็นประเด็นซึ่งซับซ้อนและละเอียดอ่อนเช่นกัน และหลายครั้งก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและคดีความได้ ในปี ค.ศ. 2019 จัสซี สมาเลต (Jussie Smollett) นักแสดงชาวแอฟริกัน-อเมริกันชื่อดังได้แจ้งความว่า เขาตกเป็นเหยื่อจากความเกลียดชังคนผิวสีและความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน
แต่ภายหลังตำรวจชิคาโกจับกุมสมาเลตในข้อหาแจ้งความเท็จ เนื่องจากพบหลักฐานว่าเขาได้จัดฉากการทำร้ายร่างกายตัวเองเพื่อเรียกร้องค่าตัวเพิ่มในซีรีส์เรื่องหนึ่ง จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสมาเลต “หากินกับความเจ็บปวดและความโกรธแค้นจากการเหยียดผิว” เพื่อผลประโยชน์ของตน
จากกรณีของสมาเลต เกล ซอลต์ส (Gail Saltz) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เมื่อมนุษย์เผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็อาจจะมองว่าตนเองเป็นเหยื่อในสภาวการณ์นั้น ๆ อีกทั้งผู้ที่จัดฉากอาชญากรรมอาจรู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่ออยู่แล้ว จึงอาจคิดว่า การตกเป็นเหยื่อในคดีอาชญากรรมจริง ๆ จะทำให้พวกเขาได้รับ “ความสนใจอย่างที่รู้สึกว่าควรจะได้รับ” อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการยากที่จะระบุถึงแรงจูงใจซึ่งทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจสร้างข้อกล่าวหาเท็จเพื่อตอบสนองความต้องการของตน
ส่วนในกรณีของแสตมป์-อภิวัชร์ นั้น เขาออกมากล่าวว่าตนและครอบครัวถูกคุกคามจากผู้หญิงคนหนึ่ง - ซึ่งคาดว่าเป็นแฟนคลับ - จนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า แสตมป์กับครอบครัวถูก “ซาแซง” หรือถูกตามติดคุกคามจากแฟนคลับ แต่ภายหลังแสตมป์ออกมายอมรับว่า ผู้ที่มาคุกคามเขานั้นคือชู้สาวของเขาเอง แสตมป์จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมส่วนตัวของเขา อีกนัยหนึ่ง เรื่องราวทั้งหมดคือ “การคุกคาม” หาใช่การ “ซาแซง” อย่างที่มีคนนิยามไว้
อย่างไรก็ดี ความย้อนแย้งของกรณีนี้คือ ปัญหาครอบครัวที่แสตมป์เริ่มต้นกลับบานปลาย จนทำให้เขากำลังตกเป็นเหยื่อจากการกลั่นแกล้งทางการเมือง
แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข (ภาพจาก แฟ้มภาพ รายการไทยบันเทิง 19 ม.ค. 68)
อิทธิพลของคนดังในวงการต่าง ๆ จึงบอบบาง อีกทั้งอาจนำไปสู่กระแสตีกลับและความขัดแย้งในสังคมได้หากถูกใช้ในทางที่ไม่ควร ส่วนฝั่งประชาชนเองก็ต้องใช้สติและวิจารณญาณในการรับฟังข่าวสารและเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาจากคนดังหรือแม้แต่คนใกล้ตัว “การตั้งคำถามกับบุคคลที่เรามักจะเชื่ออย่างหมดใจว่า เขาคือคนที่ดี เขาคือคนที่น่าเชื่อถือ การที่เราเอะใจและตั้งคำถามนั้น ผมเชื่อว่ามันจะทำให้สังคมมีสติมากขึ้น” นพ. วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในรายการไทยบันเทิง
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW
โฆษณา