22 ม.ค. เวลา 10:43 • ข่าว

แล้วจะอยู่กันยังไง? ไม่ประกาศพื้นที่ WFH อ้างค่าฝุ่นยังแดงไม่เกิน 3 วัน

แต่เปิดทางผู้ว่าฯ ชงอธิบดีควบคุมโรคประกาศเองได้
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2568 ว่า
ตั้งแต่มี พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ยังไม่เคยออกประกาศการให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) มาก่อนเลย ซึ่งวันนี้คณะกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาดูพื้นที่ตามมาตรา 14(2) คือ พื้นที่ที่ฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือพื้นที่สีแดง ติดต่อกัน 3 วัน ให้เป็นพื้นที่ Work From Home เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
"วันนี้เท่าที่พิจารณา พื้นที่สีแดงติดต่อกันมากกว่า 3 วันยังไม่มีเลย มี PM 2.5 จริง แต่ระยะเวลายังไม่เกินที่จะเสนอพื้นที่ต่อ ครม.ได้ แต่จะนำเสนอรายละเอียดที่ประชุมวันนี้ให้ ครม.เพื่อทราบเป็นเบื้องต้นว่าเราได้พยายามใช้กฎหมายดังกล่าวแล้ว" นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนพื้นที่ไหนที่กังวลเรื่องฝุ่น PM 2.5 แล้วอยากประกาศพื้นที่ Work From Home ก็สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 35 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด/กทม. ทำเรื่องมายังอธิบดีกรมควบคุมโรคเพื่อออกประกาศกรณีพื้นที่ Work From Home ได้
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
ถามว่าหากสัปดาห์หน้ามีพื้นที่ไหนที่ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็นสีแดงเกิน 3 วันสามารถประกาศพื้นที่ Work From Home ได้เลยหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ผมต้องเสนอ ครม.ให้รับทราบก่อน กรณีใช้มาตรา 35 ไม่ต้องใช้การประกาศพื้นที่ก่อน อธิบดีกรมควบคุมโรคสามารถใช้วิจารณญาณร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดได้
เมื่อถามว่าที่ประชุมมีการหารือถึง 23 จังหวัดที่คาดการณ์จะประกาศพื้นที่ Wrok From Home หรือไม่  นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นการดูข้อมูลในอดีต ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 1 จะเป็นเขตสุขภาพที่มีปัญหามากที่สุด ขณะนี้เราทำได้แค่เตือนหรือแนะนำ หาก PM 2.5 ในแต่ละระดับสีประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ถามว่าหากมีการประกาศให้พื้นที่ไหน Work From Home แล้วไม่มีการปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษหรือไม่  นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีบทลงโทษ เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการทั้งหลาย เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน
ถามต่อว่าหากประกาศพื้นที่ Work From Home กิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น การก่อสร้าง ก็ต้องหยุดการดำเนินการด้วยหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องเข้าสู่มาตรการ ขอความร่วมมือให้หยุดดำเนินการ แต่ก็ไม่ได้มีบทลงโทษใดๆ
"สธ.เราเป็นปลายทาง แต่เราก็ดำเนินการเพื่อเตรียมการไว้ให้ทุกคนมีแนวปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนไม่ว้าเหว่" นายสมศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า สธ.จะเป็นต้นแบบ Work from home หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากหน่วยงานราชการ กรม กอง อธิบดี หรือผู้บริหาร เห็นว่าทำงานไม่เสียหาย ก็ให้ WFH ได้ บางครั้งก็อาจทำงานที่บ้านได้มากกว่า แต่ในส่วนราชการ กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ ข้าราชการส่วนใหญ่บอกว่ามาทำงานที่กรมดีกว่า เพราะได้ฝุ่นน้อยกว่าอยู่บ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาประกาศพื้นที่ Work From Home จริงๆ แล้ว ตามกฎหมายจะใช้ว่าเป็นการประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กรณีนี้คือ ประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเมื่อประกาศแล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/กทม.มีอำนาจในการดำเนินการ ดังนี้
1.สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืดและถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยพิจารณาชนิดหน้ากากตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำ
2. ออกประกาศ Work from home ทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
3.จัดทำศูนย์รองรับการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียง ให้เข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์จะปกติ
4.ขอความร่วมมือเกษตรกร เจ้าของสถานประกอบกิจการ และผู้ประกอบการขนส่ง ดำเนินการลดฝุ่น ในส่วนของโรงพยาบาล ให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด เป็นต้น และแจ้งการพบผู้ป่วยโรคจากฝุ่น PM2.5 และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ใช้กลไกทางกฎหมาย ในการแจ้ง รายงาน และสอบสวนโรคจากฝุ่น PM2.5
ชมคลิปเพิ่มเติม https://vt.tiktok.com/ZS6p8vTby/
โฆษณา