4 ชั่วโมงที่แล้ว • ประวัติศาสตร์

มองประเทศไทยผ่านมุมมองของ "แม่พลอย" ในนวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน"

นวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สามารถสะท้อนถึงสภาพสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 ได้ดีทีเดียวครับ การมองประเทศไทยผ่านตัวละครและเหตุการณ์ในนวนิยายเรื่องนี้ อาจทำให้เราเห็นภาพสังคมไทยและการเปลี่ยนแปลงในขณะนั้นได้ดียิ่งขึ้นก็ได้ครับ
ในช่วงแรกของเรื่อง ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เราจะเห็นได้ว่าสังคมไทยยังยึดมั่นในวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม เช่น มารยาทแบบไทย การเคารพผู้ใหญ่ ความเชื่อ และประเพณี ซึ่งเป็นค่านิยมที่คนไทยในขณะนั้นให้ความสำคัญ เช่น การห้ามเหยียบธรณีประตูวัง การที่แม่พลอยและช้อยโกนจุก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คนไทยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต
ในช่วงกลางถึงท้ายเรื่อง วัฒนธรรมจากโลกตะวันตกเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย ไม่ว่าจากการเสด็จประพาสยุโรปของพระเจ้าอยู่หัว หรือจากการเข้ามาของชาวต่างชาติ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เริ่มมีการแต่งกายแบบสากล หรือเกิดแนวคิดต่างๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในยุคสมัยต่อมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ถ้าเรามองในมุมของแม่พลอย ผู้ซึ่งอยู่กับจารีตดั้งเดิมของไทยมาตั้งแต่เกิด จึงยึดมั่นอยู่กับค่านิยมเดิมที่สืบทอดมา การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาอย่าหนักในเวลาอันสั้น เป็นสิ่งที่คนเช่นแม่พลอยยากที่จะเข้าใจ เพราะขัดกับความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกปลูกฝังมา
แม่พลอยแสดงออกถึงความไม่สบายใจกับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง แต่ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงหรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เธอยังคงทำหน้าที่แม่และสมาชิกครอบครัวอย่างสมบูรณ์โดยพยายามรักษาสมดุลระหว่างจารีตดั้งเดิมกับความเป็นจริงใหม่ที่สังคมกำลังเผชิญ
แม่พลอยจึงสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย ตั้งแต่ยุคที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมและค่านิยมแบบเก่า จนถึงยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและสถานการณ์บ้านเมืองผันผวนอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่เราได้คือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ยังคงไม่ละทิ้งรากเหง้าของชีวิตที่มีมาตั้งแต่เกิด
(ภาพประกอบจากเว็บไซต์ The Momentum และ มติชนสุดสัปดาห์)
โฆษณา