23 ม.ค. เวลา 23:00 • ธุรกิจ

ทุนค้าปลีกภูธรโวย! 2 ยักษ์ค้าส่งดูดลูกค้าเกลี้ยง

ค้าปลีกภูธรสุดทน โวยยักษ์ค้าส่งสยายปีกขยายสาขา ขายตั้งแต่อาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ ยันเครื่องใช้ไฟฟ้าดูดลูกค้าไปหมด โอดรวมกลุ่มผนึกกำลังสู้แต่ขาด Know-how ด้านรองประธานกรรมการหอการค้าไทย แนะต้องปรับตัวเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพงานบริการ
การเดินหน้าขยายการลงทุนของ 2 ยักษ์ค้าส่ง อย่าง “แม็คโคร” (MAKRO) โดยบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ในเครือ CP และ “โก โฮลเซลล์” (GO Wholesale) โดยบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล (CRC) ที่มีจุดแข็งทั้งจำหน่ายสินค้าอาหารสด อาหารแห้ง รวมไปถึงอุปกรณ์ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในแต่ละท้องถิ่น
เห็นได้ชัดเจนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อผู้ประกอบการรวมตัวกันร้องเรียนและคัดค้านการเปิดให้บริการ “โก โฮลเซลล์” ในจังหวัดภูเก็ต เพราะหวั่นว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น ล่าสุดยังลุกลามไปหลายจังหวัดเมื่อ 2 ค้าส่งรายใหญ่ ต่างเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เผยหลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 สถานการณ์ค้าปลีก-ค้าส่ง ที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงระยะสั้นก็เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติและทรงตัวไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา แต่ระยะเวลา 5-6 ปี ก่อนหน้านี้มีสัญญาณบางอย่างที่มองข้ามไม่ได้คือ ผู้ประกอบการโลคัล โมเดิร์นเทรด (Local Modern Trade : LMT) ต้องดิ้นรนและสู้ศึกในตลาดการค้าที่เปรียบได้กับ Red Ocean ที่แข่งขันกันดุเดือดมาก
2
  • ผวา 2 ยักษ์ค้าส่งขยายตัวครบวงจร
“แม็คโครและโก โฮลเซลล์ กลับมาแรง เดินหน้าขยายตัวเติบโตต่อเนื่องด้วยจุดแข็งการขายแบบครบวงจร ไม่เพียงแค่สินค้าอุปโภคบริโภค ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารสดด้วย ซึ่งอยู่ในตลาด Blue Ocean สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องแข่งขันดุเดือดมากนัก
โดยแม็คโคร กับโก โฮลเซลล์ มีข้อแตกต่างจาก LMT คือโดดเด่นเรื่องของสด ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ วัตถุดิบประกอบอาหารอย่างชีส เนย เป็นต้น และมีวัตถุดิบทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาทั้งถูกและแพง มีมาร์จิ้นมากกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น
“ปัจจุบัน LMT อยู่ในพื้นที่ Red Ocean ที่มีการแข่งขันสูง ยิ่งทำยิ่งเหนื่อยด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ในปี 2568 ยังต้องลุยแหลกฟาดฟันกันสุดกำลัง แต่เมื่อมองไปดูแม็คโคร และะโก โฮลเซลล์ กลับไม่ใช่อย่างนั้น มีความเหลื่อมล้ำทางการค้าที่กำลังเปลี่ยนแปลงแบบซึมลึก ซึ่งเชื่อว่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”
  • ผนึกกำลังสู้ แต่ขาด Know-how
นายมิลินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการโลคัล โมเดิร์นเทรด ยังมองเห็นช่องทางการตลาดและพร้อมลงทุนขยายธุุรกิจในตลาด Blue Ocean และได้พูดคุยถึงเรื่องนี้กันบ้างแล้ว แต่ปัญหาคือ Know-how ตั้งแต่ระบบการจัดการไปจนถึงระบบการดูแลสินค้าและระบบจัดจำหน่าย LMT ส่วนมากศักยภาพไม่พอในด้านความรู้และการบริหารจัดการของสด แม้รู้แหล่งวัตถุดิบ แหล่งที่มาของสินค้าราคาถูก ดี มีคุณภาพ แต่ไม่มีบริษัทซัพพลายเออร์ขนาดใหญ่มาดูแลบริหารจัดการให้ โดยเฉพาะเรื่องการตลาด
ยกตัวอย่าง ปัญหาของราคาหมูของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร แน่นอนว่าเกษตรกรสามารถเลี้ยงและพัฒนาหมูให้มีคุณภาพได้ไม่แพ้ต่างประเทศ แต่ระบบการจัดการยังเป็นปัญหา ปัจจุบันนี้แค่มีกฏหมายมาช่วยพยุงและควบคุมเพื่อให้เกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้จะสังเกตเห็นได้ว่าหากวัถุดิบอาหารถูกพัฒนา มีระบบจัดการคุณภาพด้านความสะอาด ผู้บริโภคก็ยอมจ่ายแพงได้ แม้แต่แม่ค้าเขียงหมูในตลาดทั่วไปบางรายยังซื้อเนื้อหมูจากแม็คโครและโก โฮลเซลล์ มาขาย
1
นอกจากนี้ LMT ยังต้องเจอศึกหนักอีกอย่างคือ สินค้าจีนทะลักเข้ามาในประเทศ ยิ่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนยิ่งน่ากังวลว่าสินค้าจีนในประเทศไทยจะมีมากขึ้น และซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าของไทยจะตามนวัตกรรมการผลิตของจีนทันหรือไม่ มีสินค้าที่จะพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้าจีนถูกกว่าราคาสินค้าไทย ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการเข้ามาช่วยให้ทันท่วงที เพราะเป็นปัจจัยสำคัญกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
“ตอนนี้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ต้องตามให้ทันโลก เพราะโมเดลการขายสินค้าไม่ได้มีเพียงผ่านหน้าร้านและออนไลน์เท่านั้น รัฐบาลก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไว นับเป็นความท้าทายของ LMT ที่จะต้องปรับตัว เพราะผู้ประกอบการ LMT ที่สามารถยืนหยัดแข่งขันอยู่ในทั้ง Red Ocean และ Blue Ocean ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะปรับตัวและอยู่ได้ไหม หรืออนาคตอยู่ได้แต่ขนาดธุรกิจจะเล็กลงไหม จะพัฒนาต่อไปอย่างไร”
  • ชี้ทุนภูธร ต้องปรับตัว
นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานการค้าภาคกลาง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีค้าปลีกค้าส่งบุกตลาดภูธรนั้น ผู้ประกอบการภูธรมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ปัจจุบันในพื้นที่ต่างจังหวัดมีกลุ่มเซ็นทรัลฯ ในรูปแบบของดีพาร์ตเมนต์สโตร์หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับทุนท้องถิ่นไม่มาก ขณะที่ ร้านค้าโชห่วยทางผู้ประกอบการเขาก็มีการปรับตัวระดับหนึ่ง ซึ่งร้านค้ารายใหญ่ตอนนี้ก็มีโมเดลที่ไปร่วมกับร้านโชห่วย เช่น ร้านถูกดี ตนมองว่าเป็นการปรับตัวกันทั้ง 2 ฝ่าย
นอกจากนี้ ในพื้นที่ต่างจังหวัดในแต่ละอำเภอเกิดศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดเพิ่มขึ้นเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเนื้อหมู ตนมองว่าเป็นการปรับตัวจากฟอร์แมทเดิมที่เขามาทำโรงชำแหละ ซึ่งอาจจะเป็นฟอร์แมทที่ย่อยมาจากซีพี เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท ก็มีการตั้งมานานแล้ว ถือว่าเป็นทางเลือกให้ลูกค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น
1
“การแข่งขันก็มีกระทบบ้าง แต่มันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ผู้ประกอบการเดิมก็อาจจะต้องปรับในแง่ออกมาตรฐานคุณภาพขึ้นมารวมถึงด้านบริการ”
1
ด้าน นายสุดชาย สิงห์มโน ผู้บริหาร ห้างแสงทองซูเปอร์เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแข่งขันค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดระยองค่อนข้างสูงมาโดยตลอด สิ่งที่ผู้ประกอบต้องปรับตัวคงจะเป็นเรื่องของการพัฒนาเรื่องของบริการ ปัจจุบันลูกค้าก็มีตัวเลือกมากขึ้น
เพราะฉะนั้นแล้วก็เป็นเรื่องของการปรับตัว โชว์จุดแข็งเรามากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการท้องถิ่นก็มีการปรับตัวมาตลาดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งของห้างแสงทองฯ ปรับตัวโดยมีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น และเน้นการให้บริการ ลูกค้าเดินทางสะดวก ร้านค้าอยู่ใกล้บ้าน ขณะที่ออเดอร์ก็ทรงตัว ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลง
  • ย้ำมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย
“โชคดีที่เรามีฐานลูกค้าประจำ แต่มีโอกาสจะเติบโตค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีการแบ่งขันค่อนข้างเยอะ ทั้งในส่วนของร้านค้าภูธรด้วยกัน ผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงโมเดิร์นเทรดค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อก่อนโมเดิร์น เขาชัดเจนเรื่องการขายสินค้าราคาปลีก แต่ช่วงหลังเขาก็มีขายสินค้าแบบทั้งยกแพ็ก ยกลัง ด้านหลัง รวมถึงมีการจัดส่ง ก็แข่งขันกันหนักเป็นเรื่องปกติ”
สิ่งสำคัญในปัจจุบันที่เกิดปัญหา ตนมองว่าเรื่องกำลังซื้อ และสภาพเศรษฐกิจ เพราะว่าโครงการภาครัฐที่ผ่านมาคือ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ในมุมของค้าปลีกก็ไม่ค่อยได้รับผลประโยชน์แบบชัดเจนเท่าไร ในแง่การใช้จ่ายเพื่อสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจากข้อมูลทราบมาว่าลูกค้าน่าจะไปใช้กับวัตถุประสงค์อื่นๆ
ในส่วนมาตรการ Easy E-Receipt ทางร้านค้าก็เตรียมพร้อมทำระบบเป็นรูปแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้า ถ้าจบมาตรการคงต้องดูว่าสามารถช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในส่วนของอุปโภคบริโภค ได้มากน้อยประมาณไหน นอกจากนี้ อยากเสนอให้ทางภาครัฐมีมาตรการคูณสอง หรือ คนละครึ่ง เพราะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้อย่างชัดเจน ในมุมของเราสิ่งที่เป็นมาตรการส่งเสริมการใช้จ่าย พื้นฐานทั่วๆไป น่าจะเห็นผลกว่ามากกว่าการที่เป็นลักษณะแจกเงินมาพิเศษ
1
“แม้กำลังซื้ออาจจะไม่ได้มากแต่ว่าเราก็พยายามขยายสาขาเพื่อให้ลูกค้าเข้าใช้บริการได้สะดวก เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคมันเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการใช้จ่ายบริโภคส่วนตัวไม่ได้กระทบเหมือนกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เพียงแต่ว่าส่วนการตลาดอาจจะโดนแบ่งมาร์เก็ตแชร์ แต่เราเลือกขยับขยายเข้าไปใกล้ลูกค้ามากขึ้นเพิ่มบริการมากขึ้น”
นายสมบัติ ชินสุขเสริม รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานการค้าภาคเหนือ เปิดเผยว่า เหตุการที่เกิดขึ้นมันมีมานานแล้ว ผู้ประกอบการในพื้นที่ก็มีการปรับตัวตลอด เช่น ร้านโชห่วย มีพัฒนามากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างจุดเข็มแข็งให้กับธุรกิจ โดยภาพรวมธุรกิจก็ต้องมีการต่อสู้กันไป การที่มีค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาในพื้นที่ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้า
“เนื่องธุรกิจต่างๆมันเป็นการค้าเสรี เราจะไปห้ามเขาไม่ให้มาในพื้นที่ก็ไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการในพื้นที่เขามีความเข็มแข็ง และมีการพัฒนาระบบธุรกิจของเขาอยู่แล้ว”
โฆษณา