Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
@RAMA
•
ติดตาม
1 มี.ค. เวลา 16:07 • สุขภาพ
ปีใหม่แล้ว เปิดใจเรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคทางใจและการเยียวยากัน!
Volume ฉบับที่ 55 เดือนมกราคม 2568
Column Vocab With Rama
Writer Name นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง
สวัสดีปี 2025 ค่า คุณนักอ่านที่น่ารักของ @Rama เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่ช่วงปีใหม่แบบนี้ หลาย ๆ คนอาจจะเริ่มรู้สึกว่า เอาล่ะ! อยากจะเริ่มคิดอะไรใหม่ ๆ วางแผนเป้าหมายชีวิตใหม่ ๆ เพื่อที่จะได้มีโอกาสพัฒนาตัวเอง แต่เพราะเราเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะปฏิเสธว่า หลายครั้งเป้าหมายใหม่ ๆ ที่เราวาดหวังไว้นั้นเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ยิ่งเป็นยุคปัจจุบันที่สังคมเต็มไปด้วยการแข่งขัน (Race: /reɪs/) ความกดดัน (Pressure: /ˈpreʃə(r)/) และความเครียด (Stress: /stres/)
ปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคทางใจจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่หลาย ๆ คนต้องประสบพบเจอกัน มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ฉบับนี้จะพาทุกคนมารู้จักและทำความเข้าใจศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับโรคทางใจตลอดจนการเยียวยา เนื่องจากล้วนเป็นคำศัพท์ที่น่าสนใจและคนเขียนคัดมาแล้วว่ามักจะพบบ่อย ๆ ในสื่อต่าง ๆ มาดูกันเลยค่ะ!
คำแรก หนีไม่พ้นคำว่า Mental Health (/ˌmentl ˈhelθ/) แปลตรง ๆ ว่า สุขภาพจิต หมายถึงสภาวะทางจิตใจของบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติภาวะทางจิตใจมีการปรับเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของผู้นั้น คำต่อมาคือคำว่า Mental illness (/ˌmentl ˈɪlnəs/) หรือ Mental Disorder (/ˌmentl dɪsˈɔːdə(r)/) เป็นภาวะป่วยทางจิตใจ ที่มักส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก ความคิด การรับรู้ และพฤติกรรม
โดยภาวะป่วยทางจิตใจมักส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การทำงาน คุณภาพความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรอบข้างและคนที่อยู่ด้วย การทำจิตบำบัดหรือการได้พูดคุยปรึกษานักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยหาทางบรรเทาอาการต่าง ๆ ลงได้
ศัพท์เกี่ยวกับภาวะป่วยทางจิตใจนั้นมีมากมาย แต่ถ้าลงหมดทุกคำ สงสัยต้องขอขยายโควต้าจำนวนหน้าเพิ่ม เพราะฉะนั้น วันนี้จะยกแค่ศัพท์ที่เจอบ่อย ๆ กันนะคะ
• Depression (/dɪˈpreʃn/) โรคซึมเศร้า สภาวะที่มีความรู้สึกเศร้าซึมและสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำอย่างมีความสุข
• Panic Disorder (/ˈpænɪk dɪsˈɔːdə(r)/) โรคแพนิค หรือ โรคตื่นตระหนก ผู้ที่เป็นมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และมีความกังวลว่าจะเป็นขึ้นมาอีก
• Anxiety Disorder (/æŋˈzaɪəti dɪsˈɔːdə(r)/) โรควิตกกังวล การมีความวิตกกังวลหรือกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมากเกินไป
• Bipolar Disorder (/ˌbaɪˈpəʊlə dɪsɔːdə(r)/) โรคอารมณ์สองขั้ว หมายถึงเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ของผู้ป่วยมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงซึมเศร้าและช่วงที่อารมณ์ดีเกินปกติ
• PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) (/ˌpəʊst trɔːˌmætɪk ˈstres dɪsɔːdə(r)/) ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์ หรือการบาดเจ็บทางจิตที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่ดีที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงในอดีต
• Schizophrenia (/ˌskɪtsəˈfriːniə/) โรคจิตเภท เป็นโรคกลุ่มผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน และจะแสดงออกโดยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว มีความหลงผิดหรือหวาดระแวง
เมื่อรู้ศัพท์เกี่ยวกับโรคแล้ว ก็ต้องรู้ศัพท์เกี่ยวกับการบำบัดหรือ Therapy (/ˈθerəpi/) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาทางจิตใจที่ช่วยให้ผู้คนสามารถจัดการกับปัญหา ความรู้สึก และอารมณ์ของตน โดยประเภทของการบำบัดต่าง ๆ ได้แก่
• Cognitive Behavioral Therapy (CBT) (/ˌkɒɡnətɪv bɪˌheɪvjərəl ˈθerəpi/) วิธีการทำจิตบำบัดที่เน้นในการปรับความคิด และพฤติกรรม ผ่านการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิดหรือการรับรู้ที่อาจบิดเบือนไปจากความเป็นจริง
• Art Therapy (/ˌɑːt ˈθerəpi/) การบำบัดด้วยการใช้ศิลปะเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกหรือสภาวะจิตใจ
• Group Therapy (/ˌɡruːp ˈθerəpi/) การบำบัดแบบกลุ่ม คือ รูปแบบหนึ่งของการบำบัดที่นักบำบัดจะนำพาให้ผู้เข้าร่วมได้ดูแลปัญหาผ่านกิจกรรม โดยจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ เมื่อเผชิญกับปัญหาที่อาจกระทบกับจิตใจ การมีกลยุทธ์การรับมือหรือ Coping Strategy (/ˈkəʊpɪŋ ˈstrætədʒi/) แนวทางในการจัดการกับความเครียดและความรู้สึกที่ยากลำบาก ก็เป็นเรื่องสำคัญ ศัพท์ที่เกี่ยวข้องที่พบเจอกันบ่อย ๆ ได้แก่
• Mindfulness (/ˈmaɪndflnəs/) การฝึกสติและการรับรู้ถึงปัจจุบัน
• Relaxation Techniques (/ˌriːlækˈseɪʃn tekˈniːk/) เทคนิคการผ่อนคลาย ผ่านการทำกิจกรรม เช่น การหายใจลึก ๆ การทำโยคะ หรือการนั่งสมาธิ
• Resilience (/rɪˈzɪliəns/) (ความยืดหยุ่นทางจิต) คือความสามารถในการรับมือเมื่อพบเจออุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต คนที่มีความยืดหยุ่นทางจิตใจจะไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าเสียใจหรือท้อแท้หลังเจอปัญหา
• Self-Care (/ˌself ˈkeə(r)/) การดูแลตัวเองผ่านกิจกรรมที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น อย่างการนอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี การใช้เวลาพักผ่อนไปกับสิ่งที่ชอบ เป็นต้น
• Positive Thinking (/ˈpɒzətɪv ˈθɪŋkɪŋ/) การคิดบวก การมองโลกในแง่ดีสามารถช่วยให้คุณบรรเทาความเครียดและสร้างพลังในการเผชิญปัญหา สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในเชิงบวกเพื่อเผชิญกับความท้าทายในชีวิต
ท้ายที่สุด การมี Mindset (/ˈmaɪndset/) หรือทัศนคติที่ดีต่อชีวิตจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต การเชื่อว่าเราสามารถเติบโตและปรับปรุงตนเองได้ทำให้เรามีแรงบันดาลใจเริ่มต้นปีใหม่ อยากให้คุณนักอ่านถือเอาช่วงเวลานี้ เริ่มต้นดูแลจิตใจของตัวเอง ฮีลจิตฮีลใจของเราให้ดี เพื่อที่ในที่สุดจะสามารถผ่านอุปสรรคและความท้าทายต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต รวมทั้งส่งต่อการฮีลใจนั้นไปสู่คนรอบข้างด้วย
Happy New Year ขอให้เป็นปีที่ใจฟูสำหรับทุก ๆ คนนะคะ
อ้างอิง
• American Psychiatric Association. (2021). Understanding Mental Disorders.
• National Institute of Mental Health. (2021). Treatments for Mental Illness.
• Mental Health America. (2022). The Importance of Support Systems in Mental Health.
• American Psychological Association. (2021). Coping with Stress and Anxiety.
อ่านเพิ่มเติม
rama.mahidol.ac.th
ปีใหม่แล้ว เปิดใจเรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคทางใจและการเยียวยากัน!
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย