วันนี้ เวลา 07:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก Credit Rating ช่วยให้ลงทุนตราสารหนี้ง่ายขึ้น

ในทุกๆ การลงทุนนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและมีการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ซึ่งทุกอย่างจะง่ายยิ่งขึ้นหากมีเครื่องมือที่สามารถคัดกรองการลงทุนในเบื้องต้นได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในตราสารหนี้ที่มี “Credit Rating” เข้ามาเป็นตัวบ่งชี้เบื้องต้นถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ โดยอันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ยิ่งต่ำลงไปด้วย
โดยวันนี้ Wealthy Thai จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Credit Rating ตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้การลงทุนในตราสารหนี้เป็นเรื่องง่ายขึ้น
ทำความรู้จัก Credit Rating
อันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating เป็นการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ โดย “สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agencies)” ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งนี้ ตราสารหนี้ที่อันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ยิ่งต่ำ
การแบ่งความเสี่ยงตามอันดับเครดิต
ข้อมูลจาก สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่า อันดับความน่าเชื่อถือแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB-) และ Speculative Grade หรือ กลุ่มเก็งกำไร (BB+ ลงไปจนถึง D) โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตจะวิเคราะห์จากผลการดำเนินงานและความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งนักลงทุนจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตตลอดระยะเวลาการลงทุน
การจัดอันดับเครดิต ระดับสากล และ ระดับประเทศ
การจัดอันดับเครดิตจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับสากล (Global Scale Rating) และระดับประเทศ (National Scale Rating) โดยอันดับเครดิตระดับสากล (Global Scale Rating) เป็นการประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยเปรียบเทียบกับหุ้นกู้หรือผู้ออกในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงเป็นการประเมินที่อยู่บนเกณฑ์เดียวกันทั่วโลก ตัวอย่างบริษัทจัดอันดับเครดิตระดับสากลที่เป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ Moody’s, Standard & Poor’s และ Fitch Ratings
ในขณะที่อันดับเครดิตระดับประเทศ (National Scale Rating) เป็นการประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยเปรียบเทียบกับหุ้นกู้หรือผู้ออกภายในประเทศนั้นๆ เกณฑ์ที่ใช้อ้างอิงจึงอาจต่างกัน ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับเครดิตในประเทศไทยมี 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
พันธบัตรรัฐบาลจัดเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk free)
อันดับความน่าเชื่อถือเป็นลักษณะที่สำคัญของตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ที่ถือเป็นตราสารหนี้ที่ปราศจากความเสี่ยงด้านเครดิต เนื่องจากรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในประเทศ จากการที่รัฐบาลมีอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อมาใช้คืนหนี้
ดังนั้นพันธบัตรรัฐบาลจึงถือเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk free) อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลต้องการออกตราสารไปขายต่างประเทศก็จะมีการจัดอันดับเครดิตเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลือกตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับเครดิตในระดับสูงจะมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ แต่เนื่องจากการจัดอันดับเครดิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากปัจจัยหลายด้าน อาทิ ผลการดำเนินงานของบริษัท, แนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัท ส่งผลให้อันดับเครดิตอาจถูกลดระดับลงได้
ดังนั้น ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีระดับความเสี่ยงที่สอดคล้องกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตน พร้อมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น จะได้ปรับแผนการลงทุน เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
โฆษณา