เมื่อวาน เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

‘สมรสเท่าเทียม’ บังคับใช้แล้ว คู่สมรส LGBTQ+ ได้สิทธิอะไรบ้าง

23 มกราคม 2568 ประเทศไทย สร้างประวัติศาสตร์บังคับใช้กฏหมาย “สมรสเท่าเทียม” หรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งจะทำให้คู่รัก “LGBTQ+” หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศใช้กฎหมายนี้
กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ได้แก้ไขใจความหลักของการสมรสจากชายและหญิง เป็น “บุคคล” โดยเปลี่ยนถ้อยคำจาก “สามี-ภริยา” เป็น คู่สมรส ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ฉบับแก้ไขใหม่เพื่อรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม อีกทั้งมีการแก้ไขอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส จาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ และกำหนดรับรองสิทธิของคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ ให้มีสิทธิตามกฎหมายอื่น ๆ เหมือนกับสามี-ภริยา ได้ตามกฎหมายแพ่งเดิม
ดังนั้นบุคคลที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ จะต้องเป็นบุคคลสองคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ถ้าอายุยังไม่ถึง 20 ปี และไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้รับบุตรบุญธรรม โดย
ชาวไทยสามารถจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติได้
โดยสิทธิที่คู่สมรสจะได้รับได้แก่ การหมั้น การสมรส การจดทะเบียนสมรส การฟ้องหย่า การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส และการรับบุตรบุญธรรม
นอกจากนี้ ยังจะได้รับสิทธิที่กำหนดไว้ตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว คู่สมรสที่จดทะเบียนยังได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ๆ ไว้อีกด้วย เช่น สิทธิในการใช้นามสกุลของคู่สมรส สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล สิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการกรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม และสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิทธิอีกหลายประการที่คู่ LGBTQ+ ยังไม่ได้รับ เช่น แม้จะจดทะเบียนสมรสกับต่างชาติได้ แต่การได้สัญชาติตามคู่สมรส เช่นเดียวกับการทำเด็กหลอดแก้ว (ผสมเทียม) และการอุ้มบุญที่ยังทำไม่ได้ ซึ่งต้องรอการแก้กฎหมายต่อไป
โฆษณา