23 ม.ค. เวลา 08:04 • ข่าว

เตือน "สารเคมี" เกาะฝุ่น PM 2.5 ลงลึกถึง "ถุงลม" เร่งศึกษาหวั่นก่อมะเร็งปอด

ประกาศ WFH เรื่องยาก ปมจ่ายค่าจ้าง
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลกระทบฝุ่น PM 2.5 ว่า ข้อมูลสะสมตั้งแต่ ต.ค. 2567 - ม.ค.2568 มีรายงานผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังจากฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 1 ล้านราย มากที่สุดคือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นราว 2 แสนราย
การรับฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง กรณีที่ป่วยอยู่แล้ว ในระยะยาวจะทำให้ป่วยรุนแรง เช่น ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือหอบหืดอยู่แล้ว แทนที่จะหายใจได้บ้างก็กลายเป็นหายใจลำบาก เพราะฝุ่นทำให้โรคไม่หายเสียที
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับสารเคมีตัวอื่นที่เกาะกับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายได้ด้วย ซึ่ง ฝุ่น PM 2.5 เข้าไปได้ลึกถึงถุงลม สารเคมีที่มาจับกับฝุ่นก็จะเข้าไปได้ลึกตามไปด้วย ที่เรากังวลคือ การก่อให้เกิดมะเร็งปอดในอนาคต
เมื่อถามว่า การได้รับฝุ่น PM 2.5 อยู่เรื่อยๆ ระยะยาวทำให้อวัยวะที่ได้รับผลกระทบทำงานอ่อนแอลงด้วยหรือไม่ พญ.ฉันทนา กล่าวว่า คงไม่เหมือนกับโควิด ผลกระทบจริงๆ ของฝุ่น PM 2.5 จะเข้าไปทำร้ายเซลล์หลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากฝุ่น PM2.5 เข้าไปทำให้ผนังเส้นเลือดไม่แข็งแรง หรือกรณีที่เกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคเกี่ยวกับสมองเพราะฝุ่น PM 2.5 เข้าไปทำให้เส้นเลือดสมองไม่แข็งแรง ทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย
เมื่อถามว่า ฤดูฝุ่นมาเป็นระยะ พอพ้นไปแล้วร่างกายจะสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่ พญ.ฉันทนา กล่าวว่า ถ้าเป็นกรณีการอักเสบ เหมือนเป็นแผล ถ้าไม่มีฝุ่น PM2.5 เข้ามาทำให้เกิดการระคายเคืองอีก ก็สามารถหายได้ แต่กรณีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืดก็จะเข้าสู่ภาวะโรคปกติ เช่น ยังต้องพ่นยาอยู่ แต่ก็ไม่ต้องพ่นเยอะเหมือนช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 แต่ในส่วนของมะเร็งนั้น อาจจะต้องดูระยะยาว นี่คือสิ่งที่เราต้องติดตาม
“เรื่องของมะเร็งปอดที่มาจากฝุ่น PM 2.5 ยังต้องเก็บข้อมูลในระยะยาว แต่ก็เห็นตัวอย่างในหลายๆ ประเทศแล้ว แม้แต่ในไทยเองก็พบมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ทั้งที่มีประวัติคลีนมาก ก็อาจเป็นเรื่องของฝุ่นเป็นหลัก ตอนนี้จึงมีการศึกษาวิจัยไปข้างหน้าว่ามันจะเกิดขึ้นไหม ตอนนี้เราคาดการณ์จากประเทศอื่นๆ ที่เขาทำวิจัย ส่วนของไทยเราเพิ่งเริ่ม ยังไม่นานพอที่จะทำให้เห็นว่ามันเกี่ยวกับฝุ่น แต่ก็พอเห็นเคสที่มีความเป็นไปได้ว่ามาจากฝุ่น” พญ.ฉันทนา กล่าว
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ
พญ.ฉันทนา กล่าวว่า วันนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ การเผาในที่โล่ง ซึ่งพบมากที่สุดในตอนนี้ ต่อมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และการคมนาคมขนส่ง นอกจากฝุ่น PM 2.5 ยังมีสารพิษที่น่ากลัว และน่ากังวลที่สามารถเกาะมากับ PM 2.5 คือ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon : PAHs) โดยเฉพาะการเผาไหม้ที่เกิดจากการเผายาง หรือการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดสาร PAHs เช่นกัน
ถามว่า ขณะนี้สังคมมองว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเกี่ยวกับเรื่อง PM 2.5 น้อยมาก และล่าช้ามาก ในทางปฏิบัติได้มีการทำอะไรไปแล้วบ้าง พญ.ฉันทนา กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามแจกแจงว่า ความเจ็บป่วยที่เกิดในฤดูฝุ่นนั้นมากน้อยแค่ไหน แต่การแจกแจงจะสำเร็จได้ ฝ่ายตรวจรักษาต้องช่วยกันรายงานผลด้วย ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะรายงานเข้ามาน้อยอยู่ หรือยังมีข้อสงสัยว่าโรคที่เกิดขึ้นต่างๆ ในฤดูฝุ่นนั้นเกิดจากฝุ่นจริงหรือไม่ ตรงนี้เราก็พยายามอยู่
ถามถึงข้อจำกัดของการที่ยังไม่สามารถประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น เพื่อให้มีมาตรการ Work From Home พญ.ฉันทนากล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีผู้แทนจากหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้น คือ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
เรามีการหารือถึงกรณี Work From Home จะถือเป็นการทำงานที่ได้รับค่าจ้างหรือไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องไปดำเนินการในเรื่องนี้ว่า หากมีการประกาศใช้มาตรการ Work From Home เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 จะต้องทำอย่างไร หรือจะทำอย่างในกรณีการระบาดของโควิด 19 ที่เป็นการลาป่วยแบบที่ยังได้รับค่าจ้าง
นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วยว่าเขาสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เน้นเรื่องสุขภาพ การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุม ฉะนั้นในเรื่องบทลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Work From Home จึงไม่สามารถทำได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานอาจหารือกับผู้ประกอบการในแง่ว่า หากมี Work From Home แต่ยังมีค่าจ้างให้ดีกว่าการไปลงโทษ
เมื่อถามว่าที่ประชุมมีข้อสั่งการไปยังกระทรวงอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ พญ.ฉันทนา กล่าวว่า เน้นหารือเรื่องการประกาศเขตพื้นที่ จึงยังไม่ได้หารือเรื่องอื่น ซึ่งจะอยู่ในแนวทางถัดไป ที่ต้องประสานยังกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ลดการเผาในที่โล่งที่เป็นปัญหาสูงสุด
โฆษณา