Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
5 ชั่วโมงที่แล้ว • การเมือง
'ทรัมป์’ สามารถเป็นพระราชาได้หรือไม่ ‘คำสั่งฝ่ายบริหาร’ มีอำนาจอันล้นพ้นหรือมีขอบเขตที่ถูกยับยั้งได้
การออกคำสั่งฝ่ายบริหารมากมายของปธน.‘โดนัลด์ ทรัมป์’ โดยไม่ต้องผ่านสภา จุดกระแสถกเถียงในสังคมว่า อำนาจนี้มีขอบเขตหรือไม่ จะสามารถทำให้ทรัมป์กลายเป็น ‘พระราชา’ ได้จริงหรือ หากคำสั่งเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะมีวิธีใดในการยับยั้งคำสั่งเหล่านี้ได้บ้าง
“เพียง 1 วัน” ของการบริหาร “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ใช้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐเซ็น “คำสั่งฝ่ายบริหาร” (Executive Order) มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพิกถอนคำสั่งบริหารในยุคไบเดนรวดเดียว 78 ฉบับ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสและองค์การอนามัยโลก ปราบปรามผู้อพยพ ยกเลิกสถานะพลเมืองโดยกำเนิด เลื่อนแบน TikTok ฯลฯ
คำถามที่น่าสนใจคือ “คำสั่งฝ่ายบริหาร” จะทำให้ทรัมป์ กลายเป็นเหมือน “พระราชา” ได้หรือไม่ ซึ่งสามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ หรืออำนาจนี้มีข้อจำกัด ซึ่งสามารถถูกลบล้างได้ และถ้าเช่นนั้น อำนาจใดจะสามารถลบล้าง Executive Order นี้
📌 คำสั่งฝ่ายบริหารมีไว้เพื่ออะไร
โดยปกติแล้ว การออกกฎหมายใด ๆ มักกระทำผ่านสภา ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอนตั้งแต่การรับหลักการ ตั้งคณะกรรมาธิการ ลงมติวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 ต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาไม่น้อย อีกทั้งยังต้องรวบรวมเสียงข้างมากในสภาด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิด “Executive Order” ขึ้นมา ตามมาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐ เพื่อทำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ได้อย่าง “รวดเร็ว” และ “เฉียบขาด” ไม่ต้องล่าช้าหรือถูกปัดตกจากกระบวนการรัฐสภา โดยคำประกาศของปธน.เหล่านี้มีผลบังคับใช้เสมือนกฎหมาย
📌 คำสั่งฝ่ายบริหารมีอำนาจอันล้นพ้นหรือไม่
สำหรับอำนาจนี้ก็มี “ขอบเขต” ตามระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐบาลกลางและไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
มีคำสั่งหนึ่งจากทรัมป์ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ นั่นคือ “การยกเลิกสถานะพลเมืองโดยกำเนิด” โดยแต่เดิมนั้น เด็กคนไหนที่เกิดในแผ่นดินสหรัฐ ต่อให้พ่อแม่เป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย หรือเป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราว เด็กคนนั้นก็จะได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ
แต่ช่องโหว่ของกฎหมายนี้คือ เกิดคลื่นอพยพจากหลายประเทศ แห่ลักลอบเข้ามายังสหรัฐเพื่อคลอดลูก จนรัฐบาลอเมริกาต้องแบกรับภาระงบประมาณจากเด็กเหล่านี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งประชาชนไม่น้อยก็มองว่า หากจะได้สัญชาติอเมริกัน ควรมาด้วยกระบวนการถูกกฎหมายจะดีกว่า
ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงใช้อำนาจฝ่ายบริหารเพิกถอนสิทธินี้ เด็กที่พ่อแม่เข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมายรวมถึงใช้วีซ่าชั่วคราว จะไม่ได้รับสัญชาติอเมริกันอีกต่อไป
ไม่นานนัก ก็เกิดกลุ่มประท้วงทรัมป์ขึ้น นำโดยอัยการสูงสุดจาก 22 รัฐ รวมถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยื่นฟ้องศาล เพื่อท้าทายคำสั่งทรัมป์ พวกเขาอ้างว่า สถานะพลเมืองโดยกำเนิดนี้ได้รับการรับรองตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 14
อีกทั้งกล่าวเสริมต่อว่า การจะถูกยกเลิกได้ ก็ควรทำผ่านกระบวนการรัฐสภา ซึ่งต้องอาศัยเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายความว่า หากทำผ่านสภา โดยไม่ใช้ Executive Order จะต้องทำให้ผู้แทนพรรครีพับลิกันเห็นชอบทั้งหมด และต้องดึงผู้แทนจากพรรคเดโมแครตจำนวนหนึ่งให้เห็นชอบด้วยในทั้งสองสภา ซึ่งค่อนข้างยากอย่างยิ่ง
ในขณะนี้ เรื่องดังกล่าวกำลังไปที่ศาลสูงสุดของสหรัฐในการวินิจฉัยว่า คำสั่งทรัมป์ในเรื่องนี้ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่
📌 อำนาจใดสามารถลบล้างคำสั่งฝ่ายบริหาร
สำหรับฝ่ายที่จะถ่วงดุล “อำนาจประธานาธิบดี” ได้ คือ “ศาลสูงสุด” และ “สภาคองเกรส” เริ่มจากศาลสูงสุด ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฝ่ายบริหาร โดยยกเหตุผลว่าขัดต่อกฎหมาย ก็สามารถยื่นต่อศาลให้พิพากษาได้ อย่างกรณีคำสั่งยกเลิกสถานะพลเมืองโดยกำเนิดของทรัมป์
ในส่วนของสภาคองเกรส แม้จะไม่มีอำนาจลบล้างคำสั่งฝ่ายบริหารโดยตรง แต่สามารถ “ออกกฎหมาย” อีกฉบับที่ขัดขวางคำสั่งฝ่ายบริหารได้ หรือแม้แต่การ “ไม่อนุมัติงบประมาณที่จำเป็น” ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสมัยแรก ทรัมป์ออกคำสั่งสร้างกำแพงกั้นพรมแดน เพื่อสกัดผู้อพยพจากเม็กซิโก
ด้านผู้แทนสภาที่นำโดยพรรคเดโมแครตได้ขัดขวาง ด้วยการไม่อนุมัติงบประมาณให้ ทำให้แม้จะมีคำสั่งบริหารจากทรัมป์ออกมา แต่เมื่องบประมาณไม่ผ่าน นโยบายก็ยังไม่สามารถเป็นจริงได้สำหรับกรณีการสร้างกำแพง
อย่างไรก็ตาม แม้สภาจะพอขัดขวางคำสั่งฝ่ายบริหารได้ แต่ไม่ใช่ทำได้ง่าย เพราะประธานาธิบดีมีอำนาจในการวีโต้ (คัดค้าน) ด้วย กล่าวคือ กฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ หากประธานาธิบดีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนั้น ก็สามารถใช้สิทธิวีโต้ ตีกลับไปยังสภา โดยให้เหตุผลที่ไม่เห็นชอบ
หากรัฐสภายังคงต้องการผ่านกฎหมายนี้ให้เป็นกฎหมายจริง ๆ จะต้องลงคะแนนเสียงใหม่และต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ “อย่างน้อย 2 ใน 3” ของ “ทั้งสองสภา” เพื่อยับยั้งการวีโต้ของประธานาธิบดี ซึ่งค่อนข้างท้าทายอย่างยิ่ง
โดยสรุปแล้ว “คำสั่งฝ่ายบริหาร” เหมือนดั่ง “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่ทำให้ประธานาธิบดีดำเนินนโยบายได้อย่างรวดเร็ว ทว่าก็ไม่สามารถทำได้ดั่งใจทุกอย่าง โดยศาลสามารถออกคำพิพากษาขัดขวางได้ หากขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงรัฐสภาก็สามารถออกกฎหมายยับยั้งได้ แต่ประธานาธิบดีก็วีโต้กลับได้เช่นกัน จึงทำให้การขัดขวางคำสั่งโดยตรงไม่ง่ายนัก สภาจึงมักสกัดผ่านวาระอนุมัติงบประมาณแทน
อ่านฉบับเต็มได้ที่:
https://www.bangkokbiznews.com/world/1163441
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightForOpportunities #กรุงเทพธุรกิจupdate
บันทึก
5
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย