5 ชั่วโมงที่แล้ว • ประวัติศาสตร์

"พระอภัยมณี" กับสังคมต้นรัตนโกสินทร์

หลายคนคงคุ้นเคยกับวรรณคดีเรื่อง "พระอภัยมณี" ของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) กันอยู่แล้วนะครับ แต่ถ้าเราตั้งใจพินิจพิเคราะห์ดูให้ดีแล้ว วรรณคดีเรื่องนี้ได้สอดแทรกบ้านเมืองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไว้มากมายเลยครับ เราไปดูกันดีกว่าว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะบรรยายภาพยุคต้นรัตนโกสินทร์ไว้อย่างไร
สุนทรภู่ประพันธ์วรรณคดีเรื่องนี้ไว้ในประมาณ พ.ศ. 2364-2388 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงต้นรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงฟื้นฟูบ้านเมืองจากการเสียกรุงศรีอยุธยา เนื้อหาในวรรณคดีจึงเต็มไปด้วยอภินิหารและความเชื่อตามคตินิยมของไทยในสมัยอยุธยา เพื่อเป็นการปลอบประโลมจิตใจของชาวเมือง และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กรุงรัตนโกสินทร์ว่าจะเป็นเหมือนในสมัยบ้านเมืองยังดีด้วย
ในช่วงนั้นเป็นยุคสมัยที่ติดต่อค้าขายและการเดินทางทางทะเลกำลังเฟื่องฟู การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมาก ชาวไทยเริ่มเปิดโลกทัศน์แบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เริ่มรู้จักกับชาติอื่นๆ ที่อยู่นอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากบรรยากาศในเรื่องที่มีการเดินเรือ และมีดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไปในทะเลเข้ามาเกี่ยวข้อง แทนที่จะเป็นโลกตามคติไตรภูมิเพียงอย่างเดียว
และในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2-3 เป็นสมัยที่มีการแผ่ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางมาก และในพระนครก็มีหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน ในเรื่องเราจึงจะได้เห็นคนหลากหลายเชื้อชาติ และยังมีชาวยุโรปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องจะมีช่วงที่นางละเวงวัณฬา ธิดาของกษัตริย์ลังกากำลังรบกับพระอภัยมณี จึงได้ส่งสาส์นไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองต่างๆ เช่น เจ้าแขก เจ้าจีน ฯลฯ และยังมีการนำมาแสดงประกอบวงปี่พาทย์ ที่เรียกว่า เพลงสิบสองภาษา ด้วยครับ
"พระอภัยมณี" จึงไม่ได้เป็นเพียงวรรณคดีที่งดงามตามคตินิยมไทยเดิม แต่ยังสอดแทรกบริบทประวัติศาสตร์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ไว้ได้อย่างแยบยล สุนทรภู่ใช้เรื่องราวในวรรณคดีเพื่อถ่ายทอดแง่มุมของสังคม ความเชื่อ และความสัมพันธ์ไทยกับนานาชาติในยุคนั้นได้อย่างลึกซึ้ง และทำให้เราเห็นภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นได้ชัดเจนขึ้น
(ภาพหน้าปกจากเว็บไซต์ กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
โฆษณา