เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติศรีพังงาที่ ศง.4 (คุรอด) ได้บันทึกภาพเลียงผาหนุ่มเดินหากินอย่างสบายใจ บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์ฯ ศง.4 (คุรอด) อุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา
เลียงผา (เยือง หรือ กูรำ หรือ โครำ) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Serow และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝘊𝘢𝘱𝘳𝘪𝘤𝘰𝘳𝘯𝘪𝘴 𝘴𝘶𝘮𝘢𝘵𝘳𝘢𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴
เลียงผา มีรูปร่างคล้ายแพะ แต่ไม่มีเครา ขนหยาบและยาวกว่า มีสีดำเกือบทั้งตัว หูยาวเหมือนลา มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขายาวประมาณ 4 - 8 นิ้ว โคนเขามีหยักเป็นวงรอบ ๆ ปลายเขากลมเรียวโค้งไปข้างหลังเล็กน้อย เท้าของมันแข็งแรงมาก กีบเท้าแข็งแกร่ง สำหรับอาหารของเลียงผา ได้แก่ ใบไม้อ่อน หน่อพืชบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีกลิ่นหอม รวมทั้งกินหญ้า เปลือกไม้ และกิ่งไม้
ชอบอาศัยอยู่ตามป่าสูงที่มีหน้าผาหรือโขดหินสูงชัน มีชะง่อนผากำบังเพียงพอ หรือเข้าไปอยู่ ในถ้ำที่คนเข้าไปไม่ถึง นิสัยปกติขี้อาย แต่จะดุเมื่อบาดเจ็บหรือจนตรอก ปกติชอบออกหากินตามลำพังตัวเดียว ออกหากินตอนเย็นและเช้าตรู่ ส่วนตอนกลางวันนอนหลบพักตามป่าละเมาะหรือป่าลึก
ปัจจุบัน “เลียงผา” ยังเป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวนทั้ง 21 ชนิดของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ตาม IUCN Red List
การพบเห็น “เลียงผา” ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์และการทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในผืนป่าศรีพังงา
ที่มา : ส่วนอุทยานแห่งชาติ
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)
อุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา
#อุทยานแห่งชาติศรีพังงา #พังงา #เลียงผา #สัตว์ป่าสงวน #กรมอุทยานแห่งชาติ