25 ม.ค. เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์

เทศกาลวันตรุษจีน เก่าแก่แค่ไหน? เกิดมาจากอะไร? รู้ได้อย่างไรว่าต้องจัดวันนี้?

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะเข้าสู่ช่วง “เทศกาลตรุษจีน” กันแล้ว ซึ่งแน่นอนด้วยความที่ว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีเหล่าผู้คนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอีกแห่งหนึ่งรองจากจีนแผ่นดินใหญ่
โดยเฉพาะในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่มีชมชุนคนเชื้อสายจีนใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ทำให้เทศกาลตรุษจีน กลายมาเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของผู้คนในภูมิภาคนี้
ประเทศจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน แน่นอนว่าหลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและคิดค้นโดยคนจีน เทศกาลตรุษจีนนี้ก็เช่นกัน
ใคร ๆ ก็รู้จักวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติในฐานะของวันตรุษจีน แต่รู้ไหมว่า ชาวจีนเนี่ย เขาคิดและจัดตั้งวันตรุษจีนเริ่มแรกเลยตั้งแต่เมื่อไหร่กัน? แล้วมันมีที่มาและพัฒนาการของเทศกาลมาจากอะไร อย่างไรกันแน่?
⭐ ย้อนรอย “ตรุษจีน” โดยสังเขปผ่านบันทึกทางประวัติศาสตร์
การฉลองปีใหม่ของจีน ปรากฎการบันทึกชัดเจนในช่วงราชวงศ์ฮั่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รูปแบบพิธีการในเทศกาลตรุษจีน อาจจะย้อนไปได้ไกลกว่านั้น ที่ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลเพาะปลูกขึ้นมาในกวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดของจีนอย่าง Shijing จากสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก
โดยเนื้อความตอนหนึ่งใน Shijing ที่ถูกประพันธ์โดยชาวนานิรนามผู้หนึ่งได้บรรยายถึงเทศกาลสิ้นสุดฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิบของปฏิทินเก่า ว่ามีการทำความสะอาดลานตากข้าว มีการนำไวน์ข้าวและเนื้อสัตว์ที่เอาไปทำอาหารไปดื่มฉลองร่วมกันกับผู้อื่น มีการไปคำนับบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือด้วยและอวยพรให้สุขภาพดี ซึ่งการเฉลิมฉลองดังกล่าวนี้อาจจะเป็นต้นเค้าของการฉลองวัดตรุษจีนขึ้นมา
ในบันทึกจากยุครณรัฐหรือยุคจั้นกั๋ว ได้มีการกล่าวถึงพิธีการขจัดปัดเป่าโรคภัยต่าง ๆ ในช่วงสิ้นปี ก่อนที่พิธีการดังกล่าวจะได้รับความนิยมไปทั่วหลังสิ้นสุดยุคจั้นกั๋วที่ตามมาด้วยการขึ้นครองราชย์ของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าพิธีการดังกล่าวได้พัฒนากลายมาเป็นการทำความสะอาดบ้านในช่วงตรุษจีนดังที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
1
บันทึกยุคจั้นกั๋วที่เราได้กล่าวถึงไปได้พูดถึงเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติในวันสิ้นปี แต่ในส่วนของธรรมเนียมปฏิบัติในวันปีใหม่นั้น พบบันทึกเก่าสุดในราชวงศ์ฮั่นดังที่กล่าวไปหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฉิน โดยในหนังสือ Simin Yueling ไของ Cui Shi ได้กล่าวถึงธรรมเนียมที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกับธรรมเนียมในวันสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก
แต่เพิ่มเติมมาว่าเป็นการพาครอบครัวไปไหว้บรรพบุรุษในวันแรกของเดือนแรกของปี มีการยกจอกคำนับและอวยพรให้มีสุขภาพดี การไปคำนับและอวยพรให้กันดูเหมือนจะเป็นวัตรปฏิบัติประจำตรุษจีนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และมีพัฒนาการเรื่อยมาในราชวงศ์ถัด ๆ มา
อาทิ ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ที่มีบันทึกถึงการกินเลี้ยงฉลองและมอบของขวัญให้กัน, ในช่วงราชวงศ์ถังมีธรรมเนียมการเขียนการ์ดมอบให้ในวันตรุษจีน, หรือในช่วงราชวงศ์ซ่งที่มีการจุดประทัดแบบใช้ดินปืนและการให้อั่งเปากันด้วย เป็นต้น
จากเนื้อหาดังกล่าวใน Simin Yueling เราจะเห็นว่ามีการกำหนดวันที่ชัดเจนว่าเป็นวันแรกของเดือนแรก ของปี ซึ่งในส่วนนี้นั้น ในทางปฏิทินจันทรคติของจีนนั้น มีการนับเดือนที่ต่างจากการนับเดือนของไทยเราอยู่พอสมควร
เพราะในขณะที่ไทยเรานั้นนับเอาเดือนหนึ่งหรือเดือนอ้ายตรงกับเดือนธันวาคมนั้น เดือนหนึ่งของปฏิทินจีนกลับมาตั้งอยู่ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์แทน ซึ่งเดือนหนึ่งของจีน จะตรงกับเดือนสามของไทย การกำหนดวันตรุษจีนจึงยึดโยงอยู่กับวันตามปฏิทินจันทรคติจีนนี่เอง
⭐ ตำนาน “เหนียน” สัตว์ร้ายผู้หวาดกลัวเสียงประทัดและสีแดง
นอกเหนือจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นบันทึกตัวเขียนแล้ว ยังคงมีอีกความเชื่อกระแสหนึ่งที่เชื่อว่าตรุษจีนนั้นอาจจะเก่าแก่ถึงยุคราชวงศ์ซาง (1 ราชวงศ์ก่อนหน้าราชวงศ์โจวที่พบหลักฐาน) โดยกล่าวกันว่าในยุคราชวงศ์ซางมีธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษ และกินเลี้ยงฉลองในวันสิ้นปีกัน อีกทั้งยังเชื่อว่ายุคราชวงศ์ซางยังเป็นพื้นหลังของเรื่องเล่าตรุษจีนที่ว่าด้วย “เหนียน” อีกด้วย
“เหนียน” ไม่ใช่เพียงแค่คำว่า “ปี” ในภาษาจีน แต่ยังเป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้เรียกสัตว์ประหลาดสีแดงตนหนึ่ง โดยตำนานเล่ากันว่าเหนียนเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในยุคจีนโบราณ โดยบ้างก็เล่าว่ามีหน้าตาคล้ายกับสิงโตแต่ตัวเป็นสุนัข มีฟันที่น่ากลัวแหลมคม บ้างก็เล่าว่าเหนียนตัวใหญ่ยักษ์กว่าช้าง มีเขาสองข้างและมีฟันแหลมคมด้วย
โดยอุปนิสัยของเหนียนนั้นจะออกมากินคนยามดึกในช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ แต่แล้วอยู่มาปีหนึ่ง ชาวบ้านรวมตัวกันไปหนีซ่อนอยู่ที่หนึ่ง แต่ก็มีชายแก่คนหนึ่งโผล่มาบอกว่าจะจัดการเหนียนให้ โดยชายแก่ได้นำเอากระดาษสีแดงมาไว้รอบหมู่บ้านพรอมกับจุดประทัด ทำให้สามารถไล่เหนียนไปได้ ชาวบ้านเห็นเช่นนั้นจึงยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงปีใหม่ที่เหนียนออกมาอาละวาด ทำให้เธอธรรมเนียมการจุดประทัดและประดับประดาด้วยสีแดง เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่าเหนียนกลัวสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
อย่างไรก็ดี ตำนานก็ยังคงเป็นเพียงแค่ตำนาน โดยตำนานเรื่องเล่าเหนียนนี้ไม่น่าจะเป็นตำนานที่เก่าแก่มากมายนักโดยนอกเหนือจากการที่เกี่ยวข้องกับวันตรุษจีนแล้ว ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับตำนานการเชิดสิงโตด้วย โดยเชื่อว่าการเชิดสิงโตนั้นมันทั้งเสียงดังและมีสีแดงจะสามารถไล่เหนียนออกไปได้
⭐ ตรุษจีน 15 วัน เขาทำอะไรกันบ้าง?
ในปัจจุบันนี้ คนไทยเราอาจจะนับวันตรุษจีนอยู่ 3 วันหลัก ๆ คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่เดิมทีในจีนนั้น เทศกาลตรุษจีนจะจัดนานถึง 15 วันด้วยกัน นับตั้งแต่วันตรุษจีนไปจนถึงเทศกาลโคมไฟหรือ Cap go meh แล้วก็มีพิธีการอื่น ๆ ในช่วงก่อนวันตรุษจีนเหมือนกับที่เห็นในไทย ก็คือมีวันจ่ายและวันไหว้เหมือนกัน โดยในทางจีนนั้น ตลอดทั้ง 15 วันก็มีธรรมเนียมต่างกันไป
วันที่ 1 บางบ้านอาจจะงดรับประทานเนื้อสัตว์ในมื้อแรกของวัน เป็นวันที่เที่ยวไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่คนต่าง ๆ ตามลำดับอาวุโส มีการจุดประทัด เชิดสิงโต เฉลิมฉลอง ตามธรรมเนียมการขับไล่เหนียนในตำนาน นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามต่าง ๆ อาทิ ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามกวาดบ้าน เป็นต้น
วันที่ 2 จะเป็นวันที่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว พาสามีและลูกเดินทางกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านเกิด
วันที่ 3 เป็นวันที่เชื่อว่าผู้คนจะทะเลาะกัน คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะอยู่บ้านในวันนี้ นอกจากนี้ยังมีตำนานที่เล่าว่าวันนี้เป็นแต่งงานของหนู (นักษัตรปีชวด) จึงมีธรรมเนียมในการวางพวกข้าวไว้ในครัว เพื่อเป็นของขวัญแต่งงานให้กับหนู โดยเชื่อว่าหนูจะตอบแทนด้วยการไม่มารบกวนตลอดทั้งปี
วันที่ 4 เชื่อกันว่าเป็นวันไหว้เทพเจ้าเตาไฟในครัว จะมีการถวายของและขอพรให้ไม่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในครัว
วันที 5 จะเป็นวันไหว่เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี้ย และไม่นิยมออกจากบ้านไปนาน ๆ ในวันนี้เพราะเชื่อว่าถ้าเทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี้ยมาหาแล้วไม่อยู่บ้านกันจะไม่ได้รับพร แล้วก็เป็นวันที่ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป
วันที่ 6 จะเป็นวันที่คนส่วนใหญ่ไปเข้าวัด บ้างก็ว่าเป็นวันที่เจ้าแม่จีโกวผู้รักษาห้องสุขาจะแวะมา จึงนิยมทำความสะอาดห้องน้ำในวันนี้ อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นวันที่ส่งความจนออกไปจากบ้านผ่านการเอาเสื้อผ้าเก่าไปทิ้ง
วันที่ 7 ในบางพื้นที่อาจจะกินอาหารมงคลต่าง ๆ อาทิ ปลาสำหรับธุรกิจ ก๋วยเตี๋ยวสำหรับอายุยืนยาว โจ๊กที่มีหมู ตับและไต สำหรับความรู้
วันที่ 8 เป็นวันที่เชื่อกันว่าเป็นวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลอง มีการพยายามกินอาหารที่เหลือจากช่วงตรุษจีนให้หมดภายในวันนี้ มีการปล่อยนกปล่อยปลาบ้าง
วันที่ 9 เป็นวันเกิดจักรพรรดิหยก หรือเง็กเซียนฮ่องเต้ จึงมีการไหว้และเฉลิมฉลองให้เง็กเซียนฮ่องเต้
วันที่ 10 เป็นวันเกิดพระแม่ธรณี ตี่บ้อเนี่ยเนี้ย
วันที่ 11 บางพื้นที่นับเป็นวันที่ฝั่งพ่อตาแม่ยายเชิญลูกเขยมาเยี่ยม
วันที่ 12 เป็นวันเตรียมพร้อมสำหรับเทศกาลโคมไฟ
วันที่ 13 เป็นวันประดับโคมไฟ
วันที่ 14 เป็นวันจุดโคมไฟ
วันที่ 15 เป็นวันเทศกาลโคมไฟ และเชื่อกันว่าเป็นวันแห่งความรักหรือวาเลนไทน์ของจีนด้วย โดยในบางพื้นที่อย่างเช่นที่มาเลเซีย จะมีธรรมเนียมที่สาวโสดจะโยนส้มที่มีช่องทางติดต่อเอาไว้ พอฝ่ายชายมาเลือกส้มที่ถูกใจก็จะได้ติดต่อสานสัมพันธ์กัน
⭐ เมื่อวันขึ้นปีใหม่จันทรคติ ไม่ควรเป็นของจีนแต่เพียงผู้เดียว
เทศกาลตรุษจีนนับว่าเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญของผู้ที่มีเชื้อสายจีนในหลากหลายพื้นที่ทั่วทุกมุมโลก แต่อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันก็มีบางกระแสที่ให้มุมมองว่าเทศกาลขึ้นปีใหม่นี้ไม่ควรที่จะเหมารวมว่าเป็นงาน Chinese New Year เพียงอย่างเดียว ควรที่จะเรียกว่า Lunar New Year มากกว่า
เพราะว่าไม่ได้ฉลองกันแค่ในจีนเพียงอย่างเดียว ในกลุ่มประเทศที่ใช้ปฏิทินจันทรคติอื่นก็มีรูปแบบการฉลองที่คล้ายกัน ทำให้เกิดเป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตขึ้นมา
ผู้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าการเหมารวมให้วันขึ้นปีใหม่จันทรคตินั้นกลายเป็นตรุษจีนเสียหมดมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก โดยกรณีสำคัญก็คือในส่วนของจีนและเกาหลี ซึ่งกลายเป็นเรื่องของสำนึกในระดับชาติ กลายเป็นกระแสชาตินิยมที่พยายามต่อต้านการถูกกลืนกลายของวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติที่เป็นวัฒนธรรมร่วมในกลุ่มประเทศตรงนั้น ไม่ควรที่จะเรียกว่าเป็นตรุษจีนอย่างเดียว จึงมองการเรียกว่า “วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ” จะเป็นการประณีประนอมกันระหว่างวัฒนธรรมมากที่สุด
ผู้เขียน: ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ: บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ตรุษจีน #ประวัติศาสตร์ #จีน #bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
โฆษณา