24 ม.ค. เวลา 08:41 • ข่าว

เปิด 5 จังหวัด ค่าฝุ่น PM 2.5 "สีแดง" เกิน 3 วัน

อึ้ง!! ยังไม่มีที่ไหนชงประกาศพื้นที่ควบคุมโรค
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 สถานการณ์และการดำเนินงานของ สธ. ว่า ปัญหาหมอกควันและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนขณะนี้ ถือเป็นวาระสำคัญของ สธ. สืบเนื่องจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้เตรียมการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเร่งด่วนในทุกกระทรวง
ส่วนของ สธ.มีการดำเนินการหลายส่วนและมีแผนดำเนินการต่างๆ ตามข้อสั่งการ ดังนี้ 1.ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติกรฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ซึ่งเปิดวันนี้เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัดและอีก 2 เขตสุขภาพที่เปิดไปก่อนหน้าแล้ว ให้มีการติดตามจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และอาการกำเริบที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องทุกวัน
2.ด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้ ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารสุขภาพด้านฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีการแถลงข่าวต่อเนื่องมาแล้ว 3 วัน และจะแถลงทุกวันเวลา 14.00 น. และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนทุกวัน รวมถึง อสม.ปฏิบัติการสื่อสารเชิงรุกกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งการปฏิบัติตนและลดการเผาในที่โล่ง โดยจัดสายด่วน 1478 เพื่อตอบปัญหาประชาชน 24 ชั่วโมง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน
3.การดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง สสจ.ได้จัดทีมพิเศษฉุกเฉินสาธารณสุขระดับจังหวัด 76 ทีมและระดับอำเภอ 878 ทีม ลงพื้นที่ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงรวมกว่า 1.78 แสนราย
4.ด้านการให้บริการ ได้เปิดคลินิกมลพิษใน 55 จังหวัดแล้ว เปิดห้องปลอดฝุ่น 5,517 ห้อง รองรับประชาชนเกือบ 1 ล้านราย และสนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นให้กลุ่มเสี่ยง 35 จังหวัด และมีแผนกระจายให้ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่เสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นอีก 3.75 หมื่นราย
5.การสนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ไปยังหน่วยบริการในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ สนับสนุนหน้ากากอนามัย 1.8 แสนชิ้น หน้ากาก 95 กว่า 1.1 ล้านชิ้น และหารือกับ สปสช.เพื่อบูรณาการกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นและพื้นที่ เพื่อสนับสนุนนโยบายการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นให้ประชาชนในแต่ละท้องที่
"ยืนยันว่า สธ.จะทำงานเต็มที่ ช่วยเหลือประชาชนเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เพื่อผ่านปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองนี้ไปด้วยกัน" นายสมศักดิ์กล่าว
ปรับโครงการกองทุนท้องถิ่นมาแจกหน้ากาก
นพ.จเด็จ ธรรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.จะมีการซักซ้อมกับกองทุนสุขภาพระดับเขตพื้นที่และท้องถิ่นทั่วประเทศ 7.7 พันกว่าแห่ง ซึ่งมีการเตรียมโครงการอื่นๆ ไว้ดำเนินการในปีนี้เป็นเงินค้างในระบบ 3,536 ล้านบาท จะซักซ้อมเพื่อขอให้ปรับโครงการมาสนับสนุนหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับอย่างเพียงพอ โดยจะมีการสื่อสารขอให้ประสานกับ นพ.สสจ. และ รพ.ทุกแห่งในพื้นที่ เพื่อเข้าไปสนับสนุนหน้ากากอนามัยที่อาจยังไม่เพียงพอให้ประชาชน โดยจะทำหนังสือซักซ้อมปรับโครงการวันพรุ่งนี้ต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 วันนี้
ด้าน นพ.วรตม์ โชตพิทยสุนนท์ โฆษก สธ.ด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5  กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่เป็น "สีส้ม" ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขึ้นไป มี 60 จังหวัด
จำนวนนี้เป็น "สีแดง" หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพเกิน 75 มคก./ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 21 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กทม. นนทบุรี ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สระบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี สิงห์บุรี ระยอง ลพบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สุโขทัย ชัยนาท ฉะเชิงเทรา อ่างทอง หนองคาย อุทัยธานี และชลบุรี โดย 6 จังหวัดสุดท้ายได้เปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีแดง
สำหรับพื้นที่ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็นสีแดงเกินกว่า 3 วัน มีจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ติดต่อกัน 5 วัน  สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร และ กทม. ติดต่อกันเกิน 4 วัน
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
ของดออกกำลังกาย-ลดก่อฝุ่น
"การดูแลตัวเองสำหรับประชาชน ต้องดูว่าเป็นประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหรือทำงานกลางแจ้ง ซึ่งระดับสีแดง 21 จังหวัด มีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว เรารณรงค์ให้งดออกกำลังกาย หลายพื้นที่เกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งไปก่อน สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 ทุกครั้งที่อยู่กลางแจ้ง และอยู่ในห้องปลอดฝุ่น รวมถึงลดกิจกรรมก่อฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น ติดตามอาการตัวเองเพื่อเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด" นพ.วรตม์กล่าว
ด้าน นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบสุขภาพประชาชนในหลายพื้นที่ จากตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชาติ ที่กำหนดค่าฝุ่น PM 2.4 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงให้ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. พบว่า ตั้งแต่ ต.ค. - ธ.ค. 2567 มีกลุ่มผู้ป่วยได้รับผลกระทบมากถึง 1.04 ล้านราย ผลกระทบที่มากสุด คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกันเรื้อรัง โรคหืดกำเริบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบ วันนี้ที่เรากังวล คือ เลือดกำเดาไหล
รมว.สธ.จึงเห็นควรให้มีการประกาศเขตพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ซึ่งมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 ให้ประกาศเขตพื้นที่โดยอาศัยอำนาจ 14 (2) เพื่อเสนอ ครม. แบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล
- เขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่น PM 2.5 ดูจากค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 มคก./ลบ.ม. ทำมาตรการ 3 อย่าง คือ  1.สนับสนุนหน้ากากอนามัยในกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย  2.จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่  เช่น รพ. โรงเรียน และเตรียม ศูนย์รองรับการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางเข้าพักคอยจนกว่ายกเลิกประกาศ และ 3.รพ.แจ้งการพบผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง 4 กลุ่ม ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 30(2)
- เขตควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5  หากมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะมีการเพิ่มมาตรการ คือ 1.ออกประกาศ Work From Home โดยให้แต่ละหน่วยงานให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น งดกิจกรรมกลางแจ้งต่อเนื่องเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น  2.ขอความร่วมมือจากเกษตรกร เจ้าของสถานประกอบกิจการต่างๆ ผู้ประกอบการขนส่งและผู้ก่อมลพิษดำเนินการลดฝุ่น
และ 3.ใช้กลไกตามมาตรา 35 โดยคณะกรรมกาควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ จังหวัด/กทม. พิจารณาเสนออธิบดีกรมควบคุมโรคในการประกาศเขตพื้นที่ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดูแลสุขภาพประชาชนในเขตพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ
เมื่อถามว่าพื้นที่ 5 จังหวัด ที่ค่าฝุ่นเป็นสีแดงเกิน 3 วันต้องนำเสนอเข้า ครม.เพื่อประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 เลยหรือไม่  นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า ก็จะเข้ามาตรา 14(2) ที่รัฐมนตรีจะนำเข้า ครม. แต่ในส่วนของคณะกรรมการระดับจังหวัด 5 จังหวัด
ถามว่าจะช้าไปหรือไม่หากต้องรอเข้า ครม.เพื่อประกาศพื้นที่ นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า ตามมาตรา 35 ก็สามารถทำเรื่องเข้ามาที่กรมควบคุมโรคเพื่อให้ประกาศพื้นที่เฉพาะได้เลย ซึ่งพื้นที่สามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องรอเข้า ครม. เราจะดูจากข้อมูล โดยคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธานจะมีการพิจารณาข้อมูลมาก่อนเสนออยู่แล้ว
ถามย้ำว่าทั้ง 5 จังหวัดมีการนำเสนอเข้ามาเพื่อออกประกาศพื้นที่ควบคุมแล้วหรือไม่ นพ.ภาณุมาศกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเข้ามา ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถส่งเข้ามาได้ โดยอยากให้ใช้มาตรการ Work From Home เป็นมาตรการแรกๆ ที่ทุกพื้นที่ให้ความสำคัญ
โฆษณา