24 ม.ค. เวลา 10:03 • ธุรกิจ

EP 21 One Piece Flow การผลิตแบบไหลไปทีละชิ้น

One Piece Flow เป็นหนึ่งในหลักการผลิตแบบลีน หมายถึงการผลิตที่มีผลผลิตอยู่บนสายการผลิตต่อเนื่องไปทีละชิ้นในทุกกระบวนการ
การผลิตแบบ One Piece Flow จะลด WIP (Work In Process) หรือ ชิ้นงานที่ถูกจัดเก็บชั่วคราวรอคอยกระบวนการที่จะตามมาเรียกชิ้นงานไปผลิตต่อ
การมี WIP หมายถึงพื้นที่การผลิตต้องจัดให้มีสถานที่จัดวางชิ้นงานรอคอยกระบวนการถัดไปเหล่านี้ ยิ่งมีการรอคอยนานก็จะมี WIP เพิ่มขึ้น พื้นที่ก็ต้องมีมากตามไปด้วย และหาก WIP ต้องรอนาน ชิ้นงานที่เก็บไว้อาจเสื่อมสภาพก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการถัดไป
การมี WIP ทำให้ เกิดองค์ประกอบของ 7 Wastes สองอย่าง คือ Waiting หรือการรอคอย และ Inventory หรือชิ้นงานคงคลัง และหาก WIP ต้องรอจนเกิดของเสียก็จะนำไปสู่ Defect หรือของเสียเกิดขึ้น
การลด WIP ที่ดีที่สุด คือการทำให้กระบวนการผลิตไหลอย่างต่อเนื่องไปทีละชิ้นจนจบกระบวนการโดยไม่ต้องเก็บชิ้นงานรอกระบวนการถัดไป
การผลิตแบบไหลไปทีละชิ้นช่วยให้การควบคุมคุณภาพง่ายขึ้น หากทุกชิ้นได้รับการตรวจสอบทันทีที่ผลิตเสร็จในทุกกระบวนการ หากเกิดปัญหาจากการผลิตทำให้ชิ้นงานที่ออกมาไม่ตรงตามข้อกำหนด ก็สามารถหยุดการผลิตชิ้นต่อไปได้ทันที ความสูญเสียก็จะน้อยลงไปด้วย แต่หากผลิตแต่ละกระบวนการครั้งละเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะเสียเวลาตรวจสอบชิ้นงานในกลุ่มที่เพิ่งผลิตเสร็จไป นอกจากเสียเวลาในการตรวจสอบแล้ว ของเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มก็อาจจะมากกว่าการผลิตและตรวจสอบทีละชิ้น
การทำให้เกิดการไหลไปทีละชิ้นได้ในกระบวนการผลิต ต้องมีการสร้างความสมดุลด้านเวลา หรือ Timing Balance ของแต่ละกระบวนการให้มีเวลาเท่ากันทุกกระบวนการ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Yamasumi จะได้ไม่ต้องมีการรอคอยระหว่างกระบวนการเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามในกระบวนการผลิตบางกระบวนการจำเป็นต้องทำทีละหลาย ๆ ชิ้นพร้อมกันเพื่อให้คุ้มค่ากับเวลา ดังนั้นการทำให้เป็นการผลิตแบบไหลไปทีละชิ้นอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดของการผลิตนั้น ถึงกระนั้นถ้าจะทำให้การผลิตเป็นกลุ่มที่มีจำนวนชิ้นในแต่ละกลุ่มให้น้อยที่สุด ที่จะคุ้มค่ากับเวลามากที่สุดก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง
โฆษณา