Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wealthy Thai
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 10:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ชู “Private Asset” ผลตอบแทนโดดเด่นระยะยาว... แนะมีติดพอร์ต 10 – 15% เสริมแกร่งให้พอร์ต !!!
สาระ Fund วันละนิด: วันนี้จะพามาเปิดมุมมองการลงทุนด้วย “มุมมองระยะยาว 10 – 15 ปีข้างหน้า” ผ่านบทวิจัย "KAsset Capital Market Assumptions" (KCMA) ประจำปี2025
ซึ่งเป็น “ครั้งแรก” ในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับ “J.P. Morgan Asset Management” เพื่อนำเสนอมุมมองเชิงลึกที่ครอบคลุมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ผลตอบแทน และความเสี่ยงของสินทรัพย์กว่า 100 ประเภท ในระยะเวลา 10-15 ปีข้างหน้า
ซึ่งในกลุ่มนักลงทุนสถาบันระดับโลกมีการใช้กันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เผยแพร่กับนักลงทุนทั่วไป แต่ใช้กันเฉพาะวงจำกัดเท่านั้น
แต่ “บลจ.กสิกรไทย” กำลังจะนำมาเผยแพร่สู่ “สาธารณะ” ให้นักลงทุนทั่วไปได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ นับเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
และที่ท้าทายกำลังสะท้อนภาพว่า...ผลตอบแทนที่เคยสูงในอดีตช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จะลดต่ำลงในช่วง 10 – 15 ปีข้างหน้า ดังนั้น การลงทุนจึงมี “ความท้าทาย” มากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณเลยทีเดียว
การลงทุนในไทยเพียงอย่างเดียว คง “ไม่เพียงพอ” ที่จะตอบโจทย์อีกต่อไป แนวโน้มการลงทุนระยะยาวทางรอดจะอยู่ตรงไหนนั้น ตามทีมงาน ‘Wealthy Thai’ ไปไขความลับถอดรหัสพร้อมๆ กันได้เลย
“การกระจายการลงทุน”...คำตอบของการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนระยะยาว
โดย “วิน พรหมแพทย์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ยอมรับว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาผลตอบแทนจากการลงทุนถือว่าค่อนข้างดีในหลายๆ สินทรัพย์ อย่าง “หุ้นโลก” ก็อยู่ที่ 9.8% ต่อปี เป็นต้น แต่จากนี้ไป 10 – 15 ปีข้างหน้า ผลตอบแทนจากการลงทุนคงไม่สูงเช่นในอดีตที่ผ่านมา อย่าง “หุ้นโลก” ก็จะอยู่ประมาณ 5.9% เท่านั้น ในขณะที่ “ความผันผวน” ของตลาดโดยเฉพาะระยะสั้นยังคงมีอยู่
ดังนั้น “การกระจายการลงทุน” (Diversified) ไปในหลากหลายสินทรัพย์อย่างเหมาะสม ไม่เพียงจะช่วยทำให้ผลตอบแทนมีเสถียรภาพเท่านั้น ยังช่วยลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย ในตลาดดีก็ดีด้วย ในตลาดที่แย่ก็ไม่แย่มาก
“ผลตอบแทนจากการลงทุนข้างหน้าจะไม่สูงเท่าในอดีต เราได้นำเอาผลตอบแทนคาดหวังระยะยาวมาใช้ในการจัดพอร์ตจริงๆ ในกองทุนกลุ่ม ‘K-WealthPLUS Series’ ที่มีผลตอบแทนคาดหวัง 5-6% ต่อปี เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่ยั่งยืนให้กับนักลงทุน ตามระดับความเสี่ยงตั้งแต่เสี่ยงต่ำ, เสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง ซึ่งพอร์ตมีการกระจายลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้เป็น ‘Core Port’ ในการลงทุนของตัวเองได้เลย”
“ในส่วนของ ‘หุ้นไทย’ เองปีนี้มองเป้าดัชนีสิ้นปีไว้ระดับ 1,520 จุด แต่ถ้ามองภาพระยะยาว 10 – 15 ปีข้างหน้า ผลตอบแทนรวมก็ไม่สูงมากเฉลี่ย 5% ต่อปี เท่านั้น และผลตอบแทนส่วนใหญ่ 3.9% มาจากเงินปันผลด้วย ดังนั้นบุคลิกของหุ้นไทยจะคล้ายกับตลาดที่ปันผลดี หุ้นในกลุ่มที่ปันผลสูงก็จะเป็นกลุ่มที่ยังคงน่าสนใจในการลงทุน แต่ถ้าจะมองหาการเติบโตที่ดีอาจจะต้องมองหาโอกาสลงทุนอื่นๆ ในตลาดต่างประเทศเพิ่มเติมเข้ามา ดังนั้นเรื่องของ ‘การจัดสรรเงินลงทุน’ (Asset Allocation) ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้”
“ศก.ไทย” ระยะยาวโตต่ำ...“หุ้นไทย” ผลตอบแทนไม่สูง 5% ต่อปี
“วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์” กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย บอกว่า หากดูผลตอบแทนของ “หุ้นไทย” ในระยะยาวแล้วค่อนข้างต่ำ 5% ต่อปี ที่ผ่านมาช่วง 10 ปีก็ไม่ได้สูงมาก 1.8% ต่อปีเท่านั้น การกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ตัวอย่าง “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” (กบข.) เอง ที่บอกไว้ก็มีการกระจายลงทุนใน 18 สินทรัพย์ เป็นหุ้นไทย 3 – 4% ของพอร์ตเท่านั้น
หากมองไปในตลาดโลกนอกจากสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างหุ้นและตราสารหนี้แล้ว สินทรัพย์ทางเลือกในกลุ่ม “Private Asset” เองถือว่ามีความน่าสนใจ เช่น Private Equity, Private Debt ในช่วง 10 – 15 ปี ข้างหน้าสามารถให้ผลตอบแทนได้ 7 – 9% ต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันยังจำกัดวงให้กับกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ (UI) ลงทุนเท่านั้น แต่ในอนาคตก็คงจะมีการนำโพรดักท์ที่เป็นสินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้เข้ามาลงทุนในพอร์ต หรือนำเสนอเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเพิ่มเติมได้เช่นกัน
“ปัจจุบันนักลงทุนทั่วไปรายย่อยกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากแล้ว ในขณะที่นักลงทุนสถาบันและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเองยังมีความกลัวในการไป แต่ถ้าดูผลตอบแทนข้างหน้าของหุ้นไทย 5% ต่อปี แล้ว คงต้องกล้าที่จะกระจายไปต่างประเทศมากขึ้น และควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ อย่างสินทรัพย์ทางเลือกดูอาจจะ 5 – 10% ของพอร์ต เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นนั่นเอง”
เช่นเดียวกับ “ปณตพล ตัณฑวิเชียร” Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย ที่ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งทำให้ “หุ้นไทย” ดูไม่ค่อยน่าสนใจ เพราะยังมีหุ้นที่เป็น “Old Economy” เป็นส่วนใหญ่ ผลิดตภาพในการผลิต (Total Factor Productivity Index) ของไทยอยู่เพียง 0.49 สูงกว่าอินโดนีเซียที่ 0.45 แต่ต่ำกว่าไต้หวัน, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ที่ 0.86, 0.71 และ 0.60 ตามลำดับ เศรษฐกิจไทยเองก็โตช้า
ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่แก้ได้ไม่ง่าย จึงไม่น่าแปลกใจว่าในระยะยาวเศรษฐกิจไทยโตค่อนข้างต่ำ 2.4% เท่านั้น เงินเฟ้อก็ต่ำ 1.3% ในขณะที่เศรษฐกิจตลาดพัฒนาแล้วก็ยังโตได้ดีเป็นผลมาจากเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุน
“ถ้าไทยยังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เราก็จะเจอปัญหาเช่นที่ผ่านมา ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัญหาเชิงโครงสร้างในไทย อาจเป็นการมองหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศที่มีศักยภาพที่มากกว่า จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ‘หุ้นไทย’ อาจจะยังตอบโจทย์ได้ในเรื่องของปันผลที่ดี เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินที่สม่ำเสมอในรูปของเงินปันผล”
การลงทุนจากนี้ไป มีแต่จะยากขึ้น ท้าทายขึ้นทุกปี “การจัดสรรเงินลงทุน” (Asset Allocation) ซึ่งมีผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุนส่วนใหญ่กว่า 90% จึงยังคงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการลงทุนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายระยะยาวได้เป็นอย่างดี และเมื่อจัดพอร์ตแล้วก็ควรมองข้ามความผันผวนระยะสั้นไปบ้าง ให้ชัดเจนกับเป้าหมายที่กำลังจะมุ่งไปเท่านั้นเอง
ผลการดำเนินงานในอดีต/ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
เศรษฐกิจ
การลงทุน
กองทุน
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย