Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ
•
ติดตาม
26 ม.ค. เวลา 01:37 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ
รำลึก 82 ปี อุบัติเหตุครั้งใหญ่ของกองทัพญี่ปุ่นระหว่างก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า
กองอำนวยการก่อสร้างทางรถไฟที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยที่ดูแลการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า
มีนายทหารยศพลตรีเป็นผู้บัญชาการสูงสุด
อุบัติเหตุครั้งนี้ถือเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทยพม่าของกองทัพญี่ปุ่น
ซึ่งในช่วงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในช่วงแรก พลตรี ชิโมดะ โนบุโอ เป็นผู้บัญชาการ
ซึ่งภายใต้การดูแลของกองอำนวยการก่อสร้างทางรถไฟที่ 2 มีทหารจากกรมทหารรถไฟถึงสองกรม คือกรมทหารรถไฟที่ 5 และ 9 อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา
ขอย้อนกลับไปเล็กน้อย
การสำรวจและก่อสร้างทางรถไฟเริ่มขึ้นจากทั้งฝั่งไทยและพม่าตั้งแต่ช่วงกลางปี 1942
ล่วงเลยมาจนถึงช่วงต้นเดือนมกราคม1943 กรมทหารรถไฟที่ 5 การก่อสร้างทางรถไฟถึงบริเวณหมู่บ้านอควินหรือสถานี Anakwin.
ส่วนกรมทหารรถไฟที่ 9 กำลังมีการเจาะช่องเขาที่เขาช่องไก่(เขาปูน)
การสำรวจเพื่อวางแนวที่จะก่อสร้างทางรถไฟ
ภาพวาดการขุดเขาปูน
ในขณะช่วงเวลานั้น สถานการณ์ของกองทัพญี่ปุ่นล่อแหลมกำลังเสียเปรียบฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะหลังจากที่กองทัพเรือญี่ปุ่นพ่ายแพ้ที่การรบที่ Midway ต่อกองทัพเรือสหรัฐ การขนส่งยุทธปัจจัยทางทะเลของกองทัพญี่ปุ่นไปยังพม่านั้นตกอยู่ในอันตราย
เมื่อการขนส่งทางเรือมีปัญหา การขนส่งทางรถไฟจึงเป็นความหวังของกองทัพญี่ปุ่น กองบัญชาการสูงสุดที่โตเกียวจึงได้สอบถามมายังกองอำนวยการก่อสร้างทางรถไฟที่ 2 ว่า สามารถจะเร่งการก่อสร้างทางรถไฟได้หรือไม่
ก่อนที่จะแจ้งคำตอบกลับ พลตรี Shimoda ต้องสำรวจการก่อสร้างทางรถไฟสายไทยพม่าเสียก่อน
(พลตรีชิโมดะ เดิมตั้งกองบัญชาการอยู่ที่สนามกีฬาแห่งชาติกรุงเทพ และในภายหลังมีการย้ายกองบัญชาการไปยังตัวเมืองกาญจนบุรี ที่ต้องไปตรวจฝั่งพม่า เข้าใจว่าการก่อสร้างฝั่งไทย พลตรีชิโมดะ สามารถเดินทางไปตรวจได้ตามปรกติ แต่เมื่อต้องการรู้ข้อมูลความคืบหน้าที่แท้จริงของฝั่งพม่าจำเป็นต้องบินเพื่อไปตรวจงาน)
พลตรีชิโมดะและคณะเดินทางสู่ย่างกุ้งในวันที่ 15 มกราคม (เข้าใจว่าบินจากสนามบินดอนเมืองไปครับ)
พลตรี ชิโมดะ โนบุโอ (คนขวาสุด)
เมื่อถึงพม่ามีการรับฟังบรรยายสรุป หลังจากนั้นคณะได้เดินทางทางเรือไปยังเมืองเมาะละแหม่ง แล้วเดินทางต่อมายังเมืองตันบูซายัต
18 มกราคม 1943 พลตรีชิโมดะ และคณะเดินทางตรวจความคืบหน้าในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ และ ถนน (ฝั่งพม่ามีการสร้างถนนคู่ไปกับทางรถไฟด้วย เพราะต้องใช้ถนนเป็นเส้นทางลำเลียงวัสดุในการก่อสร้าง)
พลตรีชิโมดะ และคณะเดินทางตรวจดูการก่อสร้างจนถึง Tadien แถวแม่น้ำสะมิธ์ แล้วพักรับประทานอาหารกลางวันกับนายทหารจากกรมทหารรถไฟที่ 5
หลังจากนั้นก็เดินทางกลับมาค้างแรมที่เมืองตันบูซายัต
พลตรีชิโมดะ และคณะเดินทางกลับไปเมาะตะมะในวันที่ 23 มกราคม 1943
ในระหว่างทางกลับ ได้ไปตรวจความคืบหน้าของการก่อสร้างสะพานทางรถไฟที่ข้ามแม่น้ำสะโตง(อังกฤษทำลายสะพานรถไฟที่ข้ามแม่น้ำสะโตงช่วงที่อังกฤษจะถอยทัพ ทหารญี่ปุ่นซ่อมสะพานไม่ได้ จึงไปสร้างสะพานใหม่ทางเหนือขึ้นไปจากจุดเดิม)
สะพานไม้ทางรถไฟข้ามแม้น้ำสะโตงในพม่าที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นทดแทน
หลังจากนั้น พลตรีชิโมดะ และคณะ ก็เดินทางถึงย่างกุ้ง
วันที่ 26 มกราคม 1943 เวลา 09.00 น.
พลตรีชิโมดะ และคณะ โดยสารเครื่องบินจากสนามบิน Mingaladon ย่างกุ้ง มุ่งหน้ากรุงเทพ
ในขณะที่บินกลับไทยก็ใช้เส้นทางบินเหนือแนวก่อสร้างทางรถไฟไปด้วย เพื่อตรวจดูความคืบหน้าในการก่อสร้างทางรถไฟจากทางอากาศ
ในวันนั้นเองเครื่องบินก็สูญหายไปหลังจากบินข้ามชายแดนมาได้ไม่นาน
ช่วงประมาณ 13.30 น. มีข่าวแจ้งว่า เครื่องบินของ พลตรี ชิโมดะ หายไปในบริเวณชายแดนไทยพม่า ไม่ทราบชะตากรรม
กรมทหารรถไฟที่ 5 จึงสั่งให้กองพันที่ 3 ที่ประจำที่ค่ายนิเถะ หยุดงานก่อสร้างทางรถไฟลงชั่วคราว และให้จัดทหารเข้าไปค้นหาเครื่องบินทางฝั่งตะวันตกแถบชายแดนไทย-พม่า
สถานีนิเถะ ค่ายของทหารญี่ปุ่น
ในบันทึกของกรมทหารรถไฟที่ 5 กองพันที่ 3 ทหารชุดแรกที่ถูกส่งเข้าไปค้นหาในป่าทางตะวันตก กล่าวว่า
ทหารชุดค้นหามีการเตรียมข้าวของที่จำเป็น อาหาร เต็นท์ที่พัก โดยส่วนหนึ่งบรรทุกไว้บนหลังช้าง 4 เชือก พร้อมด้วยคนงานท้องถิ่นเดินทางไปด้วย
ทหารชุดค้นหาเดินทางเข้าป่าลึก แสงแดดแผดเผา หญ้าสูงท่วมหัว ป่ารก
นายทหารที่ไปด้วยพยายามที่จะใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูตามบริเวณต่างๆ เมื่อเห็นมีสิ่งผิดสังเกต
ในตอนแรกชุดค้นหาเชื่อว่าเครื่องบินน่าจะตกแถวเขา ซูรูมิ(ผมคาดว่าจะเป็นเขาซูมิรูปัจจุบันอยู่ทางใต้ของหมู่บ้านปิล๊อคคี่)
ซึ่งการค้นหาในช่วงแรกเป็นการค้นหาแบบที่ผมเรียกว่าการค้นหาแบบเดาสุ่ม ไปแบบคาดเดา การค้นหาก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทิศทางที่ชัดเจน จึงทำให้ไม่พบอะไร
ในขณะที่กองพันที่ 3 ได้ส่งคนเข้าไปค้นหาจุดตกของเครื่องบินของนายพลชิโมดะ ด้วยงานที่เร่งรีบงานการก่อสร้างในจุดอื่นๆก็ยังคงดำเนินต่อไป
ข่าวเครื่องบินของผู้อำนวยการก่อสร้างทางรถไฟที่ 2 ตกกลางป่า แพร่กระจายไปในหมู่ทหาร
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทหารญี่ปุ่นนายหนึ่งชื่อ ร้อยตรี Riichi Komine 小峯理一 เป็นนายทหารประจำหน่วยโรงงานซ่อมหัวรถจักร ของกรมทหารรถไฟที่ 5 ได้เดินทางไปรับวัสดุอุปกรณ์ที่เมืองทวาย ประเทศพม่า
ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1943 (หลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตก 12 วัน) ในช่วงเที่ยงวันนั้น ร้อยตรี Komineได้เข้าไปรับประทานอาหารในร้านอาหารกลางเมืองทวายแห่งหนึ่ง
เมื่อนั่งทานได้สักพักเขาได้ยินทหารญี่ปุ่นที่นั่งอีกโต๊ะ(เข้าใจว่าเป็นทหารหน่วยอื่น) ได้พูดถึงเรื่องราวที่เขาถูกส่งไปตรวจดูเหมืองทังสเตน ใกล้กับชายแดนไทยพม่า ชื่อหมู่บ้าน In Ton (ผมให้เพื่อนชาวญี่ปุ่น แปลชื่อหมู่บ่านนี้ แปลได้ว่าชื่อหมู่บ้าน In Ton หรือ Atong ผมเชื่อว่าเป็นหมู่บ้าน อิต่อง ซึ่งจากที่สอบถามคุณ ลุงสมใจ มาโนช ผู้อาวุโสของ อ.ทองผาภูมิ เล่าให้ผมฟังว่า เหมืองปิล๊อก บ้านอิต่องมีมานานมากก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มทำโดยอังกฤษที่มาสำรวจเจอแร่ และให้คนงานชาวพม่ามาทำเหมืองในบริเวณนั้น ผมหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าภายหลังมีการเข้าสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่ามีแร่ธาตุหลายชนิด จึงเป็นที่มาของการทำเหมืองแร่ของทางการไทย)
ทหารคนดังกล่าวพูดว่า ขณะที่เข้าไปตรวจเหมือง คนงานในเหมืองทังสเตน เล่าว่าพวกเขาเห็นเครื่องบินลำใหญ่บินตกไปในป่า
เมื่อร้อยตรี Komine ได้ยินว่าเรื่องนี้จึงรีบเข้าไปสอบถามข้อมูลจากนายทหารญี่ปุ่นคนดังกล่าว และที่โชคดีมากคือคนงานในเหมืองที่ว่าก็นั่งอยู่โต๊ะข้างๆกัน ในร้านอาหารร้านนี้เอง
ร้อยตรี Komine รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่า เครื่องบินตกไปประมาณ 10 กว่าวันก่อน
ร้อยตรี Komine จึงเดินทางไปที่สนามบินเมืองทวาย เพื่อขอข้อมูลและขอความช่วยเหลือจากทหารอากาศที่สนามบิน จึงได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า
เครื่องบินลำหนึ่งมีการแจ้งเปลี่ยนเส้นทางมุ่งหน้ามาที่สนามบินทวาย แต่ก็ไม่มีการลงจอด
ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองทวายของพม่าได้ตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนมกราคม 1942
เมื่อได้ข้อมูลค่อนข้างชัดเจน ร้อยตรี Komine จึงรีบเดินทางกลับไปรายงานต่อผู้บังคับการกรมทหารรถไฟที่ 5 พันเอก Sasaki Manosuke ที่เมืองตันบูซายัต ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1943
มีการประชุมหารือและนำเอาข้อมูลอีกชุดมาประกอบการประชุม และข้อมูลเพิ่มเติมจากทหารรถไฟที่อยู่ในพื้นที่แถวนิเถะได้รับแจ้งว่า เครื่องบินของนายพลชิโมดะ ได้บินผ่านแถวค่ายนิเถะ และมุ่งหน้าไปทางบ้านวังกะ(อ.สังขละบุรี) ก่อนที่เครื่องบินก็ลับตาไป และหลังจากนั้นมีคนได้ยินเสียงระเบิดจากระยะไกล
นายทหารญี่ปุ่นทั้งหมดก็เอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำเอาแผนที่มากางหาจุดที่คาดว่าเครื่องบินต้องบินผ่านและตก
พันเอก ซาซากิ มาโนซุเกะ ผู้บังคับการกรมทหารรถไฟที่ 5 (คนซ้าย)
จากข้อมูลต่างๆที่ได้รับมา พันเอก Sasaki ผู้บังคับการกรมทหารรถไฟที่ 5 คาดการว่าเมื่อเครื่องบินของพลตรี Shimoda บินกลับจากพม่า ผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ ผ่านใกล้กับสถานีนิเถะ เครื่องยนต์เกิดขัดข้อง นักบินจะต้องนำเครื่องบินไปที่สนามบินเมืองทวาย
และผู้บังคับการกรมทหารรถไฟที่ 5 เชื่อว่า เครื่องบินน่าจะมุ่งหน้าไปที่เขาเลาะโล (อยู่ฝั่งตะวันตกของเขาปากประตู)
แต่เครื่องบินของ พลตรี ชิโมดะ ไม่สามารถบินข้ามเทือกเขาได้และอาจจะลงจอดฉุกเฉินหรือตกทางฝั่งตะวันออกของเขาเลาะโล(ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย)
เมื่อได้ข้อมูลบริเวณที่คาดว่าเครื่องบินหายไป ผู้บังคับการกรมทหารรถไฟที่ 5 จึงสั่งการไปยังผู้บังคับกองพันที่ 3 ให้ส่งชุดค้นหาเข้าไปยังบริเวณทางเชิงเขาด้านตะวันออกของเขาโละโล
กองพันที่ 3 จึงจัดกำลังพลจากกองร้อยที่ 5 และ 6 เข้าไปค้นหา
ค่ายพักทหารญี่ปุ่น กรมทหารรถไฟที่ 5 กองพันที่3 กองร้อยที่ 6
เมื่อได้รับคำสั่ง ทหารจากกองร้อยที่ 5 และกองร้อยที่ 6 เดินเท้ากระจายกำลังไปยังเขาโละโล
บันทึกจากผู้บังคับกองร้อยที่ 6 Hiroshi Noji 野地弘 ที่ร่วมเดินทางค้นหาจุดตกของเครื่องบิน กล่าวว่า
ทหารในกองร้อยที่ 6 ประจำอยู่ที่ค่ายซองกาเลีย ได้รับภารกิจให้เข้าไปค้นหาจุดตกของเครื่องบินผู้บัญชาการ
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1943 ทหารจากกองร้อยที่ 6 และหน่วยอื่นรวมกำลังที่ค่ายนิเถะ
ช่วงบ่ายโมงทหารชุดค้นหาจากกองร้อยที่ 6 เดินทางออกจากค่ายนิเถะมุ่งหน้าไปยังปากแม่น้ำบีคลี่ และเดินต่อไปยังหมู่บ้านชะเด่งเฉ่ง ถึงหมู่บ้านชะเด่งเฉ่งเวลา 2 ทุ่ม
ทหารญี่ปุ่นวางแผนที่จะใช้หมู่บ้าน ชะเด่งเฉ่ง เป็นกองอำนวยการค้นหาส่วนหน้า
ขออธิบาย ผมพบข้อมูลจากแผนที่เก่าพบว่า หมู่บ้านชะเด่งเฉ่ง อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบีคลี่
หมู่บ้านนี้ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว หลังจากที่สร้างเขื่อนวชิราลงกรณชาวบ้านก็อพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่ใหม่ (ข้อมูลจากพี่ชัย)
ทหารญี่ปุ่นออกค้นหาเครื่องบินในผืนป่าที่เลยจากหมู่บ้านชะเด่งเฉ่งออกไป ใช้เวลาค้นหาในพื้นที่ประมาณ 2 สัปดาห์แต่ก็ยังไม่พบ
ผู้บังคับกองร้อยจึงเปลี่ยนแผนการค้นหา โดยแยกกำลังออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเดินเท้าไปสำรวจที่เขามะงาจอ อีกหมวดหนึ่งค้นหาลึกเข้าไปยังเขาโละโลตามแผนเดิม
หมวดที่เข้าไปสำรวจที่เขาโละโลรายงานกลับมาว่า แถบพื้นที่แถวนั้นค่อนข้างสูงชัน มีการค้นพบน้ำพุร้อน มีสัตว์ป่าชุกชุม แต่ไม่พบซากเครื่องบิน
ส่วนหมวดที่เดินทางมุ่งหน้าเขามะงาจอ ก็เดินเท้าทวนลำน้ำบีคลี่ใหญ่ขึ้นไป
เส้นทางเป็นพื้นที่ป่าเขา ยากลำบาก หลายช่วงของการเดินทางต้องข้ามลำห้วยใหญ่น้อย
การค้นหาดำเนินต่อไปอย่างยากลำบาก และไม่มีวี่แววว่าจะมีการพบจุดตกของเครื่องบิน
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1943 กรมทหารรถไฟที่ 5 มีคำสั่งให้ยุติการค้นหา คำสั่งถูกส่งถึงกองอำนวยการค้นหาส่วนหน้าที่หมู่บ้านชะเด่งเฉ่ง แต่ทหารชุดค้นหายังไม่ทราบคำสั่งนี้เพราะยังอยู่ในป่าลึก
ในระหว่างที่ทหารชุดค้นหายังไม่ได้รับคำสั่งพวกเขายังคงเดินหน้าต่อไป
จนสุดท้าย เสียงปืนของทหารจากหมวดของร้อยตรี Shibata ก็นำข่าวดีมาสู่ทหารญี่ปุ่นที่ ชะเด่งเฉ่ง
บันทึกของผู้บังคับหมวดที่ 1 กองร้อยที่ 6 กองพันที่ 3 กรมทหารรถไฟที่ 5 ชื่อ ร้อยตรี Eiji Shibata 柴田英治 ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดค้นหาที่ค้นพบผู้รอดชีวิตและซากเครื่องบิน
เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า หมวดที่ 1 จัดกำลังพล 1 หมวด 34 นาย ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1943
ผู้หมวด Shibata ได้รับคำสั่งให้เดินเท้าสำรวจค้นหาจุดตกของเครื่องบินที่เขามะยันตอง
เขามะยันตองอยู่ทางเหนือของเขามะงาจอ หากเดินเท้าทวนกระแสน้ำของแม่น้ำบีคลี่ใหญ่ จะเจอกับเขามะยันตองก่อน
เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์หลังจากที่เครื่องบินหายไป พวกเราได้แค่หวังว่าคนบนเครื่องบินจะปลอดภัย
โชคดีที่เวลานี้คือเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเวลาที่ดีสำหรับการสำรวจค้นหา เพราะที่จริงแล้วในป่าฝนแถบนี้หากเป็นช่วงอื่นของปีคงเดินเข้าสำรวจและค้นหาได้ยาก
ทหารญี่ปุ่นพยายามตระเตรียมของ พร้อมด้วยแรงงานชาวบ้านท้องถิ่นและช้าง 2 เชือกร่วมเดินทางสำรวจ (ช้างใช้ขนข้าวของและอาหาร)
ในช่วงสองสามวันแรกภูมิประเทศไม่ได้สูงชันนัก
วันที่สี่ของการเดินทาง เส้นทางเดินเท้าสูงชัน ลำบากมากขึ้น
หมวดของ ร้อยตรี Shibata ตั้งฐานที่ใช้เป็นจุดประสานงาน กลางป่า
โดยทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งถูกจัดให้อยู่ที่จุดประสานงานนี้ เพื่อลดจำนวนคนที่จะเดินทางต่อ (เพราะอาหารมีจำกัด) และเพื่อใช้เป็นฐานในการส่งข่าวหรือชี้นำเส้นทางสำหรับทหารที่ติดตามมาภายหลัง
สภาพแวดล้อมและการเดินทางค่อนข้างลำบากและน่ากลัว จนทำให้คนงานท้องถิ่นที่ตามไปด้วยหลายคนไม่ยอมเดินทางต่อ บางคนถึงกับหนีไปเลย
การเดินทางเข้าไปสำรวจ บางจุดต้องเดินไต่ตามริมผา ความสูงนับสิบเมตร ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย
ทหารญี่ปุ่นชุดค้นหาต้องพบกับความยากลำบาก ต้องเดินเท้า ว่ายน้ำข้ามลำห้วยพร้อมปืนและอุปกรณ์ต่างๆ
ระหว่างทางบางจุดก็พอที่จะหายเหนื่อยไปบ้างเมื่อได้เห็นน้ำตกที่สวยงาม
ระยะทางยังอีกไกล เพื่อลดภาระในเรื่องอาหาร ทหารญี่ปุ่นจำเป็นต้องกำหนดจุดประสานงานที่ 2 และทิ้งทหารไว้จำนวนหนึ่งที่ฐานแห่งนี้
ป่าในพื้นที่แถบนั้น ถ่ายโดยผู้บังคับกองร้อยที่ 6 Noji
อากาศในช่วงกลางวันร้อนมาก กลางคืนหนาวเย็นจัด ทหารนอนในเต็นท์ที่พัก ได้ยินเสียงร้องของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นช้าง หรือแม้กระทั่งเสียงของเสือ
มีการจัดเวรยามและจุดกองไฟตลอดทั้งคืน เพื่อป้องกันสัตว์ป่าเข้ามาทำร้าย
อาหารบางส่วนจะถูกส่งมาจากภายนอกผ่านจุดประสานงานที่ 1 และ 2 และมายังชุดค้นหาที่อยู่ลึกสุดในป่า แต่อาหารก็ยังต้องกินอย่างประหยัด
เพราะในแต่ละวันระยะทางที่เดินเข้าในป่ายิ่งลึกเข้าไปเรื่อยๆ การส่งอาหารก็ทำได้ยากขึ้นเช่นกัน
ทหารชุดค้นหาจำเป็นต้องหาอาหารเพิ่มระหว่างทาง ก็มีทั้งการยิงสัตว์ป่าเช่นกวาง นำมาทำอาหาร เต่า งู กบ ตลอดจนการโยนระเบิดลงแหล่งน้ำเพื่อหาปลามาทำอาหาร
ทหารทำการเดินค้นหาในป่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1943 (เป็นเวลาประมาณ 28 วันจากที่เครื่องบินตก)
3
ในวันนั้นชุดค้นหาเหนื่อยล้ามาก จึงมีการหยุดพักการค้นหาเร็วกว่าปรกติ
ทหารหยุดพักในบริเวณใกล้ลำห้วย ทหารทุกคนก็นั่งพักผ่อนกัน
ในระหว่างนั้นทหารญี่ปุ่นที่นั่งอยู่ได้เห็นกับตะกวดขนาดความยาวเกือบ 2 เมตร
ทหารต่างช่วยกันพยายามที่จะจับตะกวดตัวนี้แต่ไม่สำเร็จ
ตะกวดตัวดังกล่าววิ่งตรงไปยังผู้บังคับหมวด ร้อยตรี Shibata
ด้วยความตกใจและกลัว ร้อยตรี Shibata จึงชักปืนพกออกมายิงใส่ตะกวดตัวดังกล่าว ในระหว่างที่ทหารกำลังมุงดูตะกวดที่ถูกยิงและคุยกัน
ร้อยตรี Shibata ได้ยินเสียงคำว่า おい。หรือ Hey ซึ่งเป็นเสียงเรียก มาจากในป่าที่อยู่ข้ามฝั่งลำน้ำไป
ทหารคนอื่นก็ได้ยินเช่นกัน ทหารชุดค้นหาจึงยิงปืนขึ้นฟ้าอีก 4 นัด และรอฟังเสียง รอครู่เดียวก็ได้ยินเสียง おい (Oi) อีกครั้ง ฟังแล้วไม่น่าจะใช้เสียงของสัตว์ป่าหรืออาการหูแว่ว
ทหารญี่ปุ่นรู้ทิศทางที่มาของต้นเสียงและรีบเข้าไปสำรวจ
แต่ก็ไม่ทิ้งสัญชาติญาณของทหาร คือการระแวดระวังตัว ทหารชุดค้นหาก็ระวังว่าจะเป็นกลลวงของพวกโจร หรือกองกำลังต่อต้านทหารญี่ปุ่นเช่นกัน
เมื่อเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด ก็พบกับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตก 1 รายคลานออกมาจากใต้ต้นไม้ อยู่อีกฝั่งของลำห้วย
เมื่อข้ามลำห้วยไปตรวจดูก็พบว่าตัวของผู้รอดชีวิตอยู่ในสภาพอิดโรย มีบาดแผลไฟไหม้ที่ขา เสื้อผ้า กางเกง และกางเกงในขาดแทบหมด
ผู้ที่รอดชีวิตขอบุหรี่จากทหารชุดค้นหา และทำการสูบไปสองสามครั้ง
ร้อยตรี Shibata คิดว่าผู้รอดชีวิตคนนี้คงหิว จึงนำเอาอาหารมาให้ทาน ผู้รอดชีวิตคนดังกล่าวรีบรับและกินอาหารเข้าไป แต่กินไม่กี่คำก็หยุดกิน แล้วผู้รอดชีวิตก็นอนหลับไป
ร้อยตรี Shibata เห็นเช่นนั้นก็นึกขึ้นได้ว่า จริงๆแล้วคนที่ติดอยู่ในป่าเป็นเวลานานไม่มีอาหารกิน ระบบย่อยจะทำงานไม่ปรกติ หากให้กินอาหารที่ย่อยยาก คนคนนั้นอาจจะเสียชีวิตก็ได้(จริงๆต้องให้อาหารที่ย่อยง่าย)
ร้อยตรี Shibata กังวลมากกลัวว่าผู้ที่รอดชีวิตจะมาตายหลังจากที่กินอาหารหนักๆเข้าไป แต่สุดท้ายร่างกายของผู้รอดชีวิตปรับตัวได้
มารู้ภายหลังว่า คนที่รอดชีวิตชื่อ 桜井勝与
Katsuyo Sakurai อายุ 23 ปี เป็นนักบิน
วันรุ่งขึ้นร้อยตรี Shibata ได้ส่งกำลังพลกลับไปแจ้งข่าวที่จุดประสานงานที่ 2 ว่าทางชุดค้นหาพบผู้รอดชีวิตแล้ว 1 ราย (จุดประสานงานที่ 2 ก็จะส่งข่าวต่อไปจุดที่ 1 และกองอำนวยการค้นหาส่วนหน้าต่อไป)
ร้อยตรี Shibata ยังได้สั่งทหารอีกชุดให้ทำเปลหามสำหรับ Sakurai
โดยร้อยตรี Shibata ต้องการให้ทหารหาม Sakurai ใส่เปลเดินทางไป และชี้เส้นทาง ที่นำไปสู่จุดตกของเครื่องบิน (Sakurai เดินออกมาจากจุดตก เพื่อหาทางออกจากป่าครับ เลยไม่ได้อยู่ที่จุดตกตอนที่ถูกพบ)
ตัว Sakurai เองก็ไม่สามารถที่จะชี้ทางที่จะไปจุดตกได้ถูก ทำให้ชุดค้นหายุติการค้นหาในวันนั้น
ทหารชุดค้นหามีการสอบถามข้อมูลที่สำคัญจาก Sakurai ได้ความดังนี้
1.เครื่องบินตกเนื่องจากเครื่องยนต์ขัดข้องจำนวน 1 เครื่อง และเมื่อตกถึงพื้นแล้วจึงเกิดระเบิดไฟลุกไหม้
2.จุดตกอยู่สูงขึ้นไปจากตีนเขาประมาณ 5 กิโลเมตร (ชื่อเขามะยันตอง) ต้นไม้หนาทึบ จึงทำให้เครื่องบินที่บินมาค้นหาไม่สามารถมองเห็นซากเครื่องบินที่ตกได้
3. ผู้รอดชีวิตจากเครื่องบินตกมีสองคน 1.คือSakurai เป็นนักบิน และ 2. Tomonaga 朝長 พลวิทยุ (Tomonaga เสียชีวิตภายหลัง) ทั้งสองกระเด็นออกจากเครื่องบินก่อนที่เครื่องจะตก ทำให้พวกเขารอด (หากเทียบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นจะพบว่า ปีกเครื่องบินไปกระแทกกับต้นไม้ จนทำให้เครื่องบินเหวี่ยงอย่างรุนแรง อาจจะทำให้กระจกครอบส่วนห้องนักบินหลุดหรือแตก และเป็นสาเหตุทำให้ทั้งสองคนกระเด็นออกจากเครื่อง ก่อนที่เครื่องจะตก)
แผนที่ที่ผมระบุพิกัดจุดใหม่ อ้างอิงจากของทหารญี่ปุ่น
ตัว Sakurai มีแผลไฟไหม้ที่ขา ส่วน Tomonaga มีแผลไฟไหม้ส่วนล่างของร่างกายทั้งหมด
พลตรี Shimoda และคนอื่นๆเสียชีวิตทั้งหมด (นายทหารเสนาธิการชื่อพันตรี Irei ซึ่งเป็นผู้ติดตามพลตรีชิโมดะ และทหารในคณะเดินทาง บางคนสามารถคลานออกมาจากซากเครื่องบินที่ถูกเพลิงไหม้ได้ แต่ไม่นานก็เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ)
วันที่ 2 หลังจากที่เครื่องบินตก ผู้รอดชีวิต Sakurai และ Tomonaga พยายามเดินเท้าหาทางออกจากป่า โดยเดินตามลำห้วย ไม่นานนัก Tomonaga ก็ทำรองเท้าหลุดหายไปในระหว่างการเดิน
ด้วยแผลไฟไหม้ครึ่งตัวช่วงล่าง ทำให้ Tomonaga ทรมานเจ็บปวดจนเดินไม่ไหว หมดหวังและสิ้นกำลังใจ
Tomonaga จึงขอที่จะไม่เดินทางต่อ และอยู่รอบริเวณริมห้วยแห่งหนึ่งระหว่างทาง
ตัว Sakurai จำใจต้องหาทางออกจากป่าเพื่อเอาชีวิตรอดและขอความช่วยเหลือ
ระหว่างที่เดินเท้าหาทางออกจากป่า ก่อนมืดในแต่ละวันเขาจะใช้ไม้ขีดไฟที่มีจุดกองไฟไว้ เพื่อความอบอุ่นและป้องกันสัตว์ป่า
หลังจากวันที่ 3 ฝนตกทำให้ไม้ขีดของเขาเปียก เขาจึงไม่สามารถจุดกองไฟได้อีก
ปืนที่นำมาด้วยก็หนักจนไม่มีแรงที่จะยกไหว Sakurai จึงโยนปืนทิ้งข้างทาง
เดินไปสักพักด้วยความหิวและขาที่เจ็บ เขาเองคิดว่าเขาคงไม่สามารถเดินต่อได้อีกแล้ว จึงตัดสินใจจะปักหลักอยู่บริเวณริมน้ำ(บริเวณที่เขาถูกค้นพบ)
ในแต่ละวัน Sakurai จะคลานออกไปที่ตลิ่งและดื่มน้ำจากลำห้วย(กินเพียงแต่น้ำ ไม่มีอาหาร) บางครั้งก็ออกมาตากแดดให้ร่างกายอบอุ่น
ในเวลากลางคืนเขาก็จะกลับเข้าไปนอนในโพรงต้นไม้ใหญ่ ที่รองภายด้วยใบไม้แห้ง และนำเอากิ่งไม้จำนวนมากมาปิดตรงปากโพรงไม้เพื่อป้องกันสัตว์นักล่า
ตัวร้อยตรี Shibata ต้องทำภารกิจค้นหาซากเครื่องบินและศพของทุกคนต่อไป ร้อยตรี Shibata จึงทิ้งให้ทหารบางส่วนให้ดูแลผู้รอดชีวิต และให้ทหารส่วนที่เหลือทำการค้นหาจุดตกของเครื่องบิน
ในขณะเดียวกันเมื่อทหารที่กองอำนวยการค้นหาส่วนหน้าที่หมู่บ้าน ชะเด่งเฉ่ง ทราบเรื่องการค้นพบผู้รอดชีวิต
ผู้บังคับกองร้อยที่หมู่บ้านชะเด่งเฉ่งจึงส่งทหารเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการค้นหาจุดตกของเครื่องบินและศพผู้เสียชีวิต
ร้อยตรี Shibata และทหารจำนวนหนึ่งพยายามไปยังเขามะยันตองตามที่ Sakurai ได้บอกไว้
ในขณะที่เดินสำรวจมุ่งหน้าไปยังเขามะยันตอง ทหารญี่ปุ่นพบร่องรอยของกองไฟที่คาดว่าเป็นกองไฟที่ Sakurai จุดไว้สองกองห่างกันพอสมควร ทำให้ทหารชุดค้นหาพอที่จะรู้ทิศทางการเดินเท้าไปยังจุดตก
วันที่ 2 มีนาคม 1943 ชุดค้นหาพบศพของ Tomonaga อยู่ริมตลิ่งในสภาพ ครึ่งบนของร่างกายจมอยู่ในน้ำ เป็นที่น่าเวทนา (คงคลายลงไปกินน้ำและหมดแรงเสียชีวิต)
ศพของ Tomonaga จึงถูกเผาและเก็บเอาเถ้ากระดูกกลับ
วันที่ 3 มีนาคม 1943
ทหารชุดค้นหาพบเข้ากับรองเท้าของ Tomonaga ที่หลุดหายระหว่างความพยายามที่จะเดินหาทางออกจากป่า
ปืนประจำตัว Sakurai ที่โยนทิ้งไปเพราะมีน้ำหนักมาก ก็ถูกพบระหว่างการเดินค้นหาเครื่องบิน
สองสามสิ่งนี้เป็นสัญญาณว่าพวกเขากำลังเดินทางใกล้จุดตกเต็มที
ทุกสายตาสอดส่องหาซากเครื่องบินหรือแม้แต่ร่องรอยไฟไหม้ของต้นไม้
ทหารชุดค้นหาเดินเท้าค้นหาต่อไป เรื่อยๆ จนพบกับบริเวณเนินเขาสูงชันที่ด้านบนมีร่องรอยต้นไม้ที่เกิดไฟไหม้ ทำให้พวกเขามั่นใจว่า บริเวณนี้คือจุดตกของเครื่องบิน
ทหารชุดค้นหาต่างรีบปีนขึ้นไปบนเนินเขาลาดชัน (ในมุมมองของร้อยตรี Shibata คาดว่าตัวของ Tomonaga และ Sakurai น่าจะกระเด็นออกจากเครื่องบินและกลิ้งตกลงมาตามเนินเขาช่วงนี้ ทำให้พวกเขารอดตาย)
เมื่อขึ้นไปบนเนินนั้นได้สำเร็จ ร้อยตรี Shibata เล่าเหตุการณ์ว่า ภาพที่เห็นนั่นน่าสะเทือนใจ
ชุดค้นหาได้พบซากเครื่องบินในที่สุด สภาพของเครื่องบินคือหักออกสองส่วน เหลือแต่ส่วนปีกและหางที่ยังคงรูปอยู่บ้าง
ศพกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ และศพที่เห็นนั้นเหลือกลายเป็นโครงกระดูกไปจนหมด (ระยะเวลากว่า 36 วันในป่าเขตร้อน เข้าใจว่าด้วยสัตว์ป่านักล่าและสัตว์กินซาก ตลอดจนหนอนแมลงวัน ทำให้ศพทั้งหมดที่อยู่จุดตก 9 ศพกลายเป็นโครงกระดูก)
ทหารชุดค้นหาพยายามตรวจสอบหาร่างของนายพลชิโมดะ ก็พบเข้ากับร่างหนึ่งซึ่งสวมเสื้อที่มีแถบเครื่องหมายแสดงชั้นยศพลตรีของกองทัพบกญี่ปุ่น จึงพอทราบได้ว่าคือศพของพลตรีชิโมดะ
นำกระดูกกลับออกมาด้วย ส่วนเอกสารลับของกองทัพญี่ปุ่นและจดหมายที่กระจัดกระจายในพื้นที่ก็ถูกเผาทำลาย
ในเครื่องบินพบกะโหลกของลิง 1 กะโหลก ซึ่งจากการสอบถามผู้รอดชีวิตได้รับข้อมูลว่าหนึ่งในคณะนายทหารที่ติดตามพลตรีชิโมดะ ได้นำลิงที่เป็นสัตว์เลี้ยงขึ้นเครื่องบินมาด้วย
หลังจากจัดการศพและสิ่งของเอกสารต่างๆแล้ว ทหารชุดค้นหาได้ตัดลอกเปลือกต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดออกในบริเวณนี้จุดตก แล้วก็สลักข้อความไว้ว่า ณ สถานที่แห่งนี้ พลตรี ชิโมดะ และทหารอีก 11 คนได้เสียชีวิตลง
ทหารชุดค้นหา ได้นำศพออกมาถึงนิเถะ(สังขละบุรีในวันที่ 12 มีนาคม 1943)
มีการจัดพิธีไว้อาลัยที่ค่ายนิเถะ หลังจากนั้นศพถูกส่งมายังค่ายใหญ่ที่กาญจนบุรี
ในระหว่างที่หมวดของร้อยตรี Shibata เข้าไปค้นหาจุดตก ไม่มีกล้องถ่ายภาพไป จึงใช้การวาดภาพของซากเครื่องบินออกมาแทน เพื่อเขียนประกอบรายงาน
ภาพวาดซากเครื่องบินที่ตก เนื่องจากหมวดของร้อยตรี Shibata ไม่มีกล้องถ่ายรูปติดไปด้วย จึงจำเป็นต้องวาดซากเครื่องบินเพื่อประกอบรายงาน
เอกสารรายงานของทหารรถไฟญี่ปุ่นมีการกำหนดจุดที่พบ Sakurai ตลอดจนจุดที่พบซากเครื่องบินและร่างของทหารญี่ปุ่นที่ร่วมโดยสารบนเครื่องบิน ซึ่งผมได้ทำแผนที่ขึ้นใหม่ให้ดูชัดเจนไปแล้วข้างต้น
หลังจากที่พลตรีชิโมดะเสียชีวิตลง ถือเป็นการสละชีพในหน้าที่ เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโทในกองทัพบกญี่ปุ่น
พลตรี ทากาซากิ ซึเกมาซะ ถูกย้ายจากแมนจูเรียทางเหนือของจีนมาดูแลการก่อสร้างทางรถไฟ
พลตรี ทากาซากิ ซึเกมาสะ ผู้อำนวยการก่อสร้างทางรถไฟคนที่ 2
กองบัญชาการสูงสุดของญี่ปุ่นได้เลื่อนกำหนดเส้นตายการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ให้ไวขึ้น 4 เดือนจากเดิมคือสิ้นสุดเดือนธันวาคม 1944 เปลี่ยนเป็นสิ้นเดือนสิงหาคม 1944
หลังจากคำสั่งเร่งการก่อสร้างและการสูญเสียผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยก่อสร้างทางรถไฟ
กองทัพญี่ปุ่นได้เร่งจัดหากรรมกรเอเชีย ตลอดจนขนส่งเชลยศึกจำนวนมากมายังประเทศไทย เพื่อมาทำงานก่อสร้างทางรถไฟ ในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มจำนวนเวลาการทำงานของแต่ละกะให้มากขึ้น เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามคำสั่งของกองบัญชาการที่โตเกียว
จนกลายเป็นช่วงเวลา Speedo ที่หลายคนรู้จักกัน
ไม่นานพลตรี ทากาซากิ ก็ป่วยหนักด้วยโรคมาลาเลีย เดือนสิงหาคม 1943 เขาได้ถูกส่งตัวไปที่เปรัก มลายู(มาเลเซีย) และเสียชีวิตลงในท้ายที่สุด
ผู้อำนวยการคนใหม่ที่มาดูแลการก่อสร้างก็คือ พลตรี อิชิดะ เอกูมะ ก็เข้ามารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 1943 ก่อนที่ทางรถไฟจะแล้วเสร็จในวันที่ 25 ตุลาคม 1943
พลตรี อิชิดะ เอกูมะ ผู้อำนวยการก่อสร้างทางรถไฟคนที่ 3
พลตรี ชิโมดะ โนบุโอ ผู้อำนวยการก่อสร้างทาง รถไฟคนที่ 1
ส่วนประวัติของ ชิโมดะ โนบุโอ ผู้อำนวยการก่อสร้างทางรถไฟที่ 2 คนที่แรก ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้
เกิดที่จังหวัด Miyagi วันที่ 21 กรกฎาคม 1891
จบการศึกษาโรงเรียนนายร้อยของญี่ปุ่น เข้าสู่กองทัพในตำแหน่งร้อยตรี ทหารช่าง ในปี 1912
สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยโตเกียวในปี 1919
หลังจากนั้นก็มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาโดยตลอด
จนกระทั่งในปี 1942 มีการเริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายไทยพม่า ชิโมดะ ในขณะนั้นมียศพลตรี ได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้อำนวยการในการก่อสร้างทางรถไฟสายไทยพม่า
และเสียชีวิตในวันที่ 26 มกราคม 1943 รวมอายุได้ประมาณ 51 ปี
บทความนี้ขออุทิศแก่พลตรี Shimoda Nobuo ผู้บัญชาการกองอำนวยการก่อสร้างทางรถไฟที่ 2 และคณะติดตามอีก 9 นาย ที่เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น
การศึกษา
ประวัติศาสตร์
2 บันทึก
4
4
2
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย