Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TRUST NEWS
•
ติดตาม
26 ม.ค. เวลา 23:53 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
รู้จักตัวจริงของคุณหมอผู้เสียสละ จากซีรีย์ The Trauma Code!
“หมอมีหน้าที่รักษาคนไข้ไม่ใช่หรือครับ แล้วตอนนี้ หมอคนนั้นอยู่ที่ไหนกัน?”
“นี่เรายังเถียงเรื่องชีวิตคนกับเงินกันอยู่อีกหรือครับ?”
2 วรรคทองใหญ่ จาก The Trauma Code (ชั่วโมงโกงความตาย) ซีรีย์เกาหลีน้ำดี กระตุกสามัญสำนึกพื้นฐานของเหล่าผู้เสียสละที่อุทิศตนให้กับผู้อื่น ในนามอาชีพที่เรียกว่า “แพทย์”
เหตุใด “เรา” จึงคิดหยิบยกซีรีย์เรื่องนี้ มาเป็นหัวข้อในการพูดคุยกันในวันนี้ นั่นก็เป็นเพราะหลังจากที่ได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวที่ The Trauma Code นำเสนอจนจบทั้ง 8 ตอน เลยทำให้รู้สึกอยากลองไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ ประเด็นสำคัญที่ซีรีย์ได้หยิบยกมานำเสนอ นั่นก็คือ…
“สารพัดปัญหา ที่เกิดขึ้นกับแผนกฉุกเฉินอุบัติเหตุของประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก”
จนกระทั่งได้พบว่า...เรื่องราวต่างๆที่นำเสนอในซีรีย์นั้น มันช่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้มากๆ อีกทั้ง “นายแพทย์แพค คังฮยอก” ผู้ทุ่มเทสุดชีวิตเพื่อผู้อื่น ซึ่งรับบทโดยนักแสดง “จูจีฮุน” นั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง วงการสาธารณสุขของประเทศเกาหลีใต้ ก็มีบุคคลเช่นนี้อยู่จริงๆ
และนายแพทย์ผู้เสียสละท่านนี้ มีชื่อว่า… “นายแพทย์ยุน ฮัน ดอก” (Yoon Han deok)! หมอและชายผู้จุดไฟเผาพลังชีวิตของตัวเอง เพียงเพราะต้องการให้ชาวเกาหลีใต้ทุกคน มีชีวิตที่ปลอดภัย ภายใต้การให้บริการด้านสาธารณสุขที่เพียบพร้อม
จนกระทั่ง ชายผู้นี้ ได้รับฉายาว่า “แอตลาส” (Atlas) หรือไททันผู้แบกวงการสาธารณสุขเกาหลีใต้เอาไว้บนสองบ่า!
เอาล่ะ....เกริ่นนำเสียยืดยาวมาหลายบรรทัดแล้ว “เรา” ไปร่วมกันตราตรึงกับความเสียสละของ “นายแพทย์แพค คังฮยอก” ตัวจริง นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไปกันดีกว่า…
ความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการแพทย์เกาหลีใต้ :
วันที่ 4ก.พ.2017 เวลา17.50 น.
หลังภรรยาของ ของนายแพทย์ยุน ฮัน ดอก หัวหน้าศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (National Emergency Medical Center) พยายามติดต่อสามีอยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับใดๆ
โดยในช่วงแรกๆ เธอไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลอะไรมากนัก เนื่องจากเป็นเรื่องปกติสามี ที่มักทุ่มเททำงานอย่างหนักหลายวันติดต่อกัน จนกระทั่งแทบไม่ค่อยมีเวลาติดต่อกับทางครอบครัว
2
แต่แล้ว...เมื่อเริ่มตระหนักได้ว่า การขาดการติดต่อครั้งนี้ มันนานเกินกว่าปกติ ภรรยาจึงตัดสินใจเดินทางมาตรวจสอบที่ห้องทำงานของเขา จนกระทั่งได้พบร่างของชายวัยเพียง 51 ปี นั่งเสียชีวิตอยู่บนเก้าอี้ และบนโต๊ะทำงานเต็มไปด้วยเอกสารการเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุในช่วงเทศกาลวันหยุดยาววางอยู่เกลื่อนกลาด
โดยคุณหมอจากชาวเกาหลีใต้อันเป็นที่รักไป ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน อันเป็นผลจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบขั้นรุนแรง ขณะเข้าเวรเพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุและบริหารจัดการศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงวันหยุดเทศกาลชูซอก (Chuseok holiday ) หรือ เทศกาลไหว้พระจันทร์
ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวของประเทศเกาหลีใต้ และโรงพยาบาลส่วนใหญ่ปิดให้บริการ จนกระทั่งทำให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยจากอุบัติเหตุในช่วงเวลานั้น ต้องแห่มาใช้บริการของศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแทน
เบื้องต้นผลการชันสูตรศพ จากนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สรุปว่า สาเหตุของอาการหัวใจวายเฉียบพลันของนายแพทย์ยุน ฮัน ดอก เกิดจากภาวะความเครียดและการทำงานหนักติดต่อกันมานานหลายปี
มรณะกรรมของหัวหน้าศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำให้วงการสาธารณสุของเกาหลีใต้ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกแห่งความโศกสลด โดยในพิธีศพที่ถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรตินั้นมีบุคคลากรทางการแพทย์และชาวเกาหลีใต้เข้าร่วมพิธีมากกว่า 300 คน
1
ยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดีมุน แจอิน ผู้นำเกาหลีใต้ (ณ ขณะนั้น) ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กไว้อาลัย นายแพทย์ยุน ฮัน ดอก พร้อมกับยกย่องในความทุ่มเททำงานหนักเพื่อประชาชนเกาหลีใต้โดยระบุว่า...
“สำหรับคุณหมอยุน ฮัน ดอก แล้ว การได้ช่วยชีวิตและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อื่น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาก่อนตัวเองหรือคนในครอบครัว แม้ว่าจะเป็นช่วงวันหยุดก็ตามที”
รู้หรือไม่? แพทย์แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินเกาหลีใต้ ทำงานหนักแค่ไหน? :
จากข้อมูลของสมาคมการแพทย์เกาหลีใต้ (Korean Medical Association) หรือ KMA ระบุว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลวันหยุดปีใหม่ และเทศกาลชูซอกในแต่ละปี มีชาวเกาหลีใต้มากกว่า 28,000 คน ที่เข้าไปใช้บริการที่ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
1
ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ นายแพทย์ยุน ฮัน ดอก ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในปี 2017 ซึ่งระบุข้อความว่า...
“10วันในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว คือ หายนะสำหรับหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างแท้จริง”
และประเด็นนี้ ถูกตอกย้ำจากข้อมูลเรื่องปริมาณการทำงานเฉลี่ย ของแพทย์แผนกฉุกเฉินของเกาหลีใต้ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการทำงานของแพทย์แผนกฉุกเฉินในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD ถึง 2.3 เท่าด้วย!
โดยแพทย์แผนกฉุกเฉินเกาหลีใต้ มีค่าเฉลี่ยการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเฉลี่ยที่ 17 ครั้งต่อแพทย์ 1 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของ OECD อยู่ที่เพียง 7.4 ครั้ง ต่อแพทย์ 1 คน เท่านั้น!
และไม่เพียงจะต้องทำงานอย่างหนัก แพทย์แผนกฉุกเฉินเกาหลีใต้ ยังต้องเผชิญกับอันตรายจากคนไข้อย่างไม่น่าเชื่อด้วย โดยอ้างอิงรายงานการสำรวจ ของ สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งเกาหลีใต้ (Korean Society of Emergency Medicine) ในปี 2019 พบว่า เจ้าหน้าที่ ที่ประจำแผนกฉุกเฉินมากกว่า 60% เคยถูกทำร้ายร่ายกายขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย!
ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวโน้มสูงที่บรรดาแพทย์จบใหม่ของเกาหลีใต้ มักจะพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปทำงานในแผนกฉุกเฉิน ที่ทั้งต้องตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายแทบทุกวินาที , ขาดแคลนบุคลากร , มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและไม่เป็นเวลา แต่กลับได้รับค่าจ้างและสวัสดิการน้อยกว่าแผนกอื่นๆ
แล้ว นายแพทย์ยุน ฮัน ดอก ทำงานหนักขนาดไหน?
นายแพทย์ยุน ฮัน ดอก เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1968 จบการศึกษาจากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนนัม (Chonnam National University medical school) และมีประสบการณ์การทำงานตรงในแผนกฉุกเฉินถึง 6 ปีเต็ม
ได้เข้าร่วมศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2002 ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้นำองค์กรในปี 2012 (ซึ่งในขณะนั้นมีศูนย์บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพียง 17 แห่งทั่วประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น)
ทั้งนี้ หลังเข้ารับตำแหน่ง นายแพทย์ยุน ฮัน ดอก ซึ่งมีประสบการณ์ตรง เกี่ยวกับสารพัดปัญหาต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยอาการวิกฤตของประเทศ จึงได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับฝ่ายการเมือง
จนกระทั่ง สามารถจัดทำแผนแม่บทระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Services System) หรือ EMSS ทั้งระบบ และยังได้จัดหางบประมาณสำหรับขยายศูนย์บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินคลอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 500 แห่ง รวมถึงยังจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์สำหรับขนย้ายผู้ป่วยวิกฤต ที่ในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า “Doctor Helicopter” ได้เป็นผลสำเร็จ
ซึ่งความพยายามอย่างหนักของ “คุณหมอผู้ทุ่มเท” โดยเฉพาะการก่อตั้ง “Doctor Helicopter” นี้เอง ทำให้ค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาการวิกฤตในประเทศเกาหลีใต้ ค่อยๆลดลงจาก 35.2% ในปี 2010 มาอยู่ที่ 30.5% ในปี 2022 ได้สำเร็จ จากการที่สามารถขนย้ายผู้ป่วยอาการสาหัส ไปเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วง (อ้างอิงข้อมูลจากรัฐบาลเกาหลีใต้ในปี 2022)
ทั้งหมดนั้น คือการทำงานภาพใหญ่ในฐานะหัวหน้าศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หากแต่ “คุณรู้หรือไม่?”
นอกจากการทำงานนั่งโต๊ะแล้ว “นายแพทย์แพค คังฮยอก” ตัวจริงนี้ ยังต้องแบกรับภาระการทำงานในฐานะแพทย์รักษาคนไข้อย่างชนิดที่เรียกว่า “แทบจะต้องกลายร่างเป็นยอดมนุษย์ไปแล้ว!”
โดย สำนักงานสวัสดิการแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี (Korea Workers’ Compensation and Welfare Service) หรือ COMWEL รายงานว่า ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต คุณหมอยุน ฮัน ดอก มีชั่วโมงการทำงานรวมกัน จากการต้องเข้าเวรทั้งกลางวันและกลางคืน รวมกันถึง 129 ชั่วโมง 30 นาที หรือ เฉลี่ย 19 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 6.5 วันต่อสัปดาห์ และไม่เคยได้ลาพักร้อนมายาวนานถึง 3 เดือนแล้ว!
ซึ่งประเด็นนี้ สอดคล้องกับบันทึกของศาสตราจารย์ ฮอ ทัก (Heo Tak) จากคณะแพทย์ศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนนัม ที่ระบุถึงการทำงานหนักของนายแพทย์ยุน ฮัน ดอก เอาไว้ว่า...
“การทำงานอย่างหนักในฐานะแพทย์ ของ คุณหมอยุน ฮัน ดอก ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาไม่เคยได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในช่วงเทศกาลชูซอกเลยสักครั้งเดียว เพราะเขาต้องคอยเที่ยววิ่งวุ่นทั้งตรวจสอบและประสานงานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การต้องต่อสู้ในแบบแทบจะโดดเดี่ยวเพื่อจัดทำแผนแม่บทระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จนกระทั่งต้องไปปะทะแบบไม่ประนีประนอมกับฝ่ายที่เสียผลประโยชน์นั้น แทบจะไม่ต่างอะไรกับการเป็นนักสู้เพื่ออิสรภาพในช่วงที่เกาหลี ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย”
ด้าน ศาสตราจารย์อี กุก จง (Lee Guk jong) ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอาจู (Ajou University Hospital’s trauma center) ได้เขียนบันทึกถึงความจริงจังในการทำงานหนักเพื่อชาวเกาหลีใต้ ของ นายแพทย์ยุน ฮัน ดอก ในหนังสือที่มีชื่อว่า Golden Hour ในปี 2019 เอาไว้ว่า...
“ในช่วงปี 2008 เมื่อผมเดินทางไปเยี่ยมคุณหมอยุน ฮัน ดอก คำถามแรกที่เขาถามผมคือ คุณหมอ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์มาหาผมแบบนี้ แล้วใครจะเป็นคนผ่าตัดให้กับคนไข้ หากจู่ๆมีผู้ป่วยอาการวิกฤตมาที่ ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอาจูกันล่ะ!
“ทำให้ตลอดชีวิตของ คุณหมอยุน ฮัน ดอก ผมรู้สึกได้เลยว่า เขาไม่เคยต้องการอะไร นอกเสียจากการก่อตั้งระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเท่านั้น!”
ปณิธานของผู้ล่วงลับ :
ลูกชายของนายแพทย์ยุน ฮัน ดอก ได้กล่าวในพิธีศพของบิดา อย่างไว้อย่างตราตรึงใจชาวเกาหลีใต้ว่า...
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความฝันตลอดชีวิตของคุณพ่อ จะทำให้ประเทศของเรา สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยอาการวิกฤต ให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ภายใต้ระยะเวลาที่เหมาะสม จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง”
บทส่งท้าย จำนวนแพทย์เกาหลีใต้ต่อจำนวนประชากร :
สถิติปี 2022 :
จำนวนแพทย์ : 2.6 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ 3.7 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน
และหากไม่นับรวมจำนวนแพทย์แผนโบราณ สัดส่วนนี้ จะลดลงเหลือเพียง 2.2 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน
จำนวนผู้จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ : 7.3 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ซึ่งอยู่ที่ 14 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน
อ้างอิงข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD
ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้ ประธานาธิบดียูน ซอก ยอล (ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องฐานก่อการกบฏและกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง จากการประกาศกฎอัยการศึก) จึงอ้างว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากร
โดยเฉพาะกลุ่มศัลยแพทย์, กุมารแพทย์, สูตินรีแพทย์ และ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือ แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน ด้วยการเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์ถึง 2,000 คน จากเดิมที่มีโควตาผลิตนักศึกษาแพทย์ 3,058 คนต่อปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี แผนการดังกล่าว ถูกคัดค้านอย่างหนักจากบุคลากรทางการแพทย์ และนำไปสู่การประท้วงหยุดงานของบรรดากลุ่มแพทย์ฝึกหัดในที่สุด
#TheTraumaCode #ชั่วโมงโกงความตาย #ซีรีส์เกาหลี #เกาหลีใต้ #แผนกฉุกเฉิน #หมอฉุกเฉิน #แพคคังฮยอก #จูจีฮุน #ยุนฮันดอก #YoonHandeok #KPOP #OUTFIELDMAN #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews
2 บันทึก
4
3
2
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย