27 ม.ค. เวลา 10:37 • หนังสือ

แกงกะหรี่สูตรลับกับปริศนาในคาเฟ่หนังสือ

สัปดาห์ก่อนนู้นทำแกงกะหรี่ญี่ปุ่นกินกันที่บ้านกับเพื่อนๆ เลยนึกถึงเล่ม #แกงกะหรี่สูตรลับกับปริศนาในคาเฟ่หนังสือ จาก Piccolo Publishing ขึ้นมา ซื้อมาดองไว้สักพักแล้วได้โอกาสหยิบมาอ่านสักที เป็นหนังสือที่ชาวแกงกระหรี่เลิฟเวอร์ไม่ควรพลาด อ่านไปน้ำลายไหลไปแน่นอน เล่มนี้จบสักพักแล้วแต่หนีเที่ยวอยู่เลยเพิ่งได้เอามาลงเพจ 🤣
ตัวเอกของเรื่องนี้คือ "โอกาวะ จิฮารุ" หญิงสาวเจ้าของร้าน "โซเซกิคาเฟ่" ในย่านหนังสือเก่าอย่างจิมโบโจ เธอเช่าชั้นหนึ่งของอาคารมาได้ด้วยราคาที่ถูกกว่าปกติ โดยมีข้อแม้จากเจ้าของตึกคือร้านนี้จะต้องมีเมนูแกงกะหรี่ โอกาวะจึงรังสรรค์เมนู "แกงกะหรี่โซเซกิ" เมนูที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือของโซเซกิที่แม่เคยอ่านให้ฟังในสมัยเด็ก ขึ้นมาเป็น 1 ในเมนูประจำร้าน
แต่ยอดขายของเธอกลับไม่ดีเอาเสียเลย เนื่องจากย่านนี้เต็มไปด้วยร้านแกงกะหรี่ดั้งเดิมที่มีขาประจำมากมาย ซึ่งรสชาติแกงกะหรี่โซเซกิไม่อาจเอาชนะใจลูกค้าพวกนั้นได้ จนทำให้เธอตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากสุดๆ ในระหว่างที่เธอคิดว่าอาจจะต้องปิดกิจการนั้นเอง โอกาวะได้พบกับลูกค้าท่าทางแปลกๆที่เหมือนผีดิบผสมเด็กเนิร์ดคลั่งวรรณกรรม ชายหนุ่มคนนั้นวิจารณ์แกงกะหรี่ของเธอไม่มีชิ้นดี พร้อมกับกล่าวหาว่าเธอไม่เข้าใจงานของโซเซกิอย่างแท้จริง
ผลปรากฏว่าลูกค้าคนนั้นก็คือ "ฮายามะ โทโมกิ" เจ้าของตึกที่เธอเช่าอยู่พ่วงด้วยตำแหน่งนักเขียนชื่อดัง เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้โอกาวะตัดสินใจค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโซเซกิมากขึ้น เพื่อนำมาปรับปรุงแกงกะหรี่ให้มีรสชาติสมกับที่ยืมชื่อนักเขียนในตำนานมาใช้ และนั่นก็ทำให้เธอต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องราววุ่นๆผ่านรสชาติของแกงกะหรี่ ตั้งแต่แผนการปองร้ายสุดแยบยลที่มีเป้าหมายคือฮายามะ ไปจนถึงอดีตที่ถูกกลบฝังของครอบครัวเธอเอง
เป็นหนังสือที่อ่านได้เพลินมากๆ ทั้งบรรยากาศสบายๆของเมืองแห่งหนังสืออย่างจิมโบโจ 📖 การบรรยายชวนหิวถึงรสชาติที่ซับซ้อนของแกงกะหรี่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนักเขียนชื่อดังแต่ละคน 🍛 และปริศนาน่าสนใจที่ร้อยเรียงกันในแต่ละตอน จนทำให้เราต้องลุ้นตามว่าตัวละครจะปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ที่กระจัดกระจายอยู่เหล่านั้นจนค้นพบความจริงได้หรือไม่ 🔍 เรียกได้ว่ารวมความชอบ 3 อย่างของเรามาไว้ครบจบในเล่มเดียว
เนื้อเรื่องจะแบ่งเป็น 4 ตอนที่มีไทม์ไลน์ต่อเนื่องกัน แต่มีธีมหลักแตกต่างกัน โดยจะแบ่งเป็นตอนที่เกี่ยวข้องกับโซเซกิ, ฮยักเก็น, ชิกิ และเอลเลรี ควีน การสืบสวนของมือสมัครเล่นอย่างโอกาวะและฮายามะในแต่ละตอนก็จะอ้างอิงจากผลงานหรือเรื่องราวชีวิตของนักเขียนคนนั้นๆ ผสมกับสูตรแกงกะหรี่แบบต่างๆที่เป็นเหมือนตัวแทนของแต่ละตัวละคร ฟีล cozy mystery เลยแหละ สนุกดี อ่านจบแล้วทำเอาอยากอ่านเล่มอื่นที่มีพูดถึงในเรื่องเลย ยิ่งเรื่อง "ตะเกียงของพระเจ้า" นี่เคยเห็นผ่านตามาสักพักละ ลังเลหลายรอบ สงสัยรอบนี้ได้จัดแล้ว
จริงอยู่ว่าหน้าตากับรสชาติเหมือนกันอย่างกับแกะ แต่ต้นกำเนิดไม่เหมือนกันค่ะ
โอกาวะ จิฮารุ
เราไม่ค่อยสันทัดเรื่องในวงการอาหารเท่าไหร่ แต่ส่วนตัวไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีประเด็นเรื่องการลอกเลียนกันด้วย คือเราคิดว่าการที่มีร้านอาหารทำอาหารออกมารสชาติเหมือนกัน มันดูไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเท่าไหร่ ยังมีความเป็นไปได้อื่นอีกเยอะที่จะทำออกมารสชาติคล้ายกันโดยที่ไม่เคยไปกินร้านนั้นมาก่อน อย่างในเรื่องนี้ที่โอกาวะทำเมนู "แกงกะหรี่ในความทรงจำ" ขึ้นมาก็เพราะปู่ที่รักเธอมากเคยทำให้กินตอนเด็ก พอเจอสมุดบันทึกของปู่ที่จดไว้ก็เลยคิดถึงและอยากเอารสชาตินี้มาเสิร์ฟให้กับลูกค้า
แต่กลับกลายเป็นโดนกล่าวหาว่าขโมยสูตรซะงั้น เธอถูก "อุมะโดเมะ" ที่อ้างตัวว่าเป็นทายาทที่สืบทอดแกงกะหรี่นี้มาแค่คนเดียว ​สั่งให้เลิกขายเมนูลอกเลียนแบบนี้ซะ เพราะร้านของเขาเสิร์ฟแกงกะหรี่รสชาตินี้มากว่า 30 ปีแล้ว แต่จริงๆแล้วพ่อของเขาที่เป็นพ่อครัวในร้านที่ริเริ่มสูตรนี้ในช่วงก่อนสงคราม ก็แอบเอาสูตรมาทำกินในครอบครัว จนลูกชายคุ้นเคยและรู้สึกว่าเป็นรสชาติของพ่อ พอโตขึ้นก็มาเปิดร้านขายแกงกะหรี่ที่ทำจากความทรงจำวัยเด็ก ไม่ต่างกันกับโอกาวะเลยสักนิด
ตอนอ่านถึงตรงนี้เราเลยรู้สึกหงุดหงิดมากๆ คือนอกจากจะมั่นหน้าว่าตัวเองคือต้นฉบับแล้ว ยังดึงดราม่าว่าไม่น่าเชื่อว่าสูตรที่พ่อตั้งใจสืบทอดให้จะถูกขโมย สั่งให้คนอื่นทิ้งความทรงจำของคนสำคัญ แค่เพราะว่าความทรงจำนั้นดันรสชาติเดียวกันกับความทรงจำของคุณ 🙄 ถ้าเขาบอกว่าการกระทำของโอกาวะมันผิด แล้วการกระทำของเขามันถูกได้อย่างไร หรือเพราะแค่คิดเองว่าเจ้าของร้านน่าจะไม่มีทายาทเหลือแล้ว คนที่มีสูตรแบบฉันเอามาใช้ก็ถือเป็นการช่วยสืบทอดไม่ให้สูญหาย? อ่านมาทั้งเรื่องสนุกหมด มาหงุดหงิดตาลุงนี้นี่แหละ
มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ไขว่คว้าหาผลลัพธ์ มักอยากห้อทะยานไปโดยไม่ครุ่นคิดให้ดี ทว่าสิ่งสำคัญแท้จริง คือการลังเล ครุ่นคิด ไม่เร่งร้อน ย่างก้าวอย่างมั่นคงเชื่องช้าเหมือนวัวต่างหาก
แนวคิดที่ว่าเราต้องใช้ชีวิตในทุกๆวินาทีอย่างคุ้มค่า เราจะต้องเก่งขึ้นตลอดเวลา ต้องไม่หยุดเรียนรู้ ต้อง productive ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตด้วยความคร่ำเคร่งเร่งรีบมากขึ้น มองว่าชีวิตคือเกมการแข่งขันที่ใครเข้าเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ นั่นจึงทำให้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันรู้สึกว่าการต้องอดทนรอเป็นเรื่องน่าเบื่อ และมีแต่จะทำให้ตนกลายเป็นผู้แพ้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พวกเขาจึงยินดีที่จะเสี่ยงโชคแบบหน้ามืดตามัว เพื่อให้ตัวเองคว้าความสำเร็จมาครองได้ไวที่สุด จะได้ไม่ต้องตกขบวนให้คนอื่นมาเย้ย
พวกเขามองว่าการรอคอยหรือลังเลเป็นลักษณะของคนขี้ขลาด การศึกษาและวางแผนก่อนลงมือเป็นข้ออ้างของพวกไม่กล้าเสี่ยง ลักษณะนิสัยเช่นนี้เกิดจากค่านิยมที่ไม่เชิดชูความมานะพยายามและโฟกัสอยู่ที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว จริงอยู่ว่าการคิดทุกอย่างที่ทำอาจจะเป็นเรื่องเสียเวลา แต่การทำโดยไม่ผ่านกระบวนการคิดมักมีเรื่องให้เสียหายมากกว่าเสมอ
ความคิดที่ว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องตะกายขึ้นไปในจุดที่สูงกว่านี้ให้ได้ ต้องเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ให้มากที่สุด ดึงศักยภาพของตนออกมาให้เต็มที่ อาจส่งผลให้หลายคนรู้สึกว่าการหยุดพักคือบาป และการเดินไปข้างหน้าทีละก้าวแทนที่จะออกวิ่งไปอย่างไม่ลดละคือเรื่องน่าละอาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ไม่สามารถวิ่งสุดฝีเท้าได้ตลอดไป เมื่อไหร่ที่เหนื่อยเราก็ต้องชะลอความเร็วลงมาเดิน พอหมดแรงก็ต้องหยุดพักเติมพลังเพื่อให้มีแรงไปต่อ
ดังนั้นหากคุณกำลังมีชีวิตที่ไม่หวือหวาเหมือนใครเขา รู้สึกขี้เกียจบ้างในบางวัน เหนื่อยที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อายุ 30 แล้วยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง ขอให้รู้เอาไว้ว่ามันเป็น "เรื่องปกติ" ของชีวิต อย่าปล่อยให้อุดมคติของคนอื่นมากดดันตัวคุณ อย่าปล่อยให้ใครมาหลอกคุณได้ว่าโลกหมุนเร็วขึ้นเลยต้องปรับตัวให้ทัน เพราะโลกมันก็หมุนเหมือนเดิมทุกวันนั่นแหละ คนเราไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างก็ได้ แค่มีความสุขกับชีวิตให้ได้มันก็อาจจะยากพอแล้ว
ไปอ่านเรื่องราวสืบสวนชวนหิวกันได้ที่นี่เลย https://s.shopee.co.th/9ziQKwyyos
โฆษณา