Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
27 ม.ค. เวลา 12:58 • ท่องเที่ยว
ภูพระบาท มรดกโลกของไทย 02 : ศาสนสถานบนภูพระบาท
ภูพระบาทเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนรับพระพุทธศาสนา พบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้เป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
ภูพระบาทนับเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนากับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเชื่อตั้งเดิมยังคงอยู่ร่วมกัน .. จากการนำเอาหลักหินมาล้อมรอบเสาหินหรือเพิงหิน นอกจากเพื่อบอกเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ ยังมีการดัดแปลงพื้นที่เพื่อประกอบศาสนกิจ ประดิษฐานพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อสักการะบูชา และเป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุอีกด้วย นับเป็นการผสมผสานและอยู่ร่วมกันระหว่างประเพณีพุทธศาสนา และการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ
ในช่วงเวลานี้ มีการปรับเปลี่ยน ดัดแปลง พื้นที่ธรรมชาติบริเวณเพิงหินต่างๆ ให้เป็นศาสนสถาน บางแห่งมีใบเสมาหรือหลักหินปักล้อมรอบให้เกิดสภาพแวดล้อม และบรรยากาศที่เหมาะต่อการใช้งานในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อประกอบพิธีกรรม
ถ้ำฤๅษี .. นิทานอุสา-บารส กล่าวถึงจุดนี้ว่า เป็นที่บำเพ็ญเพียรของฤาษีจันทา อาจารย์ของนางอุสานั่นเอง
โขดหินรูปร่างคล้ายดอกเห็ด ณ ถ้ำฤาษีตั้งอยู่บนเนินสูง สันนิษฐานว่าถูกใช้ประโยชน์เป็นพระอุโบสถ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ล้อมรอบไปด้วยใบเสมาทั้ง 8 ทิศ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 7 ทิศซึ่งเสมาส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่ต่ำกว่าโขดหินประธาน
.. ลักษณะใบเสมาที่พบมีทั้งเป็นแท่งสี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยม มีส่วนยอดโค้งมนเป็นโดม และเป็นแผ่นแบน โดยที่ส่วนปลายยอดโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว ไม่พบว่ามีการแกะสลักลวดลายใดๆ ส่วนรูปแบบการปักเสมาปักเพียงชั้นเดียวล้อมรอบเพิงหิน
การผสมผสานความเชื่อเดิมเข้ากับพระพุทธศาสนา
ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เมื่อมีการรับศาสนาพุทธเข้ามา ส่งผลทำให้มีการสร้าง ‘เสมา’ หรือ ‘สีมา’ ขึ้น
ตามความหมายเสมาคือเขตหรือแดนที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ขนาดเล็กสุดต้องไม่น้อยกว่าพระสงฆ์ 21 รูปสำหรับนั่งทำพิธีได้ ซึ่งในพระวินัยปิฎกกำหนดให้เสมาเป็น ‘นิมิต’ (สัญลักษณ์) มี 8 อย่าง ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำนิ่ง
ใบเสมาจึงตรงกับนิมิตประเภทศิลา แต่จะเห็นได้ว่าในพระวินัยปิฎกก็ไม่ได้ระบุว่าต้องทำเป็นรูปร่างหน้าตาแบบใด
แต่ปรากฏว่าในอีสานและเขตลุ่มน้ำโขงเช่นในเวียงจันทน์และสะหวันนะเขตนิยมทำเป็นรูปใบเสมารูปทรงคล้ายใบไม้แหลม ซึ่งธรรมเนียมการทำใบเสมาแบบนี้ไม่พบในอินเดียและลังกา ดังนั้นจึงเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น
คอกม้าท้าวบารส ... สถานที่ต่างๆบนภูพระบาทถูกตั้งชื่อตามตำนานพื้นบ้าน อุษา-บารส เช่น วัดพ่อตา วัดลูกเขย หอนางอุษา บ่อน้ำนางอุษา ฉางข้าวนายพราน คอกม้าท้าวบารส เป็นต้น
นิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส” .. ได้ถูกนำมาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่าง ๆ บนภูพระบาท การเที่ยวชมโบราณสถานบนภูพระบาท หากรู้เรื่องเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ จะได้เข้าใจที่มาของชื่อตลอดจนทราบถึงคติความเชื่อของชุมชนได้เป็นอย่างดี
นิทานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับหอนางอุสาคือ เรื่อง อุษาบารส .. เล่าถึงเมื่อตอนนางอุสาเกิดมาจากดอกบัว ฤษีจันทาได้นำนางอุสามาเลี้ยงเอาไว้ ต่อมาท้าวกงพานกษัตริย์เมืองพานซึ่งเป็นลูกศิษย์ของฤษีจันทาได้ขอรับนางอุสาไปเลี้ยงโดยให้มีฐานะเป็นธิดา
อยู่มาวันหนึ่งนางไปอาบน้ำและได้ร้อยมาลัยรูปหงส์อธิษฐานเสี่ยงทายคู่ครองแล้วปล่อยลงน้ำ มาลัยนี้ได้ลอยไปถึงเมืองปะโคเวียงงัวและท้าวบารสซึ่งเป็นเจ้าชายเมืองปะโคเวียงงัวนี้ได้เก็บมาลัยของนางอุสาเอาไว้ จากนั้นจึงออกตามหาผู้เป็นเจ้าของมาลัยจนทราบว่าเป็นของนางอุสา ทั้งสองได้เกิดความรักกันจนถึงขั้นลักลอบได้เสีย
เมื่อข่าวทราบถึงท้าวกงพานก็พิโรธมากแต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองปะโคเวียงงัวบิดาของท้าวบารส จึงได้ออกอุบายแข่งกันสร้างวัดหากผู้ใดแพ้ต้องถูกตัดเศียร กำลังคนของท้าวบารสน้อยกว่าท้าวกงพานแต่ได้พี่เลี้ยงของนางอุสาช่วยออกอุบายให้เอาโคมไฟไปหลอกคนของท้าวกงพานว่าดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว คนของท้างกงพานจึงหยุดสร้างวัดแต่ฝั่งของท้าวบารสฉวยโอกาสนี้สร้างวัดจนเสร็จ เมื่อถึงเวลาตัดสินท้าวกงพานพ่ายแพ้จึงถูกตัดเศียร
นางอุสาจึงต้องติดตามท้าวบารสไปยังเมืองปะโคเวียงงัวและพบว่าท้าวบารสนั้นมีชายาอยู่แล้ว ต่อมาโหรได้ทำนายว่าท้าวบารสต้องแก้กรรมด้วยการเดินป่าองค์เดียวหนึ่งปีจึงจะพ้นเคราะห์กรรม ระหว่างนั้นนางอุสาโดนกลั่นแกล้งจากชายาของท้าวบารสจนทนไม่ไหวต้องหนีออกจากเมืองปะโคเวียงงัวแล้วกลับเพืองพานที่ตนเคยอาศัยอยู่จนตรอมใจตาย และเมื่อครบหนึ่งปีท้าวบารสจึงกลับเข้าเมืองแต่ไม่พบนางอุสาจึงออกตามจนถึงเมืองพาน และพบว่านางอุสาตรอมใจตายไปแล้วท้าวบารสจึงตรอมใจตายตาม
นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับเมืองพานตามนิทานท้องถิ่นเรื่อง อุษาบารส ยังมีการตั้งชื่อถ้ำและสถานที่ตามนิทานนี้ เช่น วัดพ่อตา-วัดลูกเขย
คอกม้าท้าวบารส มีลักษณะเป็นเพิงหินที่ดูเหมือนจะสกัดให้เป็น 2 ห้องอย่างชัดเจน บริเวณพื้นด้านล่างที่ถูกสกัดเรียบค่อนข้างกว้าง นิทานอุสา-บารส กล่าวถึงจุดนี้ว่า ก่อนที่ท้าวบารสจะได้พบกับนางอุสา พระองค์ก็ได้นำม้าของพระองค์เองมาผูกไว้ ณ ที่แห่งนี้
คอกม้าน้อย .. มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่คล้ายดอกเห็ด พื้นด้านล่างเป็นหินถูกสกัดให้เรียบใช้เป็นที่พักพิงได้ นิทานอุสา-บารส กล่าวถึงจุดนี้ว่า เป็นที่ซึ่งเหล่าบริวารของท้าวบารสนำม้ามาผูกไว้ขณะที่ท้าวบารสมาตามหาเจ้าของพวงมาลัยรูปหงส์ที่นางอุสาได้ลอยเสี่ยงทายไป เพื่อหาคู่
ลักษณะเป็นเพิงหินรูปดอกเห็ดเช่นเดียวกัน โดยมีการปักใบเสมาล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ
เพิงหินใกล้กับคอกม้าท้าวบารส .. สันนิษฐานว่าเป็นที่พักชั่วคราว มีร่องรอยของภาพเขียนสีบริเวณตรงกลางของผนังเพิงหิน ปัจจุบันสีจางมาก ยากต่อการมองเห็น มีร่องรอยการสกัดหินตกแต่งพื้นที่
หอนางอุสา ... เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 10 เมตร มีการต่อเดิมจากฝีมือของมนุษย์สมัยโบราณให้เป็นห้องขนาดเล็กไว้ที่ส่วนบนของเพิงหิน ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และด้วยขนาดที่เล็กมาก จึงสันนิษฐานว่าจะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หรือรูปเคารพที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม
นิทานอุสา-บารส กล่าวถึงจุดนี้ว่า เป็นที่พักของนางอุสาเมื่อครั้งมาศึกษาวิชากับฤาษีจันทา ซึ่งในเวลาต่อมาท้าวบารสก็ได้แอบขึ้นไปหานางอุสาและอยู่ด้วยกันบนหอสูงแห่งนี้
ลักษณะประกอบด้วยหินขนาดใหญ่สองก้อนเรียงซ้อนทับกันในแนวดิ่งหิน ก้อนบนกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร และมีความสูง 10 เมตรจากพื้นลานหิน
คาดว่าสภาพหินตั้งนี้เกิดจากธรรมชาติ แต่ภายหลังถูกดัดแปลงเพื่อเป็นที่พักของมนุษย์ในสมัยก่อน โดยแบ่งออกเป็นห้องมีลักษณะก่อหินเป็นรูปหน้าต่าง พบว่ามีใบเสมาหินเรียงอยู่โดยรอบจึงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นเขตพิธีกรรมทางศาสนามาก่อน
นอกจากนี้บริเวณยังพบกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่บริเวณนี้ประมาณ 2,000-3,000 ปีก่อนประวัติศาสตร์บริเวณใกล้เคียงยังมีโขดหินที่มีลักษณะเรียงซ้อนกันหลากหลายแบบ และยังพบลักษณะของหลุมคล้ายลักษณะครกหินอยู่ รวมทั้งภาพเขียนสีผนังถ้ำหรือแง่งหินอีกด้วย
การที่มีประเพณีการทำใบเสมาปักล้อมรอบเสาหินรูปโต๊ะอย่างเป็นระเบียบทั้ง 8 ทิศบนภูพระบาท ซึ่งพบที่หอนางอุสา กู่นางอุสา ถ้ำฤๅษี เพิงหินนกกระทา คอกม้าน้อย วัดลูกเขย ถ้ำพระ และลานหินมณฑลพิธี ย่อมสะท้อนความสำคัญอย่างยิ่งยวดของภูพระบาทในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และสะท้อนการผสมผสานความเชื่อใหม่เข้ากับความเชื่อเก่า ที่มีแกนความเชื่อแบบ ‘พุทธปนผี’
เชื่อว่าเสาหินรูปโต๊ะนี้คือรูปแบบหนึ่งของ “เจดีย์” ดังเห็นได้จากโบราณสถานบางในเมืองวัฒนธรรมเสมา เช่น ที่พระธาตุยาคูที่เมืองฟ้าแดดสงยางที่กาฬสินธุ์ หรือเจดีย์บางองค์ที่เมืองเสมา นครราชสีมา ก็พบว่ามีการใช้ใบเสมาปักล้อมรอบ ดังนั้นเสาหินรูปโต๊ะจึงอาจเป็นการผสมความเชื่อเดิมแล้วสมมติให้กลายเป็นเจดีย์ภายใต้ความเชื่อแบบพุทธ
นอกเหนือไปจากใบเสมาที่ปักล้อมรอบเสาหินรูปโต๊ะแล้ว ยังพบว่าเพิงผาบางแห่งมีการแกะสลักรูปพระพุทธรูปทั้งประทับนั่งและยืน โดยเฉพาะประทับยืนที่ทำวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์นั้นจะพบว่าเป็นรูปแบบร่วมกับพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีจากภาคกลาง
อีกทั้งยังพบพระพุทธรูปศิลปะเขมร ล้านช้าง และสืบเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์อีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ส่วนศีรษะจะหักหายไป หลักฐานนี้จึงสะท้อนความต่อเนื่องของการใช้พื้นที่ภูพระบาทในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้เป็นอย่างดี
กู่นางอุสา .. เป็นก้อนหินทราย 2 ก้อนที่วางซ้อนกันอยู่ตรงกลางและมีใบเสมาหินปักล้อมรอบอยู่ 8 ทิศ นิทานอุสา-บารส กล่าวถึงที่แห่งนี้ว่า เป็นสถานที่ที่ใช้บรรจุกระดูกของนางอุสาและพี่เลี้ยงอีก 2 คน
การปักใบเสมาแบบกลีบบัวขนาดใหญ่ และงดงามกว่าที่อื่นๆบนภูพระบาท ล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ โดยวางตามแกนทิศเหนือ-ใต้ .. เป็นการแสดงออกถึงการเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 (หรือราว1000 ปีมาแล้ว) .. สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นพระอุโบสถที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยมีแนวความคิดเรื่องทิศเข้ามาผสม และให้ความสำคัญกับทิศตะวันตกเป็นพิเศษ อันเป็นพิธีกรรมเฉพาะบางประการ
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 วัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางได้แพร่กระจายเข้าสู่บริเวณที่ราบสูงโคราช โดยอาจได้รับอิทธิพลมาทางเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ ... ในสมัยทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนาได้เข้ามาถึงภูพระบาท
ภาพลายเส้นบนภูพระบาทที่กู่นางอุสา บางคนเชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับลวดลายสีแดงบนภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมบ้านเชียง เพราะทำเป็นลายเส้นคดโค้งขนานกันไปมา ภาพพวกนี้จึงอาจสื่อถึงพลังงานบางอย่าง อาจเป็นขวัญ มิ่ง หรือแนน
เมื่อได้รับวัฒนธรรมและอิทธิพลทางศาสนาเข้ามา จึงได้มีการพัฒนารูปแบบให้เป็นของตนเอง จนเกิดความนิยมในท้องถิ่น เช่น การปักใบเสมา ซึ่งไม่พบในวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง เป็นประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งนับเป็นความโดดเด่นของพื้นที่จริงๆ เพราะในบริเวณ ‘ภูพระบาท’ จะมีหลายจุดที่มีการปักใบเสมาหินล้อมรอบสถานที่นั้นไว้
วัฒนธรรมใบเสมานี้ เป็นลักษณะโดดเด่นหนึ่งของอารยะธรรมแบบทวารวดี ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12–16 (ราว พ.ศ.1101 - 1600) ที่มีจุดเริ่มต้นจากการไปมาค้าขายทางเรือและก่อเกิดเริ่มต้นในแผ่นดินสุวรรณภูมิในเมืองท่าติดทะเล ก่อนจะขยายขึ้นไปสู่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน
เสมา เป็นเครื่องกำหนดพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา แสดงถึงพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ การปักเสมาหินไว้หลายตำแหน่งในพื้นที่ภูพระบาท แสดงว่าพื้นที่ในภูพระบาทนั้นถูกกำหนดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่พุทธศาสนาเข้ามา .. คาดว่าการตั้งชุมชนคงอยู่ในที่ราบ ใกล้แหล่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูก บนภูเขานี้จึงน่าจะเป็นพื้นที่พิเศษที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น อาจจะใช้ในหลายพื้นที่ หลายโอกาส เราจึงพบการปักเสมาหินไว้หลายจุดบนภูพระบาท
บนลานหินเราจะพบเห็นการปรับแต่งพื้นที่ ทั้งเจาะ ขุดบนลานหินด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่นสำหรับปักใบเสมาหิน หรือการจุดเจาะทำเป็นบ่อน้ำ(บ่อน้ำนางอุษา) ลักษณะคล้ายรางน้ำ หรือการแกะสลักหินเป็นพระพุทธรูป เป็นเทวรูปต่างๆ ในบริเวณ
การดัดแปลงหินธรรมชาติให้เป็น ‘สีมา’ ห้อมล้อมลานพิธีสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับผู้คนตั้งแต่สมัยทวารวดี เขมร ล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ ถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมสีมาซึ่งหาได้ยาก และมีความสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถ้ำพระ .. เป็นก้อนหินที่ถูกสกัดออกเป็นห้องขนาดใหญ่ และมีการสลักรูปปฏิมากรรมทางศาสนาที่สวยงามเอาไว้ภายในห้องอีกด้วย ส่วนด้านนอกสันนิษฐานว่ามีใบเสมาหินอยู่ทั้งหมด 8 ทิศ เช่นเดียวกับกู่นางอุสา แต่ปัจจุบันพบเพียง 6 ทิศ
“ถ้ำพระ” พบการสกัดกัดดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติ ให้เป็นพระพุทธรูปจำนวนมาก กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 23.. รูปแบบของพระพุทธรูปที่ “ถ้ำพระ” อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ยังมีความละม้ายคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปสลักหินทรายกลุ่มหนึ่งบนเผิงผาที่ “ถ้ำวังช้าง” เมืองโพนโฮง แขวงนครเวียงจันทน์
พระพุทธรูปกลุ่มนี้มี 5 องค์ ประทับนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ปลายนิ้ว พระหัตถ์ชนกันตามแบบที่พบทั่วไปในศิลปะทวารวดีภาศอีสาน ผสมผสานกับรูปแบบทางศิลปะของวัฒนธรรมเขมร เช่น พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระชนงต่อเป็นปีกกา พระเนตรหรี่ค่ำ พระนาสิกแบน ขอบพระโอษฐ์หนา พระโอษฐ์แบะกว้างคล้ายการยิ้มแบบศิลปะบายน
ส่วนพระเศียรมีลักษณะต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป คือ อุษณีษะ เกล้าเป็นมวยทรงกระบอกสูงคล้ายพรงผมแบบชฎามกุฏ และมีแนวลูกประคำ หรือพวงมาลัยล้อมรอบ คล้ายกับประติมากรรมพระโพธิสัตว์ ศิลปะเขมรสมัยบายน
เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมทวารวดีแบบท้องถิ่นอีสานกับวัฒนธรรรมเขมรสมัยบายน สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ มีอายุสมัยช่วงหลังบายน ราวปลายพทธศตวรรรษที่ 18 - 19 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อของวัฒนธรรมเขมร และวัฒนธรรมล้านช้าง
บริเวณโดยรอบแกนหินมีร่องรอยการแกะสลึกประติมากรรมนูนต่ำจำนวนมาก .. เช่น ชู้มสามเหลี่ยมมี่แกะสลักอย่างปราณ๊ต 2 ซุ้ม
ซุ้มด้านซ้ายมีพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิแกะสลักแบบนูนต่ำ ส้วนเศียรของพระพุทธรูปถูกตัดออกไป แต่ตามจับได้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของแก่น .. ซุ้มด้านขวามีร่องรอยการสกัดพระพุทธรูปออกไปแล้ว
ระหว่างซุ้มทั้ง 2 มีการแกะสลักเป็นพระพุทธรูปยืน 6 องค์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แกะสลักเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง 2 องค์ พระพุทธรูปประทับยืนบนแท่น 1 องค์ .
ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้เพิงหินที่พังทลายลง มีการแกะสลักนูนต่ำรูปพระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปประทับยืน ศิลปกรรมอิทธิพลจากเชมร และพระพุทธรูปประทับนั่ง
โดยรอบเพิงหินมีใบเสมาปักอยู่ 5 ใบที่มีขนาดแตกต่างกัน
วัดพ่อตา .. เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดจากหินสองก้อนวางทับซ้อนกัน โดยหินก้อนบนนั้นมีขนาดใหญ่กว่าหินก้อนล่างมากจึงทำให้ดูคล้ายชะง่อนหิน
ด้านล่างเป็นห้องโถงขนาดใหญ่มีร่องรอยภาพเขียนสีและมีชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายที่ไม่สมบูรณ์วางอยู่เป็นจำนวนมาก
นิทานอุสา-บารส เล่าถึงสถานที่แห่งนี้ว่า เป็นวัดที่ท้าวกงพานได้สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับ
.. ลานหินหน้าวัดพ่อตา ที่ปักเสมาซ้อน 2 ขั้น ในผังสี่เหลี่ยมล้อบลานหินโล่ง
โบสถ์วัดพ่อตา .. เป็นเพิงหินที่มีการปรับให้เป็นอาคารขนาดเล็ก โดยมีการก่อกำแพงด้วยหินเพื่อล้อมจากกำแพงด้านขวามาจนถึงกึ่งกลาง ภายในเพิงหินพบโบราณวัตถุจำนวนมาก รวมถึงพระพุทธรูปปูนจำนวน 3 องค์
วัดลูกเขย .. เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ โดยเพิงหินมีลักษณะยื่นออกไปทางทิศเหนือ และมีการนะเอาหินที่มีการสกัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขัดเรียบมาวางเรียงซ้อนกันเป็นผนังห้อง
ผนังด้านในสกัดเป็นแท่นบูชาสำหรับตั้งพระพุทธรูป บนแท่นมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ 6 องค์
ภายใน “วัดลูกเขย” พบภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเลือนลางมากแล้ว เป็นภาพลายปราสาท 1 หลัง ตรงกลางมีภาพพระพุทธเจ้าในปางประทานอภัยอยู่ในกรอบของอาคารแบบปราสาท ด้านข้างปรากฏใบหน้าเทวดา 5 องค์ โดยพระพักตร์มีการเขียนเส้นรอบพระเนตร 2 ชั้น มีเส้นรอบรอบพระโอษฐ์ พระมัสสุเป็นเส้นคลื่น ลักษณะเหล่านี้คล้ายประติมากรรมเศียรพระโทธิสัตว์ศรีอริยเมตโตรย บ้านโตนด อ.โมนสูง จ.มครราชสีมาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 -14 และเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดลพบรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16
ทั้งนี้ในแหล่งโบราณคดีบริเวณใกล้เคียงไม่ปรากฎหลักฐานที่มีอายุเก่ากว่าพุทธศควรรษที่ 16 จึงสันนิษฐานว่าภาพจิตรกรรมวัดลูกเขยมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 18 โดยสืบทอดรูปแบบลักษณะที่ปรากฏในช่วงเวลาก่อนหน้า
พบหลักฐานการเข้ามาใช้พื้นที่ของผู้คนในวัฒนธรรมล้านช้างในหลายบริเวณ ได้แก่ ที่วัดลูกเขยมีการเจาะช่องหน้าต่างให้มีลักษณะเป็นช่องแสงขนาดเล็ก เป็นที่นิยมในศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น ถึงตอนกลาง
พบใบเสมาล้อมรอบวัดลูกเขย 3 ใบ
เพิงหินนกกระทา .. ได้รับการตั้งชื่อจากรูปร่างลักษณะของโขดหินนั่นเอง เป็นเพิงหินสูงที่ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ซ้อนทับอยู่บนแกนรูปวงรี ชาวบ้านในแถบนี้มองว่ามันมีลักษณะคล้ายกับนกกระทา
บริเวณโดยรอบของเพิงหินมีการสกัดพื้นให้เป็นหลุมสำหรับปักใบเสมา ปัจจุบันปักใบเสมา 5 ใบล้อมรอบตามทิศ ..
บริเวณด้านหน้าเพิงมีร่องรอยของการสกัดเป็นหลุมล้อมรอบบ่อตามธรรมชาติ ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นอาคารเพื่อใช้คลุมบ่อน้ำ ซึ่งคงเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม
บ่อน้ำนางอุษา .. จากเพิงหินนกกระทา เดินต่อมาอีกราว ๆ 100 เมตร ก็จะเจอกับบ่อหินขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นแท่นหิน หรือพื้นลานยหินที่ยกตัวสูงขึ้น ฐานคล้ายรูปทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 5.50 เมตร
“บ่อน้ำนางอุสา” นิทานอุสา-บารส เล่าถึงสถานที่แห่งนี้ว่า เป็นบ่อน้ำที่นางอุสาใช้อาบน้ำ และเป็นที่ที่นางอุสาและท้าวบารสได้พบมากัน
บนลานหินเราจะพบเห็นการปรับแต่งพื้นที่ ทั้งเจาะ ขุดบนลานหินด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่นสำหรับปักใบเสมาหิน รวมถึงการจุดเจาะทำเป็นบ่อน้ำแห่งนี้ด้วย
ภาพเขียนสีคล้ายรอยพระพุทธบาท .. อยู่ใต้เพิงหินใกล้ๆกับ บ่อน้ำนางอุษา เป็นภาพเขียนสีเต็มเพดานเพิงหิน มีลักษณะพิเศษ จึงน่าจะเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง
Photo : Internet
ฉางข้าวนายพราน .. เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่มีโพรงเข้าไปด้านใน ที่มีลักษณะเหมาะที่จะเข้าไปใช้พื้นที่ภายในเพื่อการพักแรม หรือพักผ่อนชั่วคราว
เพิงหินแห่งนี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มีลักษณะคล้ายกับถูกตกแต่งโดยฝีมือมนุษย์ ในสมัยก่อนชาวบ้านเคยใช้เป็นที่ดักยิงสัตว์ และเล่ากันว่าเคยมีคนพบข้าวเปลือกในเพิงหินแห่งนี้ จึงยเรียกชื่อว่า ฉางข้าวนายพราน
บันทึก
3
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย