Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
28 ม.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทวงแชมป์ส่งออกกุ้ง! หลังไทยเคยครองแชมป์ส่งออกกุ้งโลกปี 2555
พาณิชย์ เผยไทยเคยส่งออกกุ้งของโลกอันดับ 1 ปี 2555 สร้างอาชีพคนไทยกว่า 2 ล้านคน แนะผู้ประกอบการกลับมาทวงแชมป์คืน เน้นจัดการการผลิตให้ยั่งยืน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จัดทำรายงานการศึกษาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาศักยภาพการค้าสินค้ากุ้ง” โดยเห็นว่าอุตสาหกรรมกุ้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้และอาชีพให้คนไทยกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งจึงมีความสำคัญในการขยายโอกาสและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค.
จากการศึกษาฯ พบว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2544-2555) การส่งออกกุ้งของไทยเคยครองแชมป์ “อันดับหนึ่ง” การส่งออกกุ้งของโลก โดยในปี 2555 ไทยส่งออกกุ้งเป็นมูลค่า 3,124.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 16.5 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของโลก แต่จากการระบาดของโรคตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome : EMS) ในปี 2556-2558 ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของไทยลดลงกว่าร้อยละ 50 ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศผู้ผลิตกุ้งรายสำคัญ เช่น เอกวาดอร์ อินเดีย และเวียดนาม
ทวงแชมป์ส่งออกกุ้ง! หลังไทยเคยครองแชมป์ส่งออกกุ้งโลกปี 2555
ปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับที่ 6 ของโลก
รองจากประเทศเอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ด้วยมูลค่า 1,315.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.6 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดของโลก
ด้านการผลิต
ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (2556-2566) ผลผลิตของไทยค่อนข้างคงที่ ประมาณ 0.27 ล้านตัน สะท้อนว่าการผลิตกุ้งของไทยเผชิญอุปสรรคที่กระทบต่อการผลิต อาทิ ข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงกุ้ง การระบาดของโรคกุ้ง ขาดการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ การจัดการที่ไม่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ประเทศผู้ผลิตสำคัญที่มีผลผลิตเติบโตมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก
ได้แก่ เอกวาดอร์ จีน และอินเดีย โดยในช่วง 5 ปี (2562-2566) มีอัตราผลผลิตเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 15.3 13.0 และ 3.8 ตามลำดับ โดยทั้ง 3 ประเทศครองตำแหน่งผู้นำในตลาดกุ้งโลก ด้วยผลผลิตและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้จากการศึกษาลักษณะโครงสร้างการนำเข้ากุ้งของโลกในปี 2566 พบว่าประเทศผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ มีสัดส่วนการนำเข้ากุ้งจากไทยค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะ สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป โดยอินเดียมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ (ประเทศผู้นำเข้ากุ้งสูงสุดของโลก) ร้อยละ 36.41 รองลงมาคือเอกวาดอร์ (ร้อยละ 21.72) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 17.71) เวียดนาม (ร้อยละ 9.98) ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 5.24 เท่านั้น
ตลาดนำเข้าสำคัญอื่น ๆ
เช่น จีน และเกาหลีใต้ แม้จะนำเข้ากุ้งจากไทยในอันดับต้น ๆ แต่ไทยก็มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย เช่น ตลาดจีน ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 5.29 รองจากเอกวาดอร์ และอินเดีย (ร้อยละ 58.95 และ 13.17 ตามลำดับ) ตลาดเกาหลีใต้ ไทยมีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 9.19 ขณะที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50.67 มีเพียงญี่ปุ่นที่เป็นตลาดศักยภาพและไทยยังสามารถแข่งขันได้ดี โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองในญี่ปุ่น อยู่ที่ร้อยละ 16.60 รองจากเวียดนาม (ร้อยละ 25.31)
พาณิชย์ แนะเน้นจัดการการผลิตให้ยั่งยืน
ผอ.สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาฯ ได้ชี้ช่องทางการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันสินค้ากุ้งไทยในตลาดโลก ผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นกลยุทธ์ที่หลากหลายและเชิงลึก อาทิ
รักษาตลาดเดิม
อาทิ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้ากุ้งไทยอย่างต่อเนื่อง และขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดที่มีความต้องการกุ้งที่มีกำลังซื้อสม่ำเสมอ เช่น จีน ยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยปรับกลยุทธ์การตลาดและสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิดกับประเทศดังกล่าว
พัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่า
มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้ง รวมทั้งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้ากุ้งให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (สินค้า GI) เนื่องจากมีรสชาติเฉพาะ ซึ่งจะช่วยสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ กุ้งแปรรูปและกุ้งปรุงแต่ง เพื่อดึงดูดความสนใจจากตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น
ปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐาน
พัฒนาและยกระดับมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งปัจจุบันเน้นมาตรฐานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดหลัก เช่น ปรับปรุงคุณภาพของกุ้งสดและแช่เย็น ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความยั่งยืน
สำรวจและเข้าถึงตลาดใหม่
ปัจจุบันตลาดสำคัญสำหรับสินค้ากุ้งของไทย คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ไทยควรสำรวจตลาดใหม่ ๆ และขยายตลาดให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการรับประทานกุ้งอยู่แล้ว แต่ยังสามารถขยายตลาดได้เพิ่มเติม เช่น จีน ตะวันออกกลาง หรือเอเชีย เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด และลดการพึ่งพาตลาดเดิม
การจัดการต้นทุนและความยั่งยืน
ควรจัดการต้นทุนการผลิตและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการค้าสินค้ากุ้งไทยจำเป็นจะต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก โดยรายงานการศึกษาฯ มีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาศักยภาพการค้าสินค้ากุ้งตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังนี้
ด้านการผลิต
ควรมุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การจัดการผลผลิต การควบคุมโรคระบาด การจัดหาวัตถุดิบ การลดต้นทุนการผลิต ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น พลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการผลิตอย่างยั่งยืน
ด้านการตลาด
ควรส่งเสริมความร่วมมือกับค้าปลีกและค้าส่งในการรับซื้อสินค้า พร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยมีช่องทางจำหน่ายสินค้ามากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์กุ้งไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขยายตลาดไปยังตลาดส่งออกใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักเดิม พร้อมทั้งเจรจาข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน
ด้านการบริหารจัดการ
ควรปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานแรงงานและความยั่งยืน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดโลกและสนับสนุนการส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ
ปี 2567 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งรวมทั้งสิ้น 1,240.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.79 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตลาดหลักที่ไทยส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/241441
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealth
ส่งออก
อาหาร
เศรษฐกิจไทย
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย