28 ม.ค. เวลา 09:21 • ธุรกิจ

EP 22: OEE Overall Equipment Effectiveness

OEE หรือ "Overall Equipment Effectiveness" เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินประสิทธิผลของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม จุดมุ่งหมายของ OEE คือการช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของการใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด โดยคำนึงถึงความจริงของหน้างานที่เกิดขึ้นมากกว่าตามแผนงานที่กำหนดไว้ OEE แบ่งการวัดออกเป็นสามส่วนหลักได้แก่
1. ความพร้อมใช้งาน (Availability): ค่านี้แสดงถึงเวลาที่เครื่องจักรและอุปกรณ์พร้อมใช้งาน เทียบกับเวลาทั้งหมดที่เครื่องจักรควรใช้งานได้ หากมีปัญหาเชิงเทคนิคหรือการบำรุงรักษาที่ต้องหยุดการทำงาน จะถูกนับว่าเป็นความสูญเสียในส่วนนี้ ค่าที่ได้เราจะใช้เป็นอัตราส่วนหรือทศนิยม ค่าสูงสุดคือ 100% หรือ 1.0
2. ประสิทธิภาพ (Performance): ค่านี้แสดงถึงความสามารถในการผลิตเทียบกับความสามารถสูงสุดที่อุปกรณ์ควรจะทำได้ สมมติว่าการผลิตเครื่องจักรในหนึ่งชั่วโมงสามารถผลิตชิ้นงานได้ 100 ชิ้น แต่ในความเป็นจริงผลิตได้เพียง 90 ชิ้น ค่านี้จะแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียจากประสิทธิภาพที่ลดลง ค่าที่ได้เราจะใช้เป็นอัตราส่วนหรือทศนิยม ค่าสูงสุดคือ 100% หรือ 1.0
3. คุณภาพ (Quality): ค่านี้บ่งบอกถึงคุณภาพของสินค้าที่ผลิตได้ โดยเปรียบเทียบจำนวนสินค้าที่ได้มาตรฐานกับจำนวนสินค้าที่ผลิตทั้งหมด หากมีสินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ก็จะถูกนับว่าเป็นความสูญเสียในส่วนนี้ ค่าที่ได้เราจะใช้เป็นอัตราส่วนหรือทศนิยม ค่าสูงสุดคือ 100% หรือ 1.0
การคำนวณ OEE สามารถทำได้โดยนำค่าสามส่วนมาคูณกันดังนี้:
OEE= Availability × Performance × Quality
ค่าสูงสุดของ OEE คือ 100% หรือ 1.0 ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำได้ โดยทั่วไปแล้วค่าที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบควบคุมคุณภาพ และประสิทธิภาพของโรงงานว่าควรจะต้องได้ OEE เท่าไร การปรับปรุง OEE มุ่งเน้นไปที่การลดการสูญเสียทั้งสามส่วนนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เช่น การลดเวลาการซ่อมบำรุง การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น
โฆษณา