30 ม.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป กฎเหล็ก 10 ข้อ ของ Dan Zanger เทรดเดอร์ที่เกือบหมดตัว สู่กำไร 164,000% ใน 18 เดือน

ความสำเร็จในการลงทุนไม่ใช่แค่ทำกำไรได้ แต่คือการรักษากำไรนั้นไว้ได้นานแค่ไหนด้วย
2
เพราะเส้นทางการลงทุนมักเต็มไปด้วยเรื่องราวของความพยายาม การเจ็บปวดจากความผิดพลาด และการได้เรียนรู้เพื่อเริ่มต้นใหม่อย่างนับครั้งไม่ถ้วน
ซึ่งเรื่องราวของคุณ Dan Zanger คือตัวอย่างที่ชัดเจนของความจริงข้อนี้ เพราะเขาเป็นหนึ่งในเทรดเดอร์ที่เคยทำกำไรได้มากในช่วงแรก แต่กลับพลาดท่าเสียเงินไปจนเกือบหมดตัว
แต่จากความล้มเหลวครั้งนั้น กลับกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ได้อย่างแข็งแกร่ง
จนสามารถเปลี่ยนเงินจาก 10,775 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กลายเป็น 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาเพียง 18 เดือนเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนรวมถึง 164,000%
แล้วอะไรคือกฎเหล็กที่ทำให้คุณ Dan Zanger กลับมาประสบความสำเร็จได้อย่างน่าทึ่งแบบนี้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คุณ Dan Zanger เริ่มต้นลงทุนอย่างจริงจังในปี 1991 ด้วยเงินทุน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงตลาดขาขึ้น และสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว จนมูลค่าพอร์ตเพิ่มเป็น 440,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ตอนนั้นเขาคิดว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี แต่เมื่อตลาดปรับฐานอย่างรุนแรง มูลค่าพอร์ตของเขาหายไปครึ่งหนึ่ง
ไม่ต่างกันกับนักลงทุนมือใหม่ทั่วไป คุณ Zanger ก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะเอากำไรคืน แต่กลับยิ่งขาดทุนเรื่อย ๆ จนหมดตัว แถมยังต้องติดหนี้โบรกเกอร์อีก 225 ดอลลาร์สหรัฐ
สุดท้ายเขาตัดสินใจขายรถได้เงินมา 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ และนำเงินที่เหลือกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ความล้มเหลวครั้งนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้เขาทบทวนปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด รวมถึงวิธีการเทรด จนสามารถเปลี่ยนเงินจำนวน 10,775 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กลายเป็น 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาเพียง 18 เดือน
1
ความสำเร็จของเขาได้รับการยอมรับในระดับโลก จากนิตยสาร Fortune Magazine ที่ได้นำเสนอเรื่องราวของเขา และนิตยสาร Trader Monthly ยังโหวตให้เขาเป็น 1 ใน 100 สุดยอดเทรดเดอร์แห่งปีถึง 2 ปีซ้อน
จากประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว คุณ Dan Zanger ได้ตกผลึกออกมาเป็น 10 กฎเหล็ก ดังนี้
1. เลือกหุ้นที่มีฐานราคาหรือรูปแบบกราฟแข็งแรง
คุณ Zanger ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมราคาหุ้นมาก โดยรูปแบบที่เขาสนใจ คือ
Bull Flag เป็นรูปแบบที่คล้ายธงในช่วงขาขึ้น เป็นจังหวะที่ราคาพักตัวชั่วคราวเพื่อสะสมพลังก่อนที่จะปรับตัวขึ้นต่อ
Cup and Handle เป็นรูปแบบที่คล้ายถ้วยมีหู โดยราคาจะลงมาแล้วค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นคล้ายถ้วย จากนั้นพักตัวสั้น ๆ เหมือนหูถ้วยก่อนจะปรับตัวขึ้นต่อ
นอกจากนี้แล้วในช่วงการจบรอบขาลง เขามักมองหาหุ้นที่เกิดรูปแบบ Inverted Head and Shoulders ซึ่งเป็นรูปแบบราคาที่หุ้นมีจุดต่ำสุดตรงกลางเป็นหัว และมีไหล่สองข้างเป็นจุดต่ำของราคาหุ้นที่ยกสูงขึ้น
1
2. ซื้อเมื่อราคาทะลุแนวต้าน พร้อมปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น
จังหวะที่ราคาหุ้น Breakout หรือทะลุแนวต้าน และมีปริมาณการซื้อขายที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 20 วัน อย่างน้อย 50% คือสิ่งที่คุณ Zanger มองหา
หากราคาทะลุแนวต้านด้วยปริมาณการซื้อขายที่น้อย เขาจะไม่สนใจเลย
1
นอกจากนี้เขาจะไม่ไล่ซื้อหุ้นหากราคาสูงเกิน 5% จากจุดที่ Breakout เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการซื้อหุ้นในราคาที่แพงเกินไป
1
3. ตั้งจุดตัดขาดทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง
ในการเทรดแต่ละครั้ง คุณ Zanger จะจำกัดความเสี่ยงหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 1-3% ของเงินลงทุนทั้งหมด
โดยเขาจะขายหุ้นทันที หากราคาหลุดต่ำกว่าจุด Breakout และเมื่อหุ้นเริ่มวิ่งขึ้นจนมีกำไร เขาจะเลื่อนจุดตัดขาดทุนขึ้นมาที่ราคาทุน เพื่อป้องกันไม่ให้กำไรกลายเป็นขาดทุน
นอกจากนี้ หากหุ้นหลาย ๆ ตัวที่ Breakout ไปแล้ว ราคากลับตกลงมาติดต่อกัน ก็มองว่าเป็นสัญญาณบอกว่าการเทรดแบบโมเมนตัมช่วงนั้นใช้ไม่ได้ผล เขาจะถอยออกมาจนกว่าจะเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนอีกครั้ง
4. ขายหุ้นบางส่วนเมื่อราคาขึ้น 15-20%
เมื่อราคาเพิ่มขึ้น 15-20% จากจุดที่เข้าซื้อ เขาจะขายหุ้นออก 20-30% เพื่อเก็บกำไรบางส่วน ส่วนที่เหลือจะปล่อยให้ราคาวิ่งต่อไปจนกว่าจะเห็นสัญญาณขาย
โดยสัญญาณขายที่เขาชอบใช้คือ เมื่อราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 21 วัน หรือเมื่อราคาหลุดเส้น Trendline ที่มีความชันมาก
โดยเส้น Trendline คือ เส้นแนวโน้มที่ลากจากจุดต่ำสุดของราคาเชื่อมต่อกันขึ้นไป ใช้เพื่อดูทิศทางการเคลื่อนไหวของราคา
5. ถือหุ้นที่แข็งแกร่งให้นานที่สุด และขายหุ้นที่อ่อนแอทันที
หุ้นแข็งแกร่งสำหรับคุณ Zanger คือหุ้นที่ราคาไม่หลุดจากแนวโน้ม ซึ่งหุ้นแบบนี้เขาจะถือไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ราคายังแสดงความแข็งแกร่ง
ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่อ่อนแอ หรือก็คือหุ้นที่หลุดจากแนวโน้ม ที่ทำให้เขาขาดทุน เขาจะถือไว้แค่ ไม่เกิน 1 ถึง 2 วัน แล้วจะพิจารณาขายทันที
ที่น่าสนใจมากคือ เขาจะไม่ตั้งคำสั่งตัดขาดทุนอัตโนมัติ เหมือนกับนักลงทุนทั่วไป แต่ใช้การติดตามอย่างใกล้ชิดแทน
เพราะมองว่าจุดตัดขาดทุนที่ชัดเจนที่คนส่วนใหญ่เห็นเหมือนกัน มักจะทำให้เกิดสัญญาณหลอกให้ขาย จากการที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นพร้อม ๆ กัน ก่อนที่ราคาจะกลับตัวขึ้นอีกครั้ง จากการโดนช้อนซื้อ
หรือก็คือเหตุการณ์คลาสสิก อย่างการ “คัตแล้วเด้งใส่หน้า”
6. เลือกหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง
กลุ่มอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง คือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของกำไรและรายได้ที่โดดเด่น ซึ่งเขาจะให้ความสนใจกับหุ้นผู้นำในกลุ่มนั้น
โดยศึกษากราฟหุ้นรายตัวอย่างละเอียด และจัดทำรายชื่อหุ้นที่น่าสนใจไว้สำหรับติดตามพฤติกรรมราคา
เพราะเขาเชื่อว่า หากหุ้นที่มีพื้นฐานดีสามารถ Breakout ได้สำเร็จ มักจะวิ่งขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
7. ระวังจังหวะตลาดพักฐาน
ภาพรวมของตลาดเปรียบเสมือน เข็มทิศนำทาง ที่ช่วยกำหนดกลยุทธ์การเทรดของคุณ Zanger
หากตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน เขาจะเริ่มระมัดระวังมากขึ้น ด้วยการติดตามพฤติกรรมราคาหุ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อระวังสัญญาณการกลับตัวที่อาจเกิดขึ้น
ในทางกลับกัน หากตลาดเข้าสู่แนวโน้มขาลง เขาจะหลีกเลี่ยงการเทรดและลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เพื่อถอยออกมารอดูก่อน
เมื่อเห็นว่าตลาดพักฐานเสร็จและเริ่มแสดงสัญญาณฟื้นตัว เขาจึงจะมองหาหุ้นผู้นำตลาดที่แสดงความแข็งแกร่ง เพื่อกลับเข้ามาเทรดอีกครั้ง
8. สังเกตพฤติกรรมปริมาณการซื้อขายของหุ้น
พฤติกรรมราคาหุ้นและปริมาณการซื้อขายมาก ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนแรงซื้อขายในตลาด และเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ช่วยส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มของหุ้น
โดยคุณ Zanger เชื่อว่าพฤติกรรมราคาที่สะท้อนออกมาในรูปแบบกราฟต่าง ๆ จะน่าเชื่อถือมากขึ้น หากมีปริมาณการซื้อขายที่สอดคล้องกัน
9. อย่าซื้อหุ้นเพียงเพราะมีสัญญาณซื้อ
การเข้าซื้อหุ้นทันทีเพียงเพราะมีสัญญาณซื้อ อาจจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีนัก เพราะในหลายครั้งราคาหุ้นก็ไม่วิ่งไปต่อ หลังจากมีสัญญาณซื้อ หรือที่เรียกว่า False Signal
คุณ Zanger จึงพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น พฤติกรรมราคา ปริมาณการซื้อขาย และแนวโน้มตลาดโดยรวม
เพื่อให้มั่นใจว่าการเคลื่อนไหวของหุ้นมีความแข็งแกร่ง และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่เร่งรีบเกินไป
10. หลีกเลี่ยงการใช้มาร์จิน หากยังไม่เชี่ยวชาญ
อย่างที่เราได้เห็นจากประสบการณ์ของคุณ Zanger แล้วว่า การซื้อหุ้นด้วยการกู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์โดยใช้บัญชีมาร์จิน นอกจากจะทำให้เขาหมดตัวแล้ว ยังต้องติดหนี้โบรกเกอร์ จนต้องขายสินทรัพย์ของตัวเองมาใช้หนี้ด้วย
1
เขาจึงเตือนเสมอว่า การใช้มาร์จินนั้น แม้ว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้ เมื่อหุ้นเคลื่อนไหวในทิศทางที่เราคาดการณ์
แต่จะกลายเป็นดาบสองคม ที่หันมาทิ่มแทงตัวเราเองได้ หากยังไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ
เพราะหากหุ้นเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้าม ความเสียหายอาจรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดได้เลย
จากเรื่องราวของคุณ Zanger นี้เอง สะท้อนให้เห็นว่าหัวใจของความสำเร็จอยู่ที่การเรียนรู้จากความผิดพลาดและการมีหลักการที่ชัดเจน
เพราะในตลาดหุ้น เราต้องเผชิญกับการตัดสินใจมากมาย ซึ่งทุกการตัดสินใจล้วนทิ้งบทเรียนไว้ ให้เราได้เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
ซึ่งถ้าหากเราไม่อยาก เรียนรู้จากบทเรียนที่ราคาแพงที่สุด นั่นก็คือ ความผิดพลาดของตัวเอง
การเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น เพื่อไม่ให้เราเดินตามสิ่งที่ทำให้คนอื่นเจ็บมาก่อนแล้ว ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่ามากกว่า..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#DanZanger
References
-หนังสือ โมเมนตัม มาสเตอร์ (2560) โดย Mark Minervini, David Ryan, Dan Zanger และ Mark Ritchie II
โฆษณา