Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
28 ม.ค. เวลา 12:19 • ท่องเที่ยว
ภูพระบาท แหล่งมรดกของไทย 03 : แหล่งวัฒนธรรมสีมา
วัฒนธรรมสีมา
วัฒนธรรมใบเสมา .. เป็นลักษณะโดดเด่นหนึ่งของอารยะธรรมแบบทวารวดี ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12–16 (ราว พ.ศ.1101 - 1600) ที่มีจุดเริ่มต้นจากการไปมาค้าขายทางเรือและก่อเกิดเริ่มต้นในแผ่นดินสุวรรณภูมิในเมืองท่าติดทะเล ก่อนจะขยายขึ้นไปสู่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน
พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ .. ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ในสมัยทวารวดี .. วัฒนธรรมพุทธศาสนาแบบทวารวดีได้เข้ามาถึงภูพระบาท ซึ่งอาจจะผ่านมาทาง ศรีเทพ
จากนั้น .. ถูกนำมาผสมสานกับความเชื่อในท้องถิ่น พัฒนารูปจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนจนเกิดความนิยมในท้องถิ่น และแพร่กระจายสู่พื้นที่ต่างๆ หรืออาจมาจากการเผยแพร่ของพระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางตามเส้นทางคมนาคมเดิมของชาวบ้าน เช่น การปักใบเสมา ซึ่งไม่พบในวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง
วัฒนธรรมใบเสมาแพร่กระจายในเขตลุ่มน้ำโขง-อีสาน เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะบริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบกที่เดินทางตัดจากจีนเข้าสู่เวียดนามแล้วผ่านภาคอีสาน จากนั้นผ่านลงไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้วข้ามไปยังทะเลอันดามันนั่นเอง
เสมา เป็นเครื่องกำหนดพื้นที่ที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา แสดงถึงพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ ..
ซึ่งขนาดเล็กสุดต้องไม่น้อยกว่าพระสงฆ์ 21 รูปสำหรับนั่งทำพิธีได้ ซึ่งในพระวินัยปิฎกกำหนดให้เสมาเป็น ‘นิมิต’ (สัญลักษณ์) มี 8 อย่าง ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำนิ่ง
ใบเสมาจึงตรงกับนิมิตประเภทศิลา .. แต่จะเห็นได้ว่าในพระวินัยปิฎกก็ไม่ได้ระบุว่าต้องทำเป็นรูปร่างหน้าตาแบบใด ในเขตพื้นที่อีสานและเขตลุ่มน้ำโขงมักนิยมทำเป็นรูปใบเสมารูปจะทรงคล้ายใบไม้แหลม ซึ่งธรรมเนียมการทำใบเสมาแบบนี้ไม่พบในอินเดียและลังกา ดังนั้นจึงเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น
ใบเสมาที่พบในเขตลุ่มน้ำชี มูล และโขง (พบมากที่สุดในลุ่มน้ำชี) พบว่าแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ แบบใบแหลม แบบแท่ง (มีทั้งทรงกระบอกกลมและทรงเหลี่ยม) และแบบหินธรรมชาติ
แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน
แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน .. ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 - 16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก
ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
วัดพระพุทธบาทบัวบานสร้างเมื่อ พ.ศ. 2454 มีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนคือรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ และมีการขุดค้นพบใบเสมา (สีมา) ที่ทำด้วยหินทรายเป็นจำนวนมากใบเสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปบุคคล และลวดลายต่าง ๆ เป็นศิลปะทวารวดีผสมกับศิลปะลพบุรี
แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน (บวชพระปู่) กลุ่มที่ 1
มีเพิงหินขนาดใหญ่อยู่ริมหน้าผาเป็นศูนย์กลาง ..
ที่เพิงหินนี้มีภาพเขียนสีแดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3000 ปี อยู่ทางทิศตะวันออกของเพิงหิน เป็นลายเรขาคณิตแนวตั้งและแนวนอนลักษณะรูปสามเหลี่ยม แต่ไม่สามารถแปลความหมายได้ชัดเจน
ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของเพิง พบหลักหินที่มีการตกแต่งเป็นทรงลูกบาศก์ก์ และเป็นรูปใบเสมาขนาดต่างๆกันจำนวน 12 ใบ
.. บางใบสลักเป็นสันนูนอยู่กลางใบ ปักเรียงกันเป็นกลุ่มไม่มีทิศทางหรือขอบเขตที่ชัดเจน คล้ายกับจะเรียงล้อมรอบเพิ่งหิน
แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน (บวชพระปู่) กลุ่มที่ 2
ใบเสมาในกลุ่มนี้ ปักเพื่อแสดขอบเขตของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามทิศทั้ง 8 ปักทิศละ 3 ใบ รวมกลุ่มละ 24 ใบ
.. โดยใบเสมามีรูปทรงแบบแผ่นแบน มีลักษณะด้านบนเป็นทรงโค้งกลับบัว ส่วนเอวคอดและบานออกเล็กน้อย ส่วนฐานเป็นเดือยหินของใบเสมา ใช้สำหรับปักลงบนพื้นดิน
ใบเสมาทุกใบมีการสลักลวดลายและประติมากรรมเล่าเรื่องในพุทธศาสนา ได้แก่ ประติมากรรมรูปบุคคล (สันนิษฐานว่าเป็นพระอินทร์) ชาดก และพุทธประวัติ มี 2 ใบที่มีการสลักทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
.. โดยภาพสลักเล่าเรื่องจะอยู่จะปรากฏอยู่บนใบเสมาแถวในสุดของพื้นที่ ส่วนใบเสมาชั้นกลางและชั้นนอกของพื้นที่สลักแนวสันแกนนูนเอาไว้ตรงกลางแผ่นศิลา
รูปแบบของศิลปกรรมของงานประติมากรรม ทั้งหมดแสดงถึงอิทธิพลศอลปะเชมรสมัยเกาะแกร์ (ราวครึ่งศตวรรษที่ 15)
อนึ่ง .. แถวแรก สดงถึงพื้นที่พัทธสีมา แถวสอลแสดงถึงพื้นที่พัทธสีมาและสีมีนตริก และแถวที่สาม แสดงถึงพื้นที่มหาสีมา
แหล่งวัฒนธรรมสีมา โบราณสถานดอนหินศิลา
แหล่งวัฒนธรรมสีมา โบราณสถานดอนหินศิลา .. ตั้งอยู่ที่บ้านแดง หมู่ ๘ ตำบลจำปาโมง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นอีกหนึ่งแหล่งวัฒนธรรมสีมาบนที่ราบใกล้เชิงเขาภูพาน
การสำรวจทางโบราณคดีในพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้หลายครั้ง ทำให้พบเสมาหินหลายใบอยู่กันเป็นกลุ่ม และมีบางใบแตกหักชำรุดแตกหักจากการไถพรวน .. ตรงกลางพื้นที่เป็นเนินดินขนาดเล็กสูงกว่าพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้พื้นที่ตั้งแห่งนี้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ในเวลาต่อมา .. มีการดำเนินการค้นคว้าข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดี พร้อมทั้งดำเนินการขุดแต่งและขุดค้น เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้คติการปักใบสีมาของโบราณสถานดอนหินศิลากับแหล่งวัฒนธรรมสีมาที่อยู่ใกล้เคียงกับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ปรากฏการปักใบสีมามากที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
การตรวจสอบและวิเคราะห์ตำแหน่งใบสีมาภายหลังการขุดแต่ง .. พบว่ามีการปักใบสีมาตามระบบแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ และทิศตะวันออก-ตะวันตก รวมถึงปักในแนวทแยงตามมุม โดยตรงกลางมีการพูนดินให้สูงกว่าระดับการปักใบสีมาและบดอัดแน่นขนาด ๓.๕ x ๔ เมตร ซึ่งเนินดินแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของกลุ่มใบสีมา ที่มีไว้ประกอบพิธีกรรมทั้งแสดงขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถาน
โบราณสถานดอนหินศิลา .. พบร่องรอยหลักฐานใบสีมาหินทรายที่ยังคงปักอยู่ในตำแหน่งเดิมภายในพื้นที่จำนวน ๒๔ ใบ ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใบสีมามีการจัดวางในทิศหลัก ๘ ตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งจัดวางใบสีมา ๓ ใบ จากสภาพเดิมที่มีการแตกหักของใบสีมาออกเป็นหลายส่วน บางตำแหน่งมีการจัดวางไม่เป็นระเบียบและมีการทรุดเอียง
โครงการอนุรักษ์และพัฒนาให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น โดยดำเนินการปรับตำแหน่งและจัดวางใบสีมาที่ทรุดเอียงให้อยู่ในตำแหน่งเดิม รวมถึงประกอบชิ้นส่วนของใบสีมาที่แตกให้เข้าด้วยกัน อีกทั้งปรับแต่งดินส่วนฐานล่างของใบสีมาบดอัดให้แน่น เพื่อเป็นการเสริมสภาพของแหล่งให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด อันจะสื่อถึงคติหรือหน้าที่ของใบสีมาเช่นเดียวกันกับแหล่งวัฒนธรรมสีมาบนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมาบวชพระปู่ วัดพระพุทธบาทบัวบาน ที่อยู่ใกล้เคียงกัน
จากการศึกษาเปรียบเทียบภาพสลักบนใบสีมาโบราณสถานดอนหินศิลา กับวัฒนธรรมสีมาบวชพระปู่ วัดพระพุทธบาทบัวบาน โดยทั้งสองแหล่งมีลวดลายประติมากรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยมีรูปแบบด้านศิลปกรรมที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะเขมรโบราณ สมัยเกาะแกร์ (ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕)
ใบเสมาในกลุ่มนี้ ปักเพื่อแสดขอบเขตของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามทิศทั้ง 8 ปักทิศละ 3 ใบ รวมกลุ่มละ 24 ใบ .. โดยใบเสมามีรูปทรงแบบแผ่นแบน มีลักษณะด้านบนเป็นทรงโค้งกลับบัว ส่วนเอวคอดและบานออกเล็กน้อย ส่วนฐานเป็นเดือยหินของใบเสมา ใช้สำหรับปักลงบนพื้นดิน
ใบเสมาทุกใบมีการสลักลวดลายและประติมากรรมเล่าเรื่องในพุทธศาสนา ได้แก่ ประติมากรรมรูปบุคคล ชาดก.. โดยภาพสลักเล่าเรื่องจะอยู่จะปรากฏอยู่บนใบเสมาแถวในสุดของพื้นที่ ส่วนใบเสมาชั้นกลางและชั้นนอกของพื้นที่สลักแนวสันแกนนูนเอาไว้ตรงกลางแผ่นศิลา
รูปแบบของศิลปกรรมของงานประติมากรรม ทั้งหมดแสดงถึงอิทธิพลศอลปะเชมรสมัยเกาะแกร์ (ราวครึ่งศตวรรษที่ 15)
อนึ่ง .. แถวแรก สดงถึงพื้นที่พัทธสีมา แถวสอลแสดงถึงพื้นที่พัทธสีมาและสีมีนตริก และแถวที่สาม แสดงถึงพื้นที่มหาสีมา
บันทึก
6
1
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย