6 ก.พ. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

ทำไมเจ้าของ Zara และ H&M ร่วมลงทุนพันล้าน คิดค้น ฝ้ายสังเคราะห์ที่ปลูกในห้องแล็บ

ปัจจุบัน บริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่ง กำลังพัฒนา “วัตถุดิบสังเคราะห์” เพื่อทดแทนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัด ซึ่งหลายคนอาจเคยผ่านตาบางผลิตภัณฑ์กันมาบ้าง เช่น
- Lab-Grown Diamond หรือ เพชรสังเคราะห์ที่ทำขึ้นในห้องแล็บ
- Lab-Grown Salmon หรือ ปลาแซลมอนที่ถูกผลิตขึ้นในห้องแล็บ
- Cultured Meat หรือ เนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บ
แต่วัตถุดิบสังเคราะห์ที่เราจะพูดถึงในวันนี้ นั่นก็คือ Lab-Grown Cotton หรือ ฝ้ายสังเคราะห์จากห้องแล็บ
ที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้เป็นผลงานของ Galy สตาร์ตอัปด้านสภาพภูมิอากาศ ในสหรัฐฯ ที่มี 2 บริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง H&M และ Inditex (เจ้าของแบรนด์ Zara) ร่วมระดมทุนรอบซีรีส์ B มูลค่า 1,100 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนางานวิจัยเพิ่มเติม
แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เห็นศักยภาพอะไรในฝ้ายสังเคราะห์ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เริ่มแรกต้องขอสรุปกระบวนการทำฝ้ายสังเคราะห์จากแล็บให้เข้าใจแบบง่าย ๆ โดยจุดเริ่มต้นของการวิจัยนี้ มาจากแนวคิดเช่นเดียวกันกับการเพาะเนื้อสัตว์ในห้องแล็บ
คือ การนำเซลล์จากต้นฝ้ายมาใส่ในถังขนาดใหญ่แล้วป้อนน้ำตาลลงไปให้ เมื่อเซลล์เติบโตมากพอ จะเข้าสู่กระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมพืช โดยการคัดเลือกและกระตุ้นยีนบางตัว เพื่อเปลี่ยนเซลล์ให้มีลักษณะเป็นเส้นใยฝ้ายสังเคราะห์
ซึ่งเส้นใยฝ้ายสังเคราะห์นี้สามารถเก็บเกี่ยว ตากแห้ง และนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าได้เช่นเดียวกับฝ้ายธรรมชาติ
อีกทั้ง Galy ยังต่อยอดนวัตกรรมนี้ด้วยการผลิตเสื้อยืดภายใต้ชื่อ Literally Cotton เพื่อแสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม
แม้ดูเหมือนว่า ผลการวิจัยจะประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม แต่ความเป็นจริงแล้ว บริษัท Galy สามารถผลิตฝ้ายที่ปลูกในถังได้เพียงไม่กี่กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการผลิตสำหรับภาคธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บริษัท Galy ยังต้องการเม็ดเงินจำนวนมาก เพื่อเข้ามาซัปพอร์ตการพัฒนาการผลิตฝ้ายสังเคราะห์ ให้ฝ้ายสังเคราะห์มีปริมาณ และคุณภาพเพียงพอต่อการผลิตนั่นเอง
1
มาที่คำถามที่ว่า ทำไม H&M และ Inditex ถึงยอมทุ่มเงินหลักพันล้านไปกับการผลิตฝ้ายสังเคราะห์ ?
ประเด็นแรกคือ ฝ้ายเป็นสิ่งทอหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น
คุณ Martin Ekenbark หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Circular Innovation ของ H&M พบว่า ลูกค้าชอบสัมผัสของผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายมากกว่าใยสังเคราะห์อื่น
เนื่องจาก ฝ้ายมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นและระบายอากาศได้ดี มีสัมผัสนุ่มนวล ให้ความสบายเมื่อสวมใส่
แต่ในช่วงต้นปี 2021 H&M ต้องตัดสินใจหยุดใช้ผ้าฝ้ายจากเขตซินเจียง ประเทศจีน หลังมีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้บริษัทเผชิญกับการคว่ำบาตรจากจีน
1
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ H&M รวมถึงบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้แน่ใจว่าผ้าฝ้ายที่นำมาใช้ในการผลิตนั้นปราศจากความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
ตรงนี้เราจะเห็นว่า ฝ้ายสังเคราะห์จากแล็บ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกของบริษัทใหญ่ในอนาคต
ประเด็นถัดมาคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แม้ทางทฤษฎีแล้ว ฝ้ายสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม กระบวนการปลูกฝ้าย กลับมีต้นทุนในการใช้ทรัพยากรอื่น จำนวนมหาศาล
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ การปลูกฝ้ายธรรมชาติต้องใช้น้ำมากกว่า 50 เท่า เมื่อเทียบกับการซักผ้าฝ้ายตลอดอายุการใช้งาน
อีกทั้งยังใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 2.3% ของโลก และคิดเป็น 16% ของยอดขายยาฆ่าแมลงทั้งหมด
2
นอกจากนี้ กระบวนการของ Galy จะสามารถลดการใช้น้ำลง 99% ลดการใช้ที่ดินลง 97% และลดผลกระทบเชิงลบจากปุ๋ยลง 91% เมื่อเทียบกับการปลูกฝ้ายแบบดั้งเดิม
ซึ่งตรงนี้ Inditex เล็งเห็นว่า การได้ร่วมลงทุนกับ Galy เป็นเป้าหมายของบริษัท เพื่อค้นหาวัสดุใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ประเด็นสุดท้าย คือ โอกาสความสำเร็จของฝ้ายสังเคราะห์
1
เนื่องจากฝ้ายสังเคราะห์มีหลักการผลิตเช่นเดียวกับเนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บ
Galy จึงได้นำเสนอแนวคิดเปรียบเทียบไว้ว่า
ในแง่ต้นทุน การปลูกฝ้ายสังเคราะห์ต้องการเพียงน้ำตาลในการขยายพันธุ์เท่านั้น แต่สำหรับการทำเนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บต้องใช้สารเร่งการเจริญเติบโตที่ซับซ้อนกว่า
อีกทั้งเนื้อสัตว์จากการเพาะในห้องแล็บเป็นอาหารของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่สูง ในขณะที่ฝ้ายไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม การผลิตฝ้ายสังเคราะห์ยังคงมีความท้าทายอยู่มาก แม้ Galy จะได้รับเงินทุนมหาศาล และมีนักลงทุนที่สนใจจำนวนมาก
แต่ Galy ต้องเผชิญกับความละเอียดอ่อนด้านชีววิทยา และการแข่งขันด้านราคา ของบริษัทที่มีความต้องการจะขายฝ้ายสังเคราะห์ ในราคาที่สูงกว่าฝ้ายธรรมชาติ
อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจสรุปได้ว่า ฝ้ายสังเคราะห์มีข้อดีที่สามารถทดแทนฝ้ายธรรมชาติได้ ในด้านคุณสมบัติที่เหมือนกัน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดลง
ซึ่งหากการพัฒนาฝ้ายสังเคราะห์ประสบความสำเร็จ บริษัทสินค้าแฟชั่นอย่าง H&M และ Inditex อาจเป็นผู้นำในการเลือกใช้ฝ้ายสังเคราะห์มาใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าให้ผู้คนได้สวมใส่ในอนาคต
แต่ราคาเสื้อจะเป็นเท่าไร ? และจะสามารถทดแทนการใช้ฝ้ายตามธรรมชาติได้หรือไม่ ? คงเป็นเรื่องที่ในอนาคตเราต้องติดตามกันต่อไป
โฆษณา