29 ม.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

IMF-WBG Annual Meetings 2024 (AM2024)

การประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารโลก (World Bank Group: WBG) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า IMF-WBG Annual Meetings (AM) เวียนกลับมาอีกครั้ง โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2567 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้แทนของกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Voting Group: SEAVG) ในการประชุมหลักต่าง ๆ ของ IMF ร่วมกับผู้แทนจากประเทศและกลุ่ม​ออกเสียง​อื่น ๆ อีก 23 ท่าน
นอกจากนี้ การประชุมประจำปีนี้ยังถือเป็นโอกาสดีครบรอบ 80 ปีนับจากการประชุม Bretton Woods Conference ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งองค์กรการเงินระดับโลกทั้ง IMF และธนาคารโลกอีกด้วย
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับที่แล้วได้พาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ AM2023 และเล่าถึงเกร็ดการเตรียมตัวนับถอยหลังสู่การเป็นเจ้าภาพ AM2026 กันมาแล้ว บทความนี้จะมาเล่าถึงบรรยากาศงาน AM2024 ที่ตัวแทนของ ธปท. ได้เข้าร่วมประชุม รวมถึงการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ AM2026 ให้ทุกท่านได้ฟังกัน
จับตาเศรษฐกิจโลกผ่านมุมมอง IMF
เริ่มกันที่สรุปประเด็นสำคัญด้านมุมมองเศรษฐกิจโลกในช่วงการประชุมสภาผู้ว่าการฯ ประจำปี 2567 หรือ AM2024 IMF ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าใกล้ soft landing โดยเงินเฟ้อทั่วโลกได้ปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ที่ 3.2% ในปี 2567 และ 2568
อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้าก็ยังมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ไม่สูงมากนัก ขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง (low-growth, high-debt path) ทั้งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
โดยหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะไปกดดันการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงจำกัดขีดความสามารถของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายเชิงโครงสร้างต่าง ๆ เช่น การลดภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อเสนอแนะนโยบายภาครัฐสำหรับประเทศสมาชิก
จากภาพแนวโน้มเศรษฐกิจโลกข้างต้น IMF จึงเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับ
(1) นโยบายการเงินที่พาเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสนับสนุนการเติบโตและการจ้างงานในประเทศ
(2) นโยบายการคลัง ปรับเข้าสู่โหมดการเพิ่มศักยภาพการคลัง (fiscal consolidation) เพื่อรักษาความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ (public debt sustainability) และสร้างกันชนสำหรับความท้าทายในอนาคต
(3) การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพของเศรษฐกิจ ทั้งด้านธรรมาภิบาล การเพิ่มทักษะแรงงาน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และความพร้อมด้านดิจิทัล
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้า : ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ IMF มองว่า ความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจการเงินโลกมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายภาษีนำเข้าและมาตรการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม (industrial policy) ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการค้ามากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันให้การค้าโลกไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (growth engine) ให้กับเศรษฐกิจโลกเหมือนที่ผ่านมา
โดย IMF พบว่า จำนวนมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยในปี 2566 เพียงปีเดียวมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 มาตรการ ซึ่งสวนทางกับปริมาณการค้าโลกที่เติบโตได้น้อยที่สุดในรอบหลายสิบปี
นอกจากนี้ การแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่หลายประเทศมุ่งเพิ่มการค้าขายและลงทุนกับพันธมิตรของตน ยังส่งผลให้เกิดการปรับตัวของห่วงโซ่การผลิตโลก (reconfiguration of global value chain) ซึ่งอาจสร้างความผันผวนต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและการลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย
เหลียวหลัง-แลหน้า องค์กรการเงินระหว่างประเทศและความสัมพันธ์พหุภาคี (multilateralism)
นอกจากความน่าสนใจของเนื้อหาการประชุมที่เข้มข้นแล้ว การประชุม AM2024 นี้ยังประจวบเหมาะกับการครบรอบ 80 ปีของ Bretton Woods Conference ซึ่งเป็นจุดกำเนิดขององค์กรการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญอย่าง IMF และธนาคารโลกในปี 2487 โดยหากย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น จะพบว่าเศรษฐกิจโลกในตอนนั้นกำลังรับมือกับความเสี่ยงที่สำคัญคือสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการเผชิญหน้าและแบ่งขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์กันอย่างรุนแรง
แต่ท่ามกลางความโกลาหลเหล่านั้น กลับมีความร่วมมือระหว่างประเทศอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบการเงินโลก ที่ช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน และการเติบโตให้กับเศรษฐกิจโลก รวมถึงกระบวนการโลกาภิวัตน์ในหลายทศวรรษถัดมา
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงสำคัญจากสงครามการค้าและการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจในประเทศเศรษฐกิจหลักที่หลายฝ่ายเกรงว่า อาจส่งผลต่อทิศทางนโยบายการค้าระหว่างประเทศและแนวโน้มการค้าโลก
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันหลายมิติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Artificial Intelligence (AI) ดังนั้น IMF และธนาคารโลกจึงใช้โอกาสครบรอบ 8 ทศวรรษนี้ในการเริ่มทบทวนบทบาทและพันธกิจขององค์กร โดยมองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมพร้อมรองรับความต้องการของประเทศสมาชิกในระยะต่อไป
มุมมองของไทย
ในการประชุม International Monetary and Financial Committee (IMFC) ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะตัวแทนกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมประเมินภาพและความเสี่ยงเศรษฐกิจการเงินโลก รวมถึงเสนอแนะทิศทางการดำเนินงานของ IMF โดยได้เรียกร้องให้ IMF วิเคราะห์ผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ให้รอบด้าน เพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายมองเห็นภาพครบถ้วนและหลีกเลี่ยงนโยบายหรือมาตรการการค้าที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงินดิจิทัล ทั้งในแง่ความปลอดภัยและความครอบคลุมของบริการทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับประโยชน์หรือโอกาสจากระบบอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีพัฒนาการก้าวกระโดดและเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความยืดหยุ่นในการใช้กรอบการดำเนินนโยบายแบบผสมผสาน (Integrated Policy Framework: IPF) ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ สามารถรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และท้ายที่สุด ได้เรียกร้องให้ IMF ปฏิรูปโครงสร้างสิทธิ์เสียงของสมาชิก ผ่านการทบทวนโควตาให้สอดคล้องกับบทบาทของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม AM2026
ในช่วงสัปดาห์การประชุม AM2024 นอกเหนือจากการหารือที่มีความเข้มข้นแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งของกระทรวงการคลังและ ธปท. ซึ่งถือเป็นคณะผู้แทนจากประเทศไทย คือ การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกประจำปี 2569 หรือ 2026 IMF-WBG Annual Meetings (AM2026) ที่บริเวณอาคารสำนักงานใหญ่ของทั้ง IMF และธนาคารโลก ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ครั้งที่ 2 ถัดจากการประชุม Spring Meeting ที่จัดไปเมื่อเดือนเมษายน 2567
1
นอกจากจะมีการแจกของที่ระลึกรูปช้างที่แสดงความเป็นไทย ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมากแล้ว ยังได้รับความสนใจจากการสาธิตทำขนมไทย การให้ความรู้ด้านอาหาร วัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย เสียงสะท้อนจากผู้เข้าชมต่างบอกว่าประทับใจในการต้อนรับที่อบอุ่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย และตั้งตารอคอยจะมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2569
1-SEAVG ประกอบด้วยสมาชิก 13 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และฟิจิ เนปาล ตองกา
2-อ่านบทความเรื่อง เตรียมพร้อมนับถอยหลังสู่การเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก IMF-WBG Annual Meetings 2026 ได้ที่ ...
โฆษณา